กกท. จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา โดยมี ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย, ผู้แทนสถาบันอนุญาโตตุลาการ, ผู้แทนสมาคมกีฬาฯ , ผู้บริหาร กกท. และบุคลากรในวงการกีฬา เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานตามกฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่ในการระงับข้อพิพาททางการกีฬา ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีข้อพิพาททางการกีฬาเกิดขึ้น องค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคือ ศาลกีฬาโลก หรือ Court of Arbitration for Sport เรียกย่อๆว่า CAS มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางการกีฬาได้มีการจัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาขึ้น เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาททางการกีฬาโดยเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษ, ประเทศแคนนาดา เป็นต้น

ประเทศไทย ได้กำหนดเป็นนโยบายการจัดตั้งระบบอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การยกระดับบริหารจัดการด้านกีฬาให้ มีประสิทธิภาพ โดยจัดตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น เพื่อพิจารณาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกีฬา และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กกท. พ.ศ. 2560-2564 กำหนดนโยบายด้านกฎหมายเพื่อยกระดับกฎหมายของ กกท. โดยเฉพาะศึกษาการระงับข้อพิพาททางการกีฬาโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬาขึ้นในประเทศไทย

“องค์กรสหพันธ์กีฬาอาชีพได้ให้การยอมรับในการระงับข้อพิพาทผ่านกระบวนการของศาลกีฬาโลก ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการพัฒนากีฬาในประเทศไทย กระบวนการในการระงับข้อพิพาททางกีฬามีอยู่ 2 ประการคือ เรื่องของการให้ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมของนักกีฬา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน หรือสโมสรต่างๆ และประการที่สองคือ เรื่องของการพัฒนากีฬา การมีมาตรฐานทางการกีฬาที่ดี มีความโปร่งใส ความชัดเจนจึงถือเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการกีฬาด้วย ซึ่งส่งผลโดยรวมให้กับประเทศและมีผลโดยตรง ทั้งการแข่งขันในระดับกีฬาเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ โดยศาลอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. ๑๙๘๔) เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทางการกีฬา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคดีนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆโดยอ้างอิงจากการลงทะเบียนที่ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการบันทึกข้อพิพาทมากกว่า ๕,๐๐๐ เรื่อง และในปัจจุบันศาลอนุญาโตตุลาการกีฬามีอนุญาโตตุลาการจาก ๘๗ ประเทศ จำนวนเกือบ ๓๐๐ คน การก่อตั้งศาลอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการระงับข้อพิพาททางการกีฬา ซึ่งแพร่หลายในต่างประเทศ โดยจะมีสองระดับ คือการไกล่เกลี่ย และระดับอนุญาโตตุลาการ จะทำให้ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล อีกทั้งทำให้ข้อพิพาทแต่ละคดีระงับลงด้วยความพึงพอใจของคู่กรณี ซึ่งอนุญาโตก็ควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาด้วย เพราะเนื่องจากข้อพิพาททางการกีฬามักจะเกี่ยวข้องกับกฎกติกาของกีฬาต่างๆ การสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นการจุดประกาย เป็น การเริ่มต้นสร้างการรับรู้ร่วมกันถึงประโยชน์จากการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการทางการกีฬา มีหลายฝ่ายมาร่วม ศึกษาแนวทาง ช่วยกำหนดทิศทาง และปูรากฐานของอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาของประเทศไทย เป็น จุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวไปด้วยกัน”

จากนั้น เป็นการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายถิรชัย วุฒิธรรม, นายศักดา รัตนสุบรรณ, รองศาสตราจารย์ ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสถียรภาพ นาหลวง, นายอาทิตย์ ปิ่นปัก และนายปราชญา อ่อนนาค.