“กกท.” เปิดตัว “โลโก้ใหม่” มุ่งสู่ความทันสมัย สำหรับใช้ทางธุรกิจและสิทธิประโยชน์

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัว “ตราสัญลักษณ์ใหม่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ โดยมี ผู้บริหาร และบุคลากรในวงการกีฬา ตลอดจนนักกีฬาทีมชาติไทยชื่อดัง “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว (วอลเลย์บอลหญิง), “เช็ค” สุภโชค สารชาติ (ฟุตบอลทีมชาติ) “น้ำตาล” วิลาสินี รัตนนัย (ไอซ์ฮอกกี้หญิง), “โอ๊ต” เรืองฤทธิ์ แหเกิด (ฟันดาบ), “เบนซ์” นพรัตน์ หิริพงศธร (อดีตนักกีฬาแบดมินตัน), “โบว์” สุภาวดี กุญชวน (บาสเก็ตบอลทีมชาติ) ร่วมงาน ณ ลานกิจกรรมเซ็นทรัลคอร์ท (โถงลิฟต์แก้ว) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า กกท. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวงการกีฬาไทยให้ทันสมัยและเปี่ยมประสิทธิภาพในทุกมิติ ภายใต้นโยบายการนำ “กีฬา” พัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมกันนี้ เรายังได้เล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงตราสัญลักษณ์ประจำองค์กร ให้มีความทันสมัย และมีแนวคิดที่สร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจและสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการโปรโมท แบรนด์ กกท. ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้จัดการประกวดออกแบบโลโก้ ชิงเงินรางวัล 50,000 บาท โดยเชิญชวนคนรุ่นใหม่หรือผู้ใหญ่ที่มีความคิดก้าวหน้า ร่วมออกแบบโลโก้ ที่สื่อถึงตัวตนของ กกท. ในยุคปัจจุบัน และเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนกับวงการกีฬา ก่อนที่จะได้ผลงานชนะเลิศผ่านการโหวตจากทั้งหมด 352 ชิ้น และนำไปผ่านกระบวนการพัฒนารูปแบบจนได้เป็นโลโก้ใหม่อย่างเป็นทางการ ที่จะนำมาใช้จริงในการสนับสนุนกิจกรรมกีฬาต่างๆ ทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ต่อไป

สำหรับ “ตราสัญลักษณ์ใหม่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย” ออกแบบโดย นายเกียรติศักดิ์ ช่วยสกุล อายุ 39 ปี ในชื่อผลงาน SAT POWER มีความหมายและแนวคิด ประกอบด้วย “สัญลักษณ์ 3 ห่วง” สีแดง หมายถึงพลัง สีน้ำเงิน หมายถึง ความมั่นคงสง่างาม สปิริต สีเหลืองทอง หมายถึง การบรรลุเป้าหมายและชัยชนะในการแข่งขัน, “ช้างชูงวง” หมายถึง ความแข็งแกร่งและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย, “อักษร S (Sports)” เป็นรูปนักกีฬา หมายถึง การสนับสนุนในการขับเคลื่อนและพัฒนาในวงการกีฬาทุกมิติ, “ตราสัญลักษณ์มีลักษณะการตวัดประสาน” หมายถึง พลังแห่งความสามัคคี ความมุ่งมั่นพัฒนาสู่ความสำเร็จ ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดไปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โลโก้ใหม่ จะถูกนำไปเผยแพร่และใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมกีฬาต่างๆ ซึ่งจะปรากฏเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพการแข่งขัน อาทิ การแข่งขันโมโต จีพี งานวิ่งมาราธอน มหกรรมกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาคนพิการแห่งชาติ และทัวร์นาเมนท์กีฬาอื่นๆ ที่ กกท. ให้การสนับสนุนครบทุกมิติ ตลอดจนบรรจุลงบนสินค้าและของที่ระลึกของ กกท. โดยประชาชนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดตราสัญลักษณ์เพิ่มเติมได้ที่ facebook : SAT Thailand Sports Nation

จากนั้น เป็นการแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ของ ผู้ว่าการ กกท. โดย ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า กกท. มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศสู่ระดับนานาชาติ ต่อยอดสู่ระดับอาชีพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ใน 2 หัวข้อหลัก ได้แก่

1. การดำเนินงานตามยุทศาสตร์ กกท. ประกอบด้วย 1.1 การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ อาทิ การเตรียมนักกีฬาเข้าแข่งขันมหกรรมต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ เช่น ซีเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, ยูธโอลิมปิกเกมส์, กีฬาแห่งชาติ “เจียงฮายเกมส์”, กีฬาคนพิการแห่งชาติ “น้ำกกเกมส์”, กีฬาเยาวชนแห่งชาติ “บุรีรัมย์เกมส์”, กีฬาอาวุโสแห่งชาติ “รมย์บุรีเกมส์” เป็นต้น 1.2 การบริหารจัดการกีฬาเพื่อการอาชีพ มีการจัดการแข่งขันทั้งหมด 13 ชนิดกีฬา 42 รายการ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกีฬาชีพได้มากถึง 20,000 ล้านบาท , 1.3 การบริหารจัดการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ยกระดับมาตรฐานศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนทั้งหมด 25 ศูนย์ และกำลังก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 12 ศูนย์ รวมทั้งหมด 37 ศูนย์ รวมถึงยกระดับศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาสู่ “สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย” 1.4 การบริหารจัดการองค์กรและการบริการทางการกีฬา ซึ่ง กกท. มีการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุวิสัยทัศน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) มาปรับใช้กับการบริหารจัดการองค์กร ให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม CSR ในปี 2562 ทั้งหมด 13 กิจกรรม รวมถึง จัดตั้งศูนย์สำหรับการออกกำลังกายทั้งหมด 28 ศูนย์ ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 16.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10 % (จากจำนวน 15.4 ล้านคนในปี 2561) 1.5 การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬา ซึ่ง กกท. มีเป้าหมายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมกีฬาไม่น้อยกว่า 25,700 ล้านบาท อาทิ การจัดการแข่งขัน โมโต จีพี ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งในปี 2561 ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมกีฬา 3,053.64 ล้านบาท และปี 2562 มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมกีฬา 3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 14.6% และ

2. การดำเนินการโครงการพิเศษเพื่อยกระดับการพัฒนากีฬาของชาติ ประกอบด้วย การยกระดับการให้บริการของ กกท. (SMART NATIONAL SPORTS PARK) เพื่อจัดทำโครงการระดมทุนด้านกีฬาในเชิงพาณิชย์และสังคม, การยกระดับการบริการทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาของ กกท. (SPORTS MEDICAL SERVICES), การพัฒนาข้อมูลดิจิทัลด้านการกีฬา (SPORTS DIGITAL PLATFORM) เช่น จัดทำแผนปฏิบัติการ Sports Big Data พัฒนาระบบฐานข้อมูลนักกีฬา พัฒนาระบบฐานข้อมูลบุคลากรกีฬา พัฒนาระบบ Sports Calendar พัฒนาระบบ Sports event, จัดกิจกรรม SPORTS ENTERTAINMENT ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และกีฬาเยาวชนแห่งชาติ, โครงการการจัดตั้งเมืองกีฬา (SPORTS CITY) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดตั้งเมืองกีฬา 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี เชียงราย อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา และภูเก็ต ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จัดตั้งเมืองกีฬาได้สำเร็จ 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ อุดรธานี ศรีสะเกษ และกระบี่, โครงการสนับสนุน ส่งเสริมกีฬาเอกลักษณ์ไทย – ส่งเสริมกิจกรรมกีฬา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ยกระดับหน่วยงานด้านกฎหมายของ กกท. (SPORTS LAW) และสลากส่งเสริมคนรักกีฬา เพื่อการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากีฬาของชาติ นอกเหนือระเบียบการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ