“ก้องศักด” ยืนยัน รพ.กีฬาสำคัญมากอยากให้เป็นจริงเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาโดยตรง

         ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยถึงโครงการโรงพยาบาลกีฬา (Sports Hospital) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แผนงานของตนว่า ตามที่ คณะกรรมการ กกท. (บอร์ด กกท.) ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลกีฬา (Sports Hospital) โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ธีรวัฒน์ กุลทนันท์, รองศาสตราจารย์ วิชัย วนดุรงค์วรรณ, นาวาอากาศเอก (พิเศษ) ไพศาล จันทรพิทักษ์, นายอรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์, ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กันยิกา ชำนิประศาสน์ เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการจัดตั้งโรงพยาบาล กีฬาเพื่อให้บริการแก่นักกีฬา, ศึกษารูปแบบและแนวทางการบริการทางการแพทย์ในลักษณะ Sport Hospital, ศึกษาข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งโรงพยาบาลกีฬา, ศึกษารูปแบบแนวทางการจัดหางบประมาณและรูปแบบการบริหารจัดการโรงพยาบาลกีฬา หากพบปัญหาอุปสรรคการจัดตั้งโรงพยาบาลกีฬาอาจจะลดระดับของ โรงพยาบาลกีฬามาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เพื่อนักกีฬา สำหรับรองรับการให้บริการและรักษานักกีฬาต่อไป นั้น

         “ในระหว่างที่มีการศึกษารูปแบบการจัดตั้งโรงพยาบาลกีฬาเพื่อให้บริการแก่นักกีฬาอยู่นี้ หากนักกีฬาทีมชาติทั้งในอดีตและปัจจุบันมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา สามารถเช็คสิทธิการรักษาพยาบาลและเข้ารับการรักษาได้ก่อนที่ คลินิกวิทยาศาสตร์การกีฬา กกท. โดยนักกีฬาทีมชาติ ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นนักกีฬา, นักกีฬาคนพิการของสมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ กกท. ให้การรับรองและอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ หรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซึ่งสหพันธ์หรือสมาพันธ์กีฬาระหว่างประเทศให้การรับรอง เช่น กีฬาซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์, เอเชี่ยนบีชเกมส์, เอเชี่ยนยูธเกมส์ ฯลฯ”

       ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การรักษาพยาบาลนักกีฬาทีมชาติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฬา ถือเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการต้องมีโรงพยาบาลกีฬาเพื่อให้บริการแก่นักกีฬา และจากนี้ไปกกท. จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของนักกีฬาและอดีตนักกีฬาให้มากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับนักกีฬาทั้งหลายในการเข้าใช้บริการจากคลินิกวิทยาศาสตร์การกีฬา กกท. ไปก่อน นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลนักกีฬาแล้ว กกท. ยังให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือนักกีฬาทีมชาติทั้งอดีตและปัจจุบัน ผ่านกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบกระทรวงการคลัง รวมถึงการดูแลค่ายังชีพรายเดือนกรณีพิการหรือทุพพลภาพ และการให้ทุนการศึกษาในนักกีฬา อีกด้วย.