กกท. โอลิมปิกไทย ลงนามความร่วมมือกีฬาไทย-กาตาร์

กกท. และ โอลิมปิกไทย ร่วมกับ โอลิมปิกกาตาร์ และศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Aspire Academy for Sport Excellence) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านกีฬา อันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมกีฬาร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้ง กีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ พัฒนากีฬาเยาวชน วิทยาศาสตร์การกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยี การพัฒนาสนามกีฬา สิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา

ตามที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.), คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ, คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งรัฐกาตาร์ และ ศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Aspire Academy for Sport Excellence) มีความประสงค์ร่วมกัน ที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านกีฬา อันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมกีฬาร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ระหว่างประเทศไทยและรัฐกาตาร์ ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. นายธนา ไชยประสิทธิ์ เหรัญญิกคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย อาหมัด ลาห์ดาน อัล โมฮันนาดี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุน คณะกรรมการโอลิมปิกกาตาร์ และ อับดุลลาห์ อัล นูไอมี ผู้อำนวยการทั่วไปของศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Aspire Academy for Sport Excellence) ร่วมกันลงนาม มี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เป็นสักขีพยาน ร่วมด้วย นายณัฐพล ขันธหิรัญ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโดฮา และ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ร่วมงาน ที่คาทารา บีช กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านกีฬาของทั้ง 2 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาร่วมกันของ 2 ฝ่ายในด้านการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์การกีฬา อันก่อให้เกิดผลสำเร็จมีประสิทธิผล และเกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมในด้านทรัพยากรทางการกีฬา โดยความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 2 ฝ่ายในขอบเขตด้านกีฬา ขอบเขตความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยน ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ดังนี้ 1. กีฬาโอลิมปิกเกมส์ และกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ, 2. โครงการพัฒนากีฬาเยาวชน, 3. วิทยาศาสตร์การกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา และเทคโนโลยี, 4. การพัฒนาสนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก, 5. การพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา, 3. การแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

ทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามสร้างและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงเวชศาสตร์การกีฬา และทำงานร่วมกับสมาชิกของตนเองในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนจะรวมถึง 1. การแลกเปลี่ยนนักวิจัย และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาระยะสั้น เช่น 1 หรือ 2 สัปดาห์, 2. การเข้าร่วมสัมมนา , คลินิก และการประชุมสำหรับนักวิจัย และบุคลากรกีฬาอื่นๆ, 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคนิค , สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา, 4. การแลกเปลี่ยนข้อมูล , การศึกษาวิจัย และโครงการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์การกีฬา, 5. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการก่อสร้างสนามกีฬา และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬา

ขณะที่การอำนวยความสะดวก ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบแผนงานด้านการแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อยกระดับสมรรถนะของบุคลากรทางการกีฬา โดยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น

ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่าย ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแผนงานด้านการแลกเปลี่ยนร่วมกัน เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ การเดินทางภายในประเทศ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบงบประมาณและค่าใช้จ่ายของฝ่ายตัวเอง ทั้งนี้หากมีการดำเนินงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติม ฯลฯ ทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดทำข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเห็นชอบระยะเวลาที่เนินการจัดโครงการ รวมถึงจำนวนผู้เข้าร่วมของแต่ละฝ่ายอย่างน้อย 3 เดือนล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินการตามโครงการการแลกเปลี่ยนดังกล่าว