การแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิค เอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน ครั้งแรกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิค เอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน ครั้งที่ 1 และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตร โดยมี นายไซม่อน โก๊ะ ประธานกรรมการบริหาร สเปเชียลโอลิมปิคสากลภาคพื้นเอเชียแปชิฟิค, ดร.นริศ ชัยสูตร นายกสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมในพิธี ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิค เอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน (1st Special Olympics Asia Pacific Unified Badminton Championship 2019) เป็นครั้งแรกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2562 ณ อินดอร์สเตเตี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคฯ ได้ร่วมกับ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, การกีฬาแห่งประเทศไทย, บริษัท บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ จำกัด และบริษัท แพลนบีมีเดีย จำกัด (มหาชน) ร่วมสร้างต้นแบบการจัดรายการแข่งขันระดับสากล ซึ่งมีนักกีฬาที่พิการทางสติปัญญาและนักกีฬาทั่วไป ร่วมทีมแข่งขันด้วยกันเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางกีฬา และสร้างความเสมอภาคทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการจัดคอนเสิร์ตรอบพิเศษ โดย BNK 48 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้อีกด้วย

นายไซม่อน โก๊ะ กล่าวว่า สเปเชียลโอลิมปิคเป็นสหพันธ์กีฬาสากล ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้พิการทางสติปัญญา โดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือ ซึ่งการจัดการแข่งขันรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสเปเชียลโอลิมปิคสากล และสหพันธ์แบดมินตันโลก ในการเพิ่มโอกาสการแข่งขันกีฬาให้กับนักกีฬากลุ่มเป้าหมาย และการร่วมเล่นกีฬากับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความพิการ ทั้งนี้ได้เลือกประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพแรกของการจัดการแข่งขันรายการนี้ เนื่องจาก สเปเชียลโอลิมปิคไทย มีผลงานโดดเด่นในการดำเนินงานทางกีฬา รวมถึงการขยายผลโครงการต่างๆได้อย่างดี ตลอดช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง จึงมีความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับระบบการจัดการแข่งขันรายการนี้ต่อไปในอนาคต

ดร.ก้องศักด กล่าวเสริมว่า จากแผนงานหลักของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะยกระดับวงการกีฬาไทยให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติทั้งหมดนั้น หนึ่งในแผนงานเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬาให้กับผู้พิการโดยเฉพาะ ด้วยการส่งเสริมอย่างครบวงจร พัฒนาระบบให้บริการศูนย์ฝึกและสนามกีฬา ให้สามารถรองรับนักกีฬาคนพิการได้ เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้คนพิการได้เล่นกีฬาอย่างสะดวก และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในรายการต่างๆได้อย่างสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จทางการกีฬา นอกจากนี้ การสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งนโยบายกีฬาของประเทศไทยนั้น มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของการจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากลในอนาคต ทั้งนี้การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิค เอเชียแปชิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน ครั้งแรกนั้น จึงเป็นวาระที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการ
สนับสนุนงบประมาณและสนามแข่งขันสำหรับการจัดการแข่งขันรายการนี้

ทั้งนี้ สเปเชียลโอลิมปิคเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต ของผู้พิการทางสติปัญญาโดยใช้กีฬาเป็นสื่อ โดยจัดกิจกรรมในประเทศไทยกว่า 40 รายการตลอดทั้งปี และสำหรับการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิค เอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ประกอบด้วยทีมสเปเชียลโอลิมปิคจาก 14 ประเทศได้แก่ เกาหลีใต้, ฮ่องกง, มาเก๊า, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เมียนมาร์, บังคลาเทศ, ศรีลังกา, อินเดีย, ปากีสถาน, มัลดีฟ และไทย โดยมีนักกีฬาพิเศษและคู่ยูนิฟายด์เข้าแข่งขันทั้งหมด 108 คน