‘วิ่งเทรล อินทนนท์’ เน้นมาตรการป้องกันโควิด-19 ในนักกีฬาต่างชาติ พร้อมแข่ง 30 ต.ค. – 1 พ.ย. นี้

นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. ร่วมกับ นายกริชสยาม คงตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมจัดการแข่งขันวิ่งตามภูมิประเทศ (Trail Running) ตามมาตรฐาน UTMB-Ultra trail Mont Blanc รายการ อัลตร้า เทรล ไทยแลนด์ 2020 โดยมี คณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมรับทราบ เรื่องการแข่งขัน อัลตร้า เทรล ไทยแลนด์ 2020 ซึ่งมีกำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563 ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการเปิดรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผู้สนใจสมัครร่วมวิ่งกว่า 1,000 คน เป็นนักวิ่งจากต่างชาติสมัครร่วมวิ่ง กว่า 100 คน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้นักกีฬาต่างชาติหลายคนทะยอยขอถอนตัวออกไป

นายทนุเกียรติ กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้บรรจุเป็นสนามแข่งขันที่ 6 ของรายการเทรลระดับโลกอย่างยูทีเอ็มบีในปีนี้ ก็ได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆเรื่อยมา ซึ่งรายการนี้ได้รับความสนใจจากนักวิ่งไทยที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากไทยเปิดประเทศ ผนวกกับเรามีการทำมาตรการสาธารณสุข ก็อาจจะมีนักวิ่งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการหารือกับ ศบค. อีกครั้งว่ามีความเสี่ยงหรือคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะทำเช่นนั้น

“ในเบื้องต้นเราได้มีการหารือและพูดคุยกันมาตลอด ซึ่งได้อนุมัติในกลุ่มของนักวิ่งอาชีพในต่างแดนสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขของเราอย่างเคร่งครัด ทั้งการทำประกันโควิด การเข้ากักตัว 14 วัน ตามมาตรการรัฐ ซึ่งเราก็เล็งไปที่การใช้โรงเเรมบนเกาะมันนอก จ.ระยอง ที่ได้เดินทางไปสำรวจมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเป็นสถานที่กักตัวนักวิ่งอาชีพจากต่างชาติ ซึ่งก็ถือว่าที่นั่นมีความพร้อมและเหมาะสมเป็นที่กักตัว”

นายทนุเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนักกีฬาต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เรายินดีที่จะให้นักกีฬากลุ่มนี้ลงแข่งขัน ซึ่งก็เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การแข่งขันที่เราเตรียมทั้งเส้นทางสวยๆวิวธรรมชาติ รวมถึงสอดแทรกวัฒนธรรมของชนเผ่าท้องถิ่นลงไปในกิจกรรมนี้ออกไปสู่ญาติพี่น้องของพวกเขา หรือสายตาชาวโลก และเราก็พร้อมจะจัดการแข่งขันขึ้นให้ได้ตามมาตรฐานของยูทีเอ็มบีทุกประการ เพื่อโอกาสผ่านประเมิน ได้รับการบรรจุให้เป็นสนามแข่งขันในปีต่อไป และก็คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินจากการจัดการแข่งขันราว 150-200 ล้านบาท

“นอกจากการจัดวิ่งแล้ว ในปีนี้จะมีการเพิ่มกิจกรรมพิเศษ เป็นกิจกรรมเสริม เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศ โดยเป็นการมุ่งเน้นนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกิจกรรมกีฬา เช่น การแข่งขันกีฬาชาวไทยภูเขา ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน พร้อมด้วยการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR), คอนเสิร์ตและแคมป์ปิ้ง เป็นต้น”

ขณะที่ นายกริชสยาม กล่าวว่า การวิ่งรายการนี้ มีนักกีฬาต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน ต้องชัดเจนในเรื่องมาตรการควบคุมเพื่อป้องกัน โควิด-19 ซึ่งต้องทำตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งคัด นอกจากนี้ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเห็นว่าตัวเองเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งชาวบ้านอาจจะใส่ชุดท้องถิ่นออกมาต้อนรับนักวิ่ง ตามเส้นทางที่ผ่าน อีกด้วย