ความคืบหน้าการ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ 2026

พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมครั้งที่5 พ.ศ. 2569 (ค.ศ.2026) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี พลตรี จารึก อารีราชการัณย์ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรรมการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 24 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ของคณะกรรมการอำนวยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2569 (ค.ศ.2026) จากคณะกรรมการทั้ง 5 ฝ่าย โดยที่ประชุมได้กำหนดร่างจำนวนชนิดกีฬาที่จะทำการจัดการแข่งขันไว้ 37 ชนิดกีฬา ซึ่งอ้างอิงจากชนิดกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันในสามครั้งก่อน และเพิ่มเติมกีฬาที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยคือ มวยไทย และเซปักตะกร้อ โดยสนามที่จะทำการจัดแข่งขันกีฬาจะกระจายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี
ผู้ว่าการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือในหลายประเด็นที่สำคัญ เพื่อวางระบบการทำงานในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพให้พร้อมสำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้รับการยืนยันจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือว่า IOC แล้วว่า ประเทศไทยได้รับการพิจารณาเข้าสู่ขั้นตอนแรกของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ
ที่ประชุมในวันนี้มีมติเกี่ยวกับการมอบหมายงานให้แต่ละฝ่ายไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ฝ่ายจัดการแข่งขันและสนับสนุนการดำเนินการ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายเลขานุการและประชาสัมพันธ์ ฝ่ายงบประมาณและการเงิน และฝ่ายกำกับดูแลและติดตาม นอกจากนี้ยังมิมติให้เพิ่มเติมคณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม การศึกษา และมรดกโอลิมปิก และเพิ่มเติมคณะกรรมการเมืองเจ้าภาพ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นแกนนำในคณะนี้

สำหรับการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ จะต้องให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามประเมินผล พิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยงานเร่งด่วนขณะนี้ คือ การเปิดศูนย์ประสานงานการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว ณ ห้อง LED ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยจะใช้เป็นศูนย์ประสานงานทั้งหมดในการสื่อสารกับ IOC และงานเร่งด่วนส่วนที่สองคือ การพิจารณาตราสัญลักษณ์ (โลโก้) ของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้มีการเสนอรูปแบบทั้งที่แสดงถึงความเป็นไทยและสากลให้ที่ประชุมพิจารณา นอกจากนี้ ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยจะเสนอชนิดกีฬาที่จะทำการแข่งขัน โดยยึดชนิดกีฬาตามประเภทที่เคยจัดในยูธโอลิมปิกเกมส์ครั้งก่อน ๆ โดยเพิ่มเติมคัดเลือกกีฬาที่มีความนิยมมา 1 กลุ่ม ที่สามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนสนใจมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพิ่มกีฬาที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยเข้าไปคือ กีฬามวยไทยและกีฬาเซปักตะกร้อ เพื่อเผยแพร่ในมิติของกีฬาและวัฒนธรรมเข้าไปด้วย ส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ในการเสนอแนวคิดการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาแก่เด็กและเยาวชน เพื่อรณรงค์และสร้างความเข้าใจ เรื่องอันตรายจากการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา และรณรงค์เรื่อง Clean Sport หรือการเล่นกีฬาที่ปราศจากสารต้องห้ามต่าง ๆ และประเด็นที่สำคัญอีกประการ คือ การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะรณรงค์ให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่รักษาสิ่งแวดล้อมและมีการกำจัดขยะต่าง ๆ ให้ถูกต้อง อีกด้วย