ผลการประชุมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ.2021) ครั้งที่ 3/ 2563

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการประชุมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) ครั้งที่ 3/2563 โดยมี พลเรือเอก สุรวุฒิ มหารมย์ ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ, นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. และกรรมการ ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตราสัญลักษณ์กีฬา (Emblem) และตัวนำโชค (Mascot) ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) โดยตราสัญลักษณ์กีฬา ได้แรงบันดาลใจมาจากพวงมาลัย แสดงถึงการต้อนรับ รับขวัญสู่สภาวะปกติแบบไทย และยังมีรูปทรงที่เกิดจากการเรียงร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเอเชีย ใช้สีสันที่สะท้อนวิถีแบบไทย มีคู่สีที่สดใสให้ความรู้สึกสนุกสนาน อารมณ์ดี ประกอบกับลวดลายผิวน้ำที่สะท้อนวิถีแบบไทยที่อยู่กับน้ำจนได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออกและชายทะเลชลบุรีที่มีชื่อเสียง ซึ่งน้ำยังสะท้อนการเชื่อมโยงการอยู่ร่วมกัน รวมเป็นสัญลักษณ์อันสวยงามและประณีตของศิลปวัฒนธรรมไทย สำหรับตัวนำโชค (Mascot) ของการแข่งขันฯ จะเป็น “นกแก้วนักสู้” หรือ Fighting Parrot ซึ่งเป็นนกแก้วไทย สวมมงคล ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นนักสู้ในการเล่นกีฬา เชียร์กีฬา และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

จากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้สำหรับจัดการแข่งขันฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน1,191,292,000 บาท และคาดว่าจะมีรายได้ที่จะได้รับ อีกจำนวน 202,500,000 บาท แบ่งเป็นรายได้จาก TV Right (ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน), รายได้จากผู้สนับสนุนจัดหาโดย Marketing Agent, ค่าลงทะเบียนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ และรายได้จากการจัดการแข่งขัน (จัดเก็บค่าบริการ, จำหน่ายบัตรเข้าชมพิธีเปิด – ปิด)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนงานเร่งด่วนด้านต่างๆของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย แผนการจัดจ้างผลิต Mood & Tone, แผนการจัดทำ Guide Book และ Technical Handbook เพื่อส่งให้ประเทศสมาชิกโดยกำหนดส่ง Guide Book ปลายเดือนกันยายน และ Technical Handbook ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563, แผนการปรับปรุงซ่อมแซมสนามและงบประมาณจัดการแข่งขันของสมาคมกีฬา รวมทั้งเรื่องที่พักนักกีฬา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เน้นย้ำว่าการใช้งบประมาณดำเนินงานจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาไทย ได้มอบหมายให้ กกท. ประสานงานกับสมาคมกีฬาต่างๆ เพื่อเตรียมเก็บตัวนักกีฬา ซึ่งเร็วสุดอาจเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน นี้ เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าไว้ที่อันดับ 3 ไม่ต่ำกว่าอันดับ 5 ของการแข่งขัน หรืออย่างน้อยในอาเซียนไทยจะต้องทวงแชมป์กลับมาให้ได้ และได้ขอความร่วมมือจาก กทม. และจังหวัดชลบุรี ในการเตรียมความพร้อมสนามแข่งขันต่างๆ โดยทุกสิ่งทุกอย่างขอให้อยู่ในกรอบของทางราชการและเงื่อนไขของเวลา รวมทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์การแข่งขัน ขอให้เตรียมแผนงานล่วงหน้า หากแผนงานทุกอย่างได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็จะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันท่วงที

“หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปสำรวจสนามแข่งขันทั้งที่ กทม. และจังหวัดชลบุรี มาแล้ว ในวันนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนสนามแข่งขันบางสนามเพื่อความพร้อมและความเหมาะสมของสนาม ส่วนพิธีเปิดการแข่งขันนั้นจะไปใช้ที่สนามบางกอก อารีน่า ซึ่งมีความจุผู้ชมได้มากถึง 16,000 คน และ กกท. จะเริ่มเก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้ เป็นต้นไป สำหรับสถานการณ์โควิด-19 นั้น เราได้เตรียมแผนสำรองไว้ว่า แผนที่ 1 กรณีที่นักกีฬาไม่ต้องกักตัว 14 วัน ก็จะใช้งบประมาณตามที่เสนอไป แต่ถ้าหากว่าจะต้องมีการกักตัว 14 วันของนักกีฬาทั้งหมด เราได้ประมาณการว่าจะต้องจ่ายค่าที่พักให้กับนักกีฬาประมาณ 6,000 คน ใช้งบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 135 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าเราก็มีความพร้อมในตรงนี้ด้วย แต่ถ้าเกิดผลกระทบอีกในรอบที่ 2 และ 3 และไม่มีจากนักกีฬาต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันกับเราเลย เราก็คงจะต้องขอเลื่อนการจัดการแข่งขันในปีนี้ออกไปก่อนจนกระทั่งจะมีวัคซีนออกมา ตรงนี้คือประเด็นที่สำคัญที่สุด และคิดว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะระบาดไปถึงขนาดไหน แต่ถ้ายังอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นนี้ และประเทศไทยเราสามารถควบคุมได้ก็มั่นใจว่าประเทศไทยจะจัดการแข่งขันได้ในปีหน้าอย่างแน่นอน”