กินอย่างไรให้ปลอดโรค

ร่างกายได้รับพลังงาน (จากอาหาร) เพื่อนำมาใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน ทำงาน ออกกำลังกาย ถ้าได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ ร่างกายจะนำพลังงานส่วนเกินนั้นไปเก็บสะสมในรูปไขมัน เพื่อเป็นพลังงานสำรอง ถ้ามีการสะสมของไขมันมากขึ้นก็จะนำไปสู่โรคอ้วน และนำไปสู่โรคอื่น ๆ นั่นเอง

โดยทั่วไปแนะนำให้กินอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ถ้าจำเป็นอาจมีอาหารว่างช่วงบ่าย 1 มื้อ สำหรับคนที่ทำงานเบา ๆ หรือส่วนใหญ่นั่งทำงาน ผู้ชายควรได้แคลอรีประมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ผู้หญิงควรได้แคลอรีประมาณวันละ 1,600 กิโลแคลอรี ปริมาณที่ว่านี้ รวมทั้งอาหารคาวและหวาน อาหาร 1 มื้อควรได้แคลอรีประมาณ 400-700 กิโลแคลอรี โดยอาหารเย็นเป็นมื้อที่มีแคลอรีต่ำกว่ามื้ออื่นๆ อาหารว่าง ต้องจำกัดให้น้อยกว่า 200 กิโลแคลอรีในแต่ละครั้ง และเมื่อรวมกับ อาหารมื้อหลักทั้งวันแล้วต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด

เทคนิคการเลือกอาหารและกินอาหารที่แนะนำให้ปฏิบัติเป็นประจำ คือ

  • ดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแคลอรี และ ควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนกินข้าว
  • ปริมาณอาหาร ใน 1 จานให้มีข้าว 1/4 จาน โปรตีน 1/4 จาน ผักและผลไม้ 1/2 จาน
  • ไม่กินอาหารคำโตเคี้ยวอาหารช้า ๆ แต่ละคำให้เคี้ยวมากกว่า 20 ครั้ง
  • การปรุงอาหารเน้นอาหาร ต้ม นึ่ง อบ ปิ้ง ย่าง (อย่าให้ไหม้เกรียม) ผัด ควรเลี่ยงการราดน้ำผัด
  • เลี่ยงแกงกะทิหรือถ้าอยากกินให้เลือกตักเฉพาะเนื้อ ไม่ควรซดน้ำ
  • ไม่เลือกอาหารชุบแป้งทอดหรือชุบไข่ทอด
  • พยายามไม่ปรุงอาหารรสจัดเพราะจะได้น้ำตาล เกลือ จากเครื่องปรุงรสมากขึ้น
  • เปลี่ยนกาแฟเย็น ชาเย็น หรือโกโก้เย็น เป็นเครื่องดื่มร้อนเพราะ มีน้ำตาล นม น้อยกว่าเครื่องดื่มเย็น
  • ใช้นมพร่องไขมันและน้ำตาลเทียมแทนครีมเทียม นม และน้ำตาล
  • กินผลไม้ (ปริมาณพอสมควร) แทนน้ำผลไม้หรือเลือกผลไม้เป็นอาหารว่างแทนขนม
  • เลือกขนมปังแทน พัฟ พาย หรือคุกกี้

ที่มา : กรมอนามัย