ญาณพล ลาภอาภารัตน์ : ชายผู้ทำให้คนไทยเห็นว่า “เล่นโบว์ลิ่ง” ก็เป็นอาชีพได้ | MAIN STAND

โบว์ลิ่ง จัดเป็นทั้งกิจกรรมความบันเทิงยามว่างและยังต่อยอดไปถึงการแข่งขันที่จริงจังได้อีกด้วย ที่ผ่านมาทัพนักโบว์ลิ่งทีมชาติไทย สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าถึง 6 เหรียญทองในศึกเอเชียนเกมส์ 

 

จนเกิดเป็นกระแสนิยม ที่ทำให้โบว์ลิ่งถูกยกระดับขึ้นเป็น “กีฬาอาชีพ” 1 ใน 13 ชนิดของเมืองไทย แต่โบว์ลิ่งอาชีพเป็นอย่างไร เงินรางวัลมากน้อยแค่ไหน ต้องทำอย่างไรถึงจะได้เป็น ? 

คำถามทั้งหมดนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่า “โจ้” ญาณพล ลาภอาภารัตน์ นักโบว์ลิ่งมือ 1 ของเมืองไทย เจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เคยเดินทางไปไล่ล่าเงินรางวัลในฐานะ “นักโบว์ลิ่งอาชีพ” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว 

เราเดินทางไปพูดคุยกับ “โจ้” ในวันสบาย ๆ ถึงบ้านพักของเขาที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อที่จะรับฟังถึงเส้นทางของนักกีฬาคนหนึ่งที่ใช้ลูกโบว์ลิ่งนำพาชีวิต ตะลุยข้ามทวีปเพื่อไขว่คว้าความฝันมาไว้ในมือ เรื่องราวของเขาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

โบว์ลิ่งบูม

โบว์ลิ่ง นับเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ เด็กยุคใหม่โดยเฉพาะเด็กในเมืองกรุงอาจจะเคยได้ลองสัมผัสหรือเคยเห็นกันมาบ้างตามหน้าโรงภาพยนตร์ภายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เราจะพบโรงโบว์ลิ่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีหลายแห่งที่ชื่อยังคุ้นหูมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ สตาร์โบว์ล, สยามโบวล์, 35 โบว์ล, บางกอกโบว์ล, คราวน์โบว์ล และอีกมากมายหลายสิบแห่ง

สิ่งที่ทำให้ โบว์ลิ่ง กลายเป็นที่นิยมในยุคนั้น เนื่องมาจากกีฬาชนิดนี้เป็นกิจกรรมที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเดินทางมาร่วมสนุกกันได้ ทั้งแบบฉายเดี่ยวหรือเป็นหมู่คณะ โดยภายในโรงโบว์ลิ่ง ยังมีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และของกินเล่นให้บริการ (บางแห่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย)

ความบันเทิงเหล่านี้จึงทำให้โรงโบว์ลิ่งกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตที่หนุ่มสาวเลือกนัดมาพบปะสังสรรค์กัน ไม่ต่างจากโรงภาพยนตร์ ลานโรลเลอร์สเกต หรือย่านการค้าต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเสมือนคลับเฮาส์ราคาย่อมเยา ที่ผู้คนสามารถเดินทางมาเข้าสังคมและทำกิจกรรมร่วมกันได้

ส่วนในแง่ของการแข่งขันกีฬาก็เคยบูมถึงขั้นถูกบรรจุเข้าชิงชัยในศึกเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 1978 

โดยนักโบว์ลิ่งทีมชาติไทย สามารถคว้ามาได้ถึง 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง คว้าอันดับ 2 จาก 7 ชาติที่เข้าแข่งขัน เป็นรองเพียงฟิลิปปินส์ และนับจากนั้นอีก 9 ครั้งต่อมา ทัพนักกีฬาไทยก็มีเหรียญติดมือแทบทุกครั้ง เบ็ดเสร็จถึงปัจจุบันรวมแล้วได้มาทั้งสิ้น 6 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 6 ของเอเชีย

“สมัยผมเป็นเด็ก โบว์ลิ่งถือว่าบูมมาก ๆ ค่าเกมที่ผมเล่นเกมละ 7 บาทเอง ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ด้วย ต้องใช้คนจดบันทึกคะแนนเอง จะเล่นทีต้องต่อคิวเป็นชั่วโมง จนมาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ก็ยิ่งต้องต่อคิวนานขึ้นไปอีก ถึงเป็นนักกีฬาทีมชาติก็ไม่มีสิทธิพิเศษ ต้องต่อคิวเหมือนชาวบ้านเขา” 

“ตอนนั้นเมืองไทยมีลานโบว์ลิ่งเต็มไปหมด ผมเดินทางไปแข่งกับคุณพ่อทั่วประเทศ มีสนามโบว์ลิ่งแทบทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก” ญาณพล ลาภอาภารัตน์ นักโบว์ลิ่งมือ 1 ของเมืองไทย วัย 38 ปี ย้อนความหลังด้วยแววตามีความสุข

ญาณพล หรือ “โจ้” คือหนึ่งในเด็กที่เติบโตขึ้นมาในยุคโบว์ลิ่งฟีเวอร์ เขาตามติดตามคุณพ่อ สุรัตน์ ลาภอาภารัตน์ ผู้มีดีกรีเป็นนักโบว์ลิ่งแชมป์ประเทศไทย ไปตามโรงโบว์ลิ่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

เด็กหนุ่มจากนครปฐม เริ่มซึมซับบรรยากาศความสนุกสนานเหล่านั้น และหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ขึ้นเรื่อย ๆ  จนกระทั่งปี 1998 ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล 

ในปี 1998 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 อันเป็นช่วงเวลาปีทองของนักกีฬาไทยในหลายชนิดเลยก็ว่าได้

แต่วันดังกล่าว ญาณพล เลือกที่จะตามคุณพ่อไปที่ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ บางกะปิ เพราะที่นั่นมีการชิงเหรียญทองของทัพนักโบว์ลิ่งทีมชาติไทย ก่อนที่สุดท้ายทีมไทยจะคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง ในประเภท Trios (ทีมชาย 3 คน) จาก กฤชวัชร์ จำปาขาว, ประเสริฐ พันธุรัตน์ และ เสรี เครือสิงห์

ภาพธงไตรรงค์ที่กำลังโบกสะบัดสู่ยอดเสา คลอเคล้าด้วยทำนองเพลงชาติไทยที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งฮอล ได้ตราตรึงเด็กน้อยคนหนึ่งให้หยุดนิ่งราวกับต้องมนตร์สะกด

วินาทีนั้นเองที่ “โจ้” ตัดสินใจจะเป็นนักโบว์ลิ่งทีมชาติไทยให้ได้…

“วันนั้นผมได้ไปเชียร์พี่ทั้ง 3 คนตั้งแต่เกมแรกยันเกมสุดท้าย ผมนี่ขึ้นสแตนด์เชียร์โบกธงเลย แล้ววันนั้นทีมชาติไทยได้เหรียญทอง พี่เขาได้ขึ้นไปยืนบนโพเดียม” 

“เราเห็นพี่เขาโยนท่ามกลางคนดูหลายร้อยคน เขาผ่านความกดดันแบบนี้ได้ยังไง เราอยากจะไปถึงจุดนั้นบ้าง วินาทีนั้นมันจึงกลายเป็นเป้าหมายในชีวิตของผมเลย ว่าผมต้องได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ให้ได้ ”

หลังจากวันนั้น “โจ้” เลิกเล่นกีฬาทุกชนิดทันทีแล้วมุ่งมั่นกับการเล่นโบว์ลิ่งเพียงอย่างเดียว โดยมีคุณพ่อเป็นผู้ผลักดันพาไปฝึกซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน 

ทุกเย็นเจ้าตัวจะต้องเดินทางไปฝึกซ้อมร่วมกับทีมชาติไทยชุดฝึกซ้อมกลางคืนที่ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จนถึง 4 ทุ่ม ก่อนกลับไปนอนที่บ้านในจังหวัดนครปฐม เพื่อตื่นมาเรียนต่อในตอนเช้าตามปกติ

“ผมลงแข่งในเอเชียนเกมส์ถึง 4 สมัย ตลอดระยะเวลา 12 ปี ผมทุ่มทั้งแรงกายและแรงใจกับรายการนี้แบบสุด ๆ มันเหมือนกับเรายังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านกำแพงของตัวเองได้ จนสามารถคว้าเหรียญทองได้ในปี 2014 เหรียญทองเหรียญนี้มันจึงเป็นความภาคภูมิใจและเป็นการทำความฝันของเราให้เป็นจริง” ญาณพล เผย

เบ็ดเสร็จแล้วในเอเชียนเกมส์ ญาณพล สามารถคว้าเหรียญมาได้ 1 เหรียญทอง (บุคคลชาย 2014), 2 เหรียญเงิน (ชายเดี่ยว 2002 / ออลอีเวนต์ 2014) และอีก 1 เหรียญทองแดง (ออลอีเวนต์ 2006)

หลังจากที่ได้เติมเต็มความฝันของตัวเองแล้ว ความท้าทายต่อไปของนักโบว์ลิ่งหนุ่มไทยรายนี้คือการก้าวสู่ระดับโลก โดยปักหมุดหมายไปที่ “สหรัฐอเมริกา” ดินแดนที่มีการชิงชัยของโบว์ลิ่งระดับอาชีพที่รวบรวมยอดฝีมือจากทั่วโลก ซึ่งโจ้เผยถึงการได้ไปยืน ณ จุดนั้นว่า “ดีใจมากกว่าได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์อีก”

 

ตะลุยระดับอาชีพ

การแข่งขันโบว์ลิ่งอาชีพระดับโลกนั้นไม่ต่างจาก PGA ของกอล์ฟ หรือ ATP ของเทนนิส ที่มีการจัดแข่งขันกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อให้นักโบว์ลิ่งทั่วโลกไล่ล่าเงินรางวัล 

โดยมีเมนหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในชื่อ PBA TOUR ภายใต้การรับรองของ สมาคมนักโบว์ลิ่งมืออาชีพ หรือ PBA : Professional Bowlers Association 

รูปแบบการแข่งขัน PBA TOUR จะมีการชิงชัยทุกสัปดาห์ตามรัฐต่าง ๆ เพื่อไล่ล่าเงินรางวัลและไต่แรงกิ้ง โดยมีรายการที่เป็นระดับเมเจอร์อย่าง ยูเอส โอเพ่น, เวิลด์ โบว์ลิ่ง ทัวร์,  ยูเอสบีซี มาสเตอร์ และ เวิลด์ แชมเปียนชิพ รวมถึงยังมีการจัดทัวร์นาเมนต์ “เวิลด์ทัวร์” เดินสายไปตามประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและเอเชียด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันอาชีพในระดับเอเชีย ไม่ต่างจากกอล์ฟที่มี PGA TOUR และ ASIAN TOUR โดยแต่ละทัวร์ก็มีคะแนนสะสมต่างกันไป บางทัวร์นาเมนต์เป็นคะแนนสะสมในเอเชียอย่างเดียว หรือถ้าเป็นระดับเวิลด์ทัวร์ก็จะมีพอยต์ให้สำหรับ PBA ด้วย และที่พิเศษคือ มีหลายรายการที่เปิดให้ระดับอาชีพกับระดับอเมเจอร์สามารถมาแข่งขันในทัวร์นาเมนต์เดียวกันได้

ส่วนการจะเป็นสมาชิกของ PBA นั้นก็ไม่ยุ่งยาก แค่ลงทะเบียนพร้อมจ่ายค่าสมัครสมาชิกปีละ 500 เหรียญสหรัฐ (ราว 16,500 บาท) ก็ได้เป็นสมาชิกทันที แต่อาจจะต้องผ่านคุณสมบัติบางประการเพื่อควอลิฟายการเข้าแข่งขันในบางรายการ เช่น ต้องมีแรงกิ้งติดท็อป 60 ของโลก, มีแรงกิ้งในเอเชียตามที่กำหนด หรือมีจดหมายรับรองจากสมาคมกีฬาโบว์ลิ่งประเทศนั้น ๆ

ขณะที่การจะเป็นสมาชิกของ “สมาคมกีฬาโบว์ลิ่งแห่งประเทศไทย” นั้น ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก ขอเพียงแค่สมัครสมาชิกปีละ 200 บาท หรือตลอดชีพ 2,000 บาท คุณก็เป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งอาชีพได้แล้ว และสามารถเดินทางไปไล่ล่าเงินรางวัลตามประเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเป็นนักกีฬาทีมชาติเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องควักกระเป๋าออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองเท่านั้น 

เช่นเดียวกับญาณพล ด้วยแพชชั่นที่อยากจะไปพิสูจน์ฝีมือในระดับโลก เพราะเชื่อมั่นในตัวเองมาตลอดว่าเขาสามารถไปได้ไกลกว่าระดับเอเชีย จึงตัดสินใจลงแข่งทัวร์นาเมนต์อาชีพที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในศึก PBA World champion ship 2008 ในช่วงที่ตัวเองเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก 

“ครั้งแรกที่ผมไปแข่งที่อเมริกานี่ผมไปด้วยทุนตัวเองนะ ช่วงนั้นผมไปเรียนที่นิวยอร์กพอดีด้วย อาศัยนอนบ้านเพื่อนเอา ตอนนั้นอายุ 24-25 เอง แต่อยากจะพิสูจน์ฝีมือของตัวเองว่าในระดับอาชีพจะเป็นยังไง ตอนไปถึงนี่ผมตื่นเต้นมาก บรรยากาศคึกคักมาก มีหลายคนที่เราเคยเห็นเขาเล่นในทีวี ผมเดินดูเขาโยนไปทั่วทุกเลนเลย”

“ความสุดยอดของที่นั่นคือ นอกสนามจะมีรถทรักของแต่ละแบรนด์มาจอดคอยให้บริการนักกีฬา ใครใช้แบรนด์ไหนสามารถเดินไปเลือกลูกและให้เขาเจาะรูใหม่ให้ได้เลย จะกี่ลูกก็ได้ สุดท้ายผมจบการแข่งขันในอันดับที่ 30 กว่ามั้ง แต่ไม่เสียใจเลย” โจ้ กล่าวด้วยรอยยิ้ม 

การได้ไปเล่นระดับอาชีพที่สหรัฐอเมริกาได้ปลุกไฟในตัวญาณพลให้ลุกโชน แม้จะไม่ได้โทรฟีติดมือกลับบ้าน แต่เขายังเชื่อว่าฝีมือของตัวเองไม่ได้เป็นรอง และพร้อมตั้งเป้าที่จะกลับไปแก้มืออีกครั้งในอนาคต จนกลายเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จในเอเชียนเกมส์ ใน 6 ปีต่อมา

ช่วงเวลานั้นเอง การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความก้าวหน้าของกีฬาโบว์ลิ่งมากขึ้น จึงได้ยกระดับโบว์ลิ่ง ขึ้นเป็น 1 ใน 13 กีฬาอาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ร่วมกับ ฟุตบอล, กอล์ฟ, เจ็ตสกี, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ, จักรยานยนต์, จักรยาน, รถยนต์, สนุกเกอร์, แบดมินตัน, เทนนิส และบาสเกตบอล

กีฬาทั้ง 13 ชนิดนี้มีสิทธิและช่องทางที่จะขอความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพได้ โดยเฉพาะงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันระดับอาชีพยังต่างแดน นอกเหนือจากงบประมาณที่ใช้ส่งนักกีฬาแข่งขันในรายการเก็บคะแนนต่าง ๆ ของโอลิมปิก เกมส์ เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์

“การที่โบว์ลิ่งได้บรรจุเป็นกีฬาอาชีพถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นกีฬาที่เรารักสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อีกก้าว เพราะจะได้มีกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพเข้ามาดูแล ต้องขอขอบคุณจริง ๆ” 

“ทางสมาคมกีฬาโบว์ลิ่งก็มีงบประมาณมากขึ้น ทำให้นักกีฬาอย่างผมได้ไปแข่งในระดับอาชีพที่อเมริกาหรือที่ยุโรปมากขึ้น ขณะที่น้อง ๆ ในทีมชาติก็มีโอกาสได้ไปแข่งในระดับเอเชียและยุโรปมากขึ้นไปด้วย” นักโบว์ลิ่งคนแรกของเมืองไทยที่ได้ไปสัมผัสประสบการณ์บนเวทีอาชีพที่สหรัฐอเมริกา กล่าว

เมื่อมีงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ “โจ้” สามารถวางแผนในการเดินทางไปแข่งขันระดับอาชีพที่สหรัฐอเมริกาได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น 

โดยในปี 2017 หลังจากที่เขาสามารถจารึกประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคนแรกที่คว้าแชมป์ศึก “เวิลด์ โบว์ลิ่ง ทัวร์ ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์อาชีพระดับโลกภายใต้การรับรองของ PBA พร้อมรับเงินรางวัล 1 ล้านบาทได้สำเร็จ การเดินทางบทใหม่ของเขาก็เริ่มต้นขึ้น…

“การแข่งขันโบว์ลิ่ง PBA TOUR ในแต่ละฤดูกาลจะถูกลิสต์ออกมาเลยว่ามีแข่งที่สนามไหนบ้าง โดยส่วนมากรายการหนึ่งจะใช้เวลาแข่ง 5-6 วัน และจะแข่ง 4 รายการในช่วง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยเป็นสนามที่อยู่ในละแวกรัฐใกล้ ๆ กัน จากนั้นจะพัก 2 สัปดาห์ค่อยย้ายไปแข่งกันในโซนอื่นต่อ”

“เวลาไปผมจะเลือกเวลาที่มีทัวร์นาเมนต์แข่งติด ๆ กันจะได้คุ้ม ลงสนามบินปุ๊ปเช่ารถเลย สัปดาห์นี้แข่งรัฐนี้ สัปดาห์หน้าแข่งอีกรัฐนึง จนครบ 4 รัฐ ตกกลางคืนก็เช่าโรงแรมที่ราคาไม่แพงนอน แข่งเสร็จก็เอารถมาคืนแล้วขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน แบบนี้ผมจะใช้เงินประมาณ 3-4 แสนบาท โดยมาจากเงินทุนที่สมาคมสนับสนุนบวกกับเงินส่วนตัว และเงินสปอนเซอร์จากแบรนด์ลูกโบว์ลิ่งสตรอมของอเมริกา ที่ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย” ญาณพล เล่าประสบการณ์

ญาณพล มีโอกาสได้ไปทัวร์ที่สหรัฐอเมริกา 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ในปี 2017-18 และ 2018-19 โดยทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการคว้าอันดับที่ 7 ในรายการระดับเมเจอร์อย่าง ยูเอส โอเพ่น นอกจากนี้ยังตะลอนแข่งในทัวร์ที่ประเทศเยอรมนีและสวีเดน รวมถึงในเอเชียอีกหลายประเทศ รวมแล้วกว่า 10 รายการ ก่อนจะไต่แรงกิ้งขึ้นมารั้งอันดับ 8 ของโลก 2 ปีติด

“โบว์ลิ่งอาชีพใน PBA TOUR ถ้าคุณไม่เจ๋งจริงนี่อยู่ไม่ได้ รายการนึงใช้เวลาแข่ง 5-6 วัน ต้องโยนอย่างต่ำวันละ 8 เกม บางวัน 16 เกม เพื่อสะสมคะแนนไปเรื่อย ๆ จนครบ 72 เกม โดยจะมีการตัดตัวเป็นรอบ ๆ ไปด้วย คนที่ได้คะแนนมากที่สุด 5 คนแรก จะได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบทีวีในวันอาทิตย์ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดให้คนทางบ้านได้ดู”

“พอรอบทีวี 5 คนสุดท้าย จะแข่งแบบขั้นบันไดตัวต่อตัว คนที่ทำคะแนนสะสมตั้งแต่วันแรกได้สูงที่สุดจะได้ไปยืนรอเป็นอันดับ 1 ในด่านสุดท้าย โดยแมตช์แรกคนที่มีคะแนนเป็นอันดับ 4 และ 5 จะพบกันก่อน ผู้ชนะจะผ่านเข้าไปพบอันดับ 3 และ 2 และ 1 ตามลำดับ เห็นไหมว่ามันไม่ง่ายเลย”

“ผมไปทัวร์ที่อเมริกาอยู่ 2 ปี ผมทำแรงกิ้งใน PBA อยู่อันดับ 8 ของโลก 2 ปีติด และได้อันดับ 7 ในรายการเมเจอร์ ถือเป็นอะไรที่สุดยอดมาก สำหรับผมมันยิ่งใหญ่กว่าเหรียญทองเอเชียนเกมส์มาก ๆ ในเอเชียนเกมส์โยนแค่ 6 เกมก็คล้องเหรียญทองแล้ว แต่ผลงานผมที่นี่แทบไม่มีใครรู้ ถ้าเป็นกอล์ฟหรือเทนนิสแล้วทำผลงานได้แบบนี้ ป่านนี้ผมคงดังและรวยกว่านี้ไปแล้ว” ญาณพล กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ถ้าเป็นกีฬาอื่นคงดังและรวยกว่านี้ไปแล้ว… คำทิ้งท้ายนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วสิ่งใดที่ทำให้เขายังเลือกที่จะท้าทายบนถนนสายนี้ แล้วสุดท้ายมันจะคุ้มค่าหรือไม่ คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดเท่ากับคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเมืองไทยอย่างตัวเขาเอง

 

กำไรที่มากกว่าเงินตรา

การเป็นนักกีฬาอาชีพ แน่นอนว่าเงินรายได้เป็นสิ่งสำคัญ ทว่าการแข่งขันโบว์ลิ่ง PBA TOUR นั้นแม้จะมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าระดับ PGA TOUR ของกอล์ฟ หรือ ATP ทัวร์ของเทนนิส แต่เงินรางวัลนั้นต่างกันลิบลับ 

การแข่งขันทัวร์นาเมนท์อาชีพของ PBA TOUR ที่สหรัฐอเมริกา เงินรางวัลของแชมป์แต่ละรายการจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว ​​1.6 ล้านบาท) แม้จะมีบางจังหวะในบางรายการที่ได้สปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนจนเงินรางวัลเพิ่มขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังไม่มากมายอะไร 

หนำซ้ำหลายรายการยังโตแค่หัว แม้ว่าแชมป์จะได้เงินหลักล้านบาท แต่ถัดมาอันดับ 2 อาจจะเหลือแค่ 5 แสนบาท แล้วลดฮวบลงมาเรื่อย ๆ จนอันดับ 5 อาจจะเหลือแค่หลักหมื่นบาท และอันดับ 10 นี่แทบจะไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำก็มี 

“การติดท็อป 10 ในระดับเวิลด์ทัวร์นี่มันไม่ธรรมดาแล้วนะ แต่เงินรางวัลมันไม่ตอบโจทย์ ยิ่งเมื่อเทียบกับกอล์ฟนี่ถ้าจบอันดับ 10 นี่สบายไปแล้ว ซึ่งผมเข้าใจได้เพราะกีฬาพวกนั้นเขาแมสกว่า มีสปอนเซอร์พร้อมเข้ามาลงทุนสนับสนุนมากกว่า”

“ถ้าถามผมว่าการไปเล่นอาชีพที่อเมริกาสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ไหม ผมมองว่ามันค่อนข้างยาก ถ้าจะต้อบโจทย์ได้คุณต้องเก่งจริง ๆ และที่สำคัญต้องมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนด้วย ถ้าคุณไม่เก่งก็อาจทำให้แค่พออยู่ได้เฉย ๆ แต่ไม่สามารถจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้” 

“ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมเป็นนักโบว์ลิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตั้งแต่มีกีฬาโบว์ลิ่งในเมืองไทยมา แต่ผมยังมีได้แค่นี้ (ผายมือไปที่บ้านของตัวเอง) ถ้าผมเป็นนักกีฬาอื่นแล้วประสบความสำเร็จในระดับนี้นะ โหย มันต้องมหาศาลกว่านี้เยอะ”

“ถ้าวัดกันที่ตัวเงิน มันก็ได้กำไรบ้างนิดหน่อยไม่ได้ขาดทุนอะไร แต่พอเริ่มอายุมากขึ้นก็ต้องพิจารณาเรื่องลูก เรื่องครอบครัว รวมถึงเรื่องธุรกิจที่ทำด้วย เพราะการไปเล่นที่อเมริกามันก็ได้กำไรนะ แต่มันไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เราเสียไป ถ้ามันได้มาหลาย ๆ ล้านอันนี้อ่ะคุ้ม แต่ที่ผ่านมาผมไม่ได้มองเรื่องตัวเงินเป็นหลัก ผมมองเรื่องความท้าทายที่เราได้ไปแข่งในเวทีระดับสุดยอดที่สุดของชีวิตนักโบว์ลิ่ง ผมเลยอยากไปลองด้วยแพชชั่นล้วน ๆ” ญาณพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้การเล่นอาชีพจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องรายได้เท่าที่ควรแต่ “โจ้” กล่าวต่อด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า การที่เขาได้ไปโลดแล่นบนแผ่นดินอเมริกา ทำให้เขาได้รับประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้พัฒนาวงการมากขึ้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้เขาได้รับเกียรติให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหลาย ๆ ประเทศ พร้อมสร้างรายได้ให้อีกทาง 

“ผมไปอเมริกาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องลูกโบว์ลิ่งที่มันมีเทคโนโลยีที่พัฒนาตลอดเวลา ผิวลูกเป็นยังไง แกนไส้เป็นยังไง การที่เราจะโยนลูกให้เลี้ยวได้มันมาจากตัวลูกโบว์ลิ่งเอง 80% เลยนะ ส่วนตัวคนมีส่วนแค่ 20% เอง”

“เรื่องพวกนี้มันเกิดจากเทคโนโลยีที่อยู่ข้างใน รูปแบบของแกนที่ต่างกัน ลูกโบว์ลิ่งที่มีผิวเงาก็จะวิ่งเร็วกว่าและเลี้ยวน้อยกว่า ส่วนผิวด้านมันหนืดกว่า ระยะการเดินทางมันก็จะทำให้เลี้ยวได้เยอะกว่า หรือเวลาเราเจาะรูสำหรับใส่นิ้วต้องให้แกนอยู่ตรงไหนเพื่อที่จะได้เหมาะสมสำหรับสไตล์การโยนของแต่ละคน มันเป็นเรื่องที่มีหลักฟิสิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง”

“หรือแม้แต่บนเลนโบว์ลิ่งที่มีการทาน้ำมันเคลือบไว้เพื่อให้ลูกวิ่งได้ไหลลื่น แต่ละรายการจะมีการทาน้ำมันที่มีเชฟหรือรูปทรงแตกต่างกัน ไม่ได้ทาปื๊ดเดียวเท่ากันหมดทั้งเลน” 

“บางวันเป็นรูปถ้วย บางวันทรงโค้ง บางวันหัวตัด ถึงแม้เราจะเริ่มจับทางได้ว่าต้องโยนแบบไหน แต่พอแข่งไปสักพักน้ำมันที่ทาไว้มันก็เริ่มแห้งไม่เท่ากัน หรือเวลาเปลี่ยนเลน จุดไหนที่คนก่อนหน้านี้โยนซ้ำ ๆ กันมา น้ำมันตรงจุดนั้นมันก็จะหายไปและมีผลต่อองศาการวิ่งของลูก ก็ต้องคอยคำนวณหาจุดตกใหม่”

“บางคนอาจจะใช้วิธีปรับด้วยมือตัวเองเพื่อให้เข้ากับสภาพเลนที่ต้องเจอ แต่ตั้งแต่ผมได้ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีของลูกโบว์ลิ่งมากขึ้น ผมเลยมองว่าเราจะไปปรับตัวเองทำไม ? คุณก็โยนที่เดิมแล้วไปปรับที่ลูกโบว์ลิ่งเอาดิ มันง่ายกว่า แต่คุณต้องรู้จริงและสามารถพลิกแพลงการใช้อุปกรณ์ได้”

“ลูกโบว์ลิ่งที่อเมริกาออกใหม่เป็นรายอาทิตย์ ทุกแบรนด์จึงต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะพัฒนาลูกโบว์ลิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือธุรกิจ ดังนั้นจึงมีเทคโนโลยีที่เพิ่มเข้ามาตลอด ถ้าเราไม่ตามก็ตกขบวน” 

“ในปัจจุบันจึงมีโค้ชที่เข้ามาดูเรื่องเทคโนโลยีของลูกโดยเฉพาะแล้ว เพิ่มเติมจากโค้ชทั่วไปที่ดูเทคนิค ท่าทาง หรือการเคลื่อนไหวเวลาโยน ยังไม่รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่มีคนไทยรู้ นี่คือสิ่งที่กีฬาโบว์ลิ่งในเมืองไทยขาดแคลนมาตลอด” ญาณพล เผย

 

ส่งต่อประสบการณ์

เชื่อว่าหลายคนที่เคยผ่านการเล่นโบว์ลิ่งมาก่อน ส่วนใหญ่จะโยนด้วยการครูพักลักจำมากกว่าการไปศึกษาเทคนิคต่าง ๆ อย่างจริงจัง ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะหลักการโยนโบว์ลิ่งไม่มีอะไรซับซ้อน คุณจะโยนท่าไหนก็ได้ จะโยนมือเดียว โยนสองมือ หรือใช้เขวี้ยงเลยก็ยังได้ ขอเพียงให้ลูกพุ่งไปชนพินล้มให้หมดเท่านั้นก็พอ 

ทว่าหากใครที่อยากจะพัฒนาฝีมืออย่างจริงจังมากขึ้นก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าเทคนิคต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากโบว์ลิ่งไม่ใช่กีฬาที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักการเรียนการสอนตามปกติ การจะหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎ กติกา หรือเทคนิคการเล่นแทบจะทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะยิ่งในช่วงยุคก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายด้วยแล้ว

ปัจจุบันนอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว มีอีกเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่มีลานโบว์ลิ่งมาตรฐาน คือ เชียงใหม่, ราชบุรี, ชลบุรี (พัทยา) และสุราษฎร์ธานี (สมุย) 

ดังนั้นหากยักษ์ใหญ่อย่าง “เมเจอร์โบว์ล” ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ก่อนจะมาเจอมรสุมโควิด-19 ซัดอีกระลอกต้องปิดกิจการลง ก็คงจะแทบไม่เหลือที่ให้เล่นแล้ว

ญาณพลเห็นปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างดี เขาเติบโตขึ้นมาในยุคที่ไร้อินเทอร์เน็ตที่ต้องยอมรับว่า การจะศึกษาข้อมูลหรือเทคนิคการโยนโบว์ลิ่งนั้นเป็นเรื่องยากมาก 

แม้ในปัจจุบันจะเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียครองเมืองแล้วก็ตาม แต่คนที่มีองค์ความรู้จริง ๆ ก็มีน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็แทบจะล้มหายตายจากไปหมด ทำให้เขาเตรียมที่จะลุกขึ้นเปิดช่องยูทูบของตัวเอง เพื่อนำประสบการณ์ที่มีทั้งชีวิตมาเผยแพร่ให้กับเยาวชนรุ่นหลัง

“ปัญหาตอนนี้คือเด็กรุ่นใหม่เข้าไม่ถึงโบว์ลิ่ง ถึงจะมีโซเชียลมีเดียก็ไม่มีคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการเล่นโบว์ลิ่งที่ถูกต้องกับเขา ผมเลยจะทำช่องยูทูบ อธิบาย กฎ กติกา และเทคนิคการเล่นที่ถูกต้อง เช่น ต้องเดินยังไง สวิงลูกยังไง ปล่อยลูกให้โค้งยังไง อุปกรณ์มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับคนที่สนใจอยากจะเล่นโบว์ลิ่ง ส่วนอีกพาร์ตอยากจะไปสัมภาษณ์นักกีฬารุ่นเก่า เพราะสมัยก่อนเรามีนักกีฬาเก่ง ๆ เยอะมาก มือ 1 ของประเทศไทยสมัยก่อนเป็นใคร แทบจะไม่มีคนรู้จัก ผมอยากให้ทุกคนได้รู้จักตำนานเหล่านี้”

“ผมทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้วงการโบว์ลิ่งเมืองไทยยังคงอยู่และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผมรักโบว์ลิ่งมาก ถ้าไม่มีโบว์ลิ่งก็ไม่มีผมในวันนี้ ผมก็คงเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นไปวัน ๆ แต่การมีโบว์ลิ่งทำให้ผมได้มีกิจกรรมทำ ดังนั้นผมจึงอยากเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปเหมือนกับที่ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่ ๆ รุ่นก่อน” ญาณพล ทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางของนักกีฬาคนหนึ่งที่ฝากชีวิตไว้กับลูกโบว์ลิ่ง พร้อมกับทุ่มเททุกอย่างเพื่อที่จะไขว่คว้าความฝันจนประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้ และหวังว่าถนนสายนี้ที่เขาเป็นผู้บุกเบิกจะมีสายเลือดใหม่ก้าวข้ามไปได้ในอนาคต