ออกกำลังกายอย่างไรให้เกิดการเผาผลาญอย่างเพียงพอ

จากพฤติกรรมการบริโภค และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายทำให้เกิด โรคอ้วน หรือภาวะลงพุง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เรียกว่า Metabolic syndrome คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับการรักษานอกจากการใช้ยา ก็จะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต อย่างการลดน้ำหนักโดยการปรับการกินและการออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายนั้นจะแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic) เป็นการออกกำลังกายชนิดที่มีการออกแรงใช้กล้ามเนื้อในระดับหนักพอควรแบบต่อเนื่องไปตลอดเวลาไม่มีหยุดตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นวิธีที่ช่วยเผาผลาญพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น
  2. การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) เป็นการออกกำลังกายที่มุ่งเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆ ของร่างกาย โดยแต่ละท่าใช้ฝึกกล้ามเนื้อแต่ละกลุ่ม แต่ละท่าจะใช้วิธีทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง โดยอาจมีหรือไม่มีอุปกรณ์ช่วย เช่น การยกดัมเบล ยางยืด body weight exercise เป็นต้น
  3. การออกกำลังกายแบบความยืดหยุ่นและเสริมการทรงตัว (balance) สำหรับคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีความตึงตัวของร่างกายสูง ขาดความยืดหยุ่น อาจมีผลทำให้เกิดการหดรั้งของกล้ามเนื้อ การจำกัดการเคลื่อนไหว การทรงตัวที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถควบคุมร่างกายให้อยู่ในแนวตั้งตรง ร่วมกับการฝึกสมาธิ ตัวอย่างเช่น โยคะ ไทเก๊ก ชีกง ไทปราณ เป็นต้น

ซึ่งการออกกำลังกายควรจะทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาทีด้วยความแรงของการออกกำลังกายที่เหมาะสม (moderate intensity) นอกจากนี้การออกกำลังกายในระยะเวลาสั้นๆ ครั้งละ 10-15 นาที เช่น การเดินเร็วๆ การทำงานบ้าน แต่ทำบ่อยๆ วันละหลายครั้งก็พบว่ามีประโยชน์เช่นกัน

ขอบคุณแหล่งที่มา : โรงพยาบาลพญาไทย