เจาะลึกแคดดี้อาชีพ : อาชีพที่ทำเงินได้ปีละหลักล้านแต่หลายคนมองข้าม | MAIN STAND

วงการกอล์ฟเมืองไทยกำลังอยู่ในยุครุ่งโรจน์ มีก้านเหล็กทั้งชายและหญิงหลายร้อยชีวิตพาเหรดเดินทางไปไล่ล่าเงินรางวัลในทัวร์นาเมนท์ระดับโลกอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย 

 

นอกจากตัวนักกีฬาแล้ว หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือ “แคดดี้” ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกอล์ฟทั่วโลก

พวกเขาเหล่านี้มีภารกิจอันสำคัญที่ต้องใช้ทั้งความรู้และความสามารถที่ถูกฝึกฝนมาจนเชี่ยวชาญ มากกว่าภาพการแบกถุงอุปกรณ์เดินตามนักกอล์ฟอย่างที่เราเห็น

เรื่องราวอันน่าสนใจของพวกเขาเป็นเช่นไร ติดตามได้ที่ Main Stand

 

แคดดี้อาชีพ-อาชีพแคดดี้

บางคนที่ไม่เคยติดตามกีฬากอล์ฟมาก่อนอาจจะคิดว่าแคดดี้ที่เห็นกันเป็นประจำในการแข่งขันนั้น มีหน้าที่เพียงแค่คอยเดินถือถุงกอล์ฟ แบกกระเป๋าอุปกรณ์ หรือคอยหยิบไม้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักกีฬาเพียงอย่างเดียว 

แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในหน้าที่เท่านั้น เพราะความจริงแล้วแคดดี้อาชีพมีภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่า ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถและหลักจิตวิทยาเป็นอย่างมาก

ในประเทศไทย แคดดี้มักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพบริการอย่างหนึ่ง และอาจถึงขั้นถูกมองว่าเป็นคนรับใช้ของนักกอล์ฟเลยด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ผิดนัก เพราะอาชีพแคดดี้ตามสนามกอล์ฟทั่วไปต้องคอยให้บริการนักกอล์ฟตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบเลยก็ว่าได้ 

อาชีพแคดดี้ตามสนามกอล์ฟในเมืองไทย เป็นอาชีพที่ใครสนใจก็สามารถกรอกใบสมัครได้ทั้งฟูลไทม์และพาร์ทไทม์ โดยทางสนามจะมีการอบรมเบื้องต้นเกี่ยวกับกฏกติกาการแข่งขันและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ให้ได้ทราบก่อนเริ่มงาน

หน้าที่ของแคดดี้ประจำสนามจะต้องดูแลนักกอล์ฟ หรือที่แคดดี้ใช้สรรพนามเรียกกันว่า “นาย” เป็นอย่างดี 

นอกจากจะต้องคอยเดินตามถือถุง หยิบไม้ เช็ดอุปกรณ์ กางร่มบังแดด ตลอดจนดูแลเรื่องอาหาร-เครื่องดื่มแล้ว ยังต้องคอยดูแลสนาม คราดทราย ถอนหญ้าที่ขึ้นผิดประเภท รวมถึงล้างทำความสะอาดรถกอล์ฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าบริการทุกระดับประทับใจเพื่อให้ผู้เล่นติดใจกลับมาใช้บริการที่สนามเรื่อย ๆ

แต่สนามกอล์ฟในต่างประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะไม่ค่อยมีแคดดี้ของทางสนามแบบนี้ให้บริการ นักกอล์ฟจะต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด ดังนั้นพวกเขาจึงให้ความสำคัญในเรื่องการจ้างแคดดี้ประจำตัวเป็นอย่างยิ่ง 

แคดดี้เหล่านี้ไม่ได้เพียงทำงานอาชีพแดดดี้เท่านั้น แต่ยังเป็น “แคดดี้อาชีพ” ที่เปรียบเสมือนพาร์ทเนอร์คู่ใจของนักกอล์ฟ

แคดดี้อาชีพนอกจากจะถือถุงอุปกรณ์แล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาและตอบทุกคำถามที่นักกอล์ฟต้องการข้อมูลสำหรับการตี ไม่ว่าจะเป็น สภาพสนามที่แข่งขัน ระยะของแต่ละหลุม แรงลม ตลอดจนการเลือกใช้ไม้กอล์ฟ การดูวงสวิง และแผนการเล่นแต่ละหลุม ดังนั้นจึงต้องผ่านการฝึกฝนสกิลทั้งด้านความรู้ ร่างกาย จิตใจ และอาศัยประสบการณ์อย่างมาก

เราจึงมักเห็นนักกอล์ฟระดับโลกออกมากล่าวชื่นชมและยกเครดิตให้กับแคดดี้คู่ใจยามที่ตัวเองทำผลงานได้ดีบ่อยครั้ง อาทิ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล ก้านเหล็กสาวหมายเบอร์ 1 ของไทย ที่ยกให้ เลส ลูร์ก อดีตแคดดี้คู่ใจคือกุญแจสำคัญที่ช่วยเตือนสติเธอจนทำให้คว้าแชมป์ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น เมื่อปี 2018 ได้สำเร็จ ทั้งที่อยู่ในสถานการณ์คับขันต้องดวลเพลย์ออฟเพื่อตัดสินแชมป์

“ในหลุม 10 ฉันตีด้วยหัวไม้ 3 แต่ออกทริปเปิ้ลโบกี้ ทำให้ไม่มีความมั่นใจและต้องมาใช้เหล็ก 2 แทน แล้วทีนี้มาถึงหลุมสุดท้ายที่จะตัดสิน ฉันหันไปถามแคดดี้ว่า ควรจะใช้หัวไม้ 3 ตัดสินเกมดีหรือไม่ ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาว่า ถ้าฉันถามคำถามนี้แสดงว่าฉันมีการลังเลใจ ดังนั้นอย่าเลย ให้ใช้เหล็ก 2 ดีกว่า ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ก็คือ เราเป็นแชมป์” โปรเม ให้สัมภาษณ์หลังคว้าแชมป์เมเจอร์ที่ 2 ในชีวิต

 

หรือแคดดี้ชื่อดังระดับโลกอย่าง สตีฟ วิลเลียมส์ ที่เคยร่วมงานกับ ไทเกอร์ วู้ดส์ อดีตนักกอล์ฟหมายเลข 1 ของโลก มานานถึง 12 ปี พร้อมร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการกว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ถึง 13 รายการ ซึ่งนอกจากจำนวนโทรฟีดังกล่าวแล้วโมเมนท์ที่หลายคนตราตรึงใจก็คือการที่ทั้งคู่กอดคอกันร้องไห้ตอนคว้าแชมป์ ดิ โอเพ่น หลังจากที่คุณพ่อของ “พญาเสือ” จากไปเมื่อปี 2006

แม้ท้ายที่สุดแล้วทั้งสองคนจะแยกทางจากกันได้ไม่ดีนัก แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ตลอดช่วงเวลานับสิบปีได้แสดงให้เห็นว่า “แคดดี้” มีภารกิจที่สำคัญมากกว่าการเป็นผู้รับใช้คอยแบกหามอุปกรณ์ แต่ยังต้องคอยดูแลสภาพจิตใจของนักกอล์ฟควบคู่กันไปด้วย

ทว่าในเมืองไทยถึงจะมีผู้ประกอบอาชีพแคดดี้ตามสนามทั่วประเทศนับร้อยนับพันคน แต่ “แคดดี้อาชีพ” ที่ออกไปไล่ล่าความสำเร็จร่วมกับนักกอล์ฟในเวทีระดับนานาชาตินั้นมีเพียงแค่หยิบมือ 

และหากอยากรู้ว่าหน้าที่ของแคดดี้อาชีพในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง เบื้องลึกเบื้องหลังของอาชีพนี้เป็นอย่างไร คงไม่มีใครบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้ดีเท่ากับคนที่เป็นแคดดี้อาชีพเองแน่นอน

เจาะลึกการทำงาน

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า “แคดดี้อาชีพ” ต้องอาศัยความชำนาญในวิชาชีพอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาในเมืองไทยมีเพียงไม่กี่รายที่ได้ก้าวไปยืนอยู่บนจุดนั้น 

หากย้อนกลับไปราว 20-30 ปีที่แล้ว แคดดี้อาชีพในเมืองไทยแทบจะไม่มีเลยสักราย นักกอล์ฟส่วนใหญ่จะใช้บริการแคดดี้ที่ทางสนามแข่งขันจัดเตรียมไว้ให้ พอย้ายสนามทีก็เปลี่ยนแคดดี้ที หรืออย่างดีก็จ้างมาประจำเฉพาะเวลาแข่งขันในประเทศ เพราะหากไปแข่งต่างแดนแล้วมีแคดดี้ส่วนตัวไปด้วย นักกอล์ฟจะต้องแบกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาทั้งค่าจ้าง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร จิปาถะ จึงเลือกที่จะใช้บริการแคดดี้ท้องถิ่นของทางสนามมากกว่า

“โปรหมาย” ประหยัด มากแสง นับเป็นนักกอล์ฟรุ่นแรก ๆ ที่จ้างแคดดี้คนไทยให้ติดสอยห้อยตามตัวเองไปแข่งที่ต่างประเทศด้วย โดยเชื่อว่าหากมีแคดดี้ที่รู้ใจจะช่วยให้สามารถทำผลงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแคดดี้คู่ใจของเจ้าตัวที่ร่วมงานกันมานานนับสิบปีก็คือ “มานพ สันเทียะ”

มานพ หรือ “แคดดี้ตูน” ถือเป็นแคดดี้อาชีพรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย ผ่านการทำงานร่วมกับผู้เล่นระดับท็อปของประเทศมาแล้วมากมายทั้ง ประหยัด มากแสง, ถาวร วิรัตน์จันทร์, พรหม มีสวัสดิ์, ชัพชัย นิราช, เชาวลิต ผลาผล รวมถึงโปรกอล์ฟต่างประเทศอีกหลายราย พร้อมยังผ่านทัวร์นาเมนท์ระดับเมเจอร์อย่าง เดอะ มาสเตอร์ส และ ดิ โอเพ่น มาแล้ว

แคดดี้วัย 46 ปี เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นคนตัดหญ้าและคอยเก็บลูกกอล์ฟ ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ที่บ้านเกิดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ด้วยความใฝ่รู้ประกอบกับทางสนามได้เปิดโอกาสให้พนักงานที่สนใจได้ลองหัดเล่นกอล์ฟหลังเลิกงาน มานพจึงได้เรียนรู้เรื่องกฏกติตาต่าง ๆ รวมถึง การจับไม้ ตำแหน่งการยืน พร้อมอาศัยการครูพักลักจำดูวิธีการทำงานของแคดดี้ประจำสนามไปในตัวจนมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น

กระทั่งผ่านไป 2-3 เดือน โอกาสก็ได้เข้ามาทักทายเด็กหนุ่มวัย 18 ปี เมื่อ “โปรหมาย” ซึ่งมาฝึกซ้อมที่สนามต้องการแคดดี้ส่วนตัวคนใหม่ ทางผู้ใหญ่ของสนามที่เห็นพัฒนาการของมานพมาโดยตลอดจึงได้แนะนำให้เจ้าตัวได้รู้จัก และทำให้เขาได้ก้าวสู่เส้นทางการเป็นแคดดี้อาชีพตั้งแต่นั้น

“หลังจากที่ผมได้ทำงานกับโปรประหยัด ผมกับเขาก็แทบจะตัวติดกันเลย อยู่ด้วยกันสัปดาห์นึง 5-6 วัน นักกอล์ฟจะลงซ้อมที่สนามจริงก่อนแข่ง 1-2 วัน แคดดี้จะต้องคอยดูวิธีการเล่นและดูวงสวิงของนักกอล์ฟอย่างละเอียด รวมถึงศึกษาสภาพสนามไปในตัว ซึ่งเมื่อก่อนแต่ละสนามยังไม่มีข้อมูลให้ แคดดี้เลยต้องเป็นคนเดินวัดก้าวเอง ก้าวละหลา ว่าตั้งแต่ทีออฟถึงหลุมระยะเท่าไหร่ ห่างจากบังเกอร์และบ่อน้ำเท่าไหร่ เราต้องเก็บรายละเอียดทั้งหมดเพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักกอล์ฟ”

“พอวันแข่งก็ตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาตรวจเช็คและทำความสะอาดอุปกรณ์ แต่สิ่งที่วัดกันจริง ๆ อยู่ระหว่างแข่ง เพราะเราต้องให้ข้อมูลทุกอย่างที่นักกอล์ฟอยากรู้ แต่ละหลุมที่ซ้อมมาวางแผนยังไง ไลน์เป็นยังไง ลมเป็นยังไง ตีแล้วลูกไปตกตรงไหน อยู่ห่างจากหลุมเท่าไหร่ ควรจะใช้เหล็กไหนดี ดูว่าท่าสวิงเขาว่าผิดจากที่ซ้อมไหม ถ้าผิดเราต้องคอยเตือน ทุกอย่างต้องเป๊ะ”

“โค้ชบางคนไม่ได้เดินตามนักกีฬาในสนาม จึงเป็นหน้าที่ของแคดดี้ที่จะต้องเรียนรู้และจำให้ได้ว่านักกอล์ฟซ้อมอะไรมาบ้าง เราต้องเป็นคนเก็บรายละเอียดทุกอย่างเพื่อให้นักกอล์ฟได้โฟกัสที่การตีได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของการที่เราต้องจับตาดูเขาอย่างละเอียดตั้งแต่ตอนซ้อม”

“ที่สำคัญเราต้องคอยดูอารมณ์ของนักกอล์ฟ คอยพูดให้กำลังใจ เพื่อให้เขามั่นใจและตีได้ออกมาดีที่สุด ซึ่งนักกอล์ฟแต่ละคนมีคาแรคเตอร์ต่างกัน บางคนอารมณ์เสียง่ายเราก็ต้องดึงอารมรณ์เขากลับมา เราต้องรู้ใจเขา ปรับตัวให้เข้ากับเขาเพื่อให้เขาอยู่กับเราแล้วสบายใจ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์และหลักจิตวิทยาทั้งสิ้น พอจบวันก็มาทบทวนกันว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้างเพื่อปรับแก้ไขในวันต่อไป” 

“เราเหมือนเป็นเนวิเกเตอร์ให้กับนักกอล์ฟ ต้องบอกเขาให้ได้ว่าโค้งหน้าจะเป็นอย่างไร ขับไปแล้วจะเจอเส้นทางแบบไหน หรือบางทีถ้าเขาลังเลว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือขวาดี เราก็ต้องแนะนำสิ่งที่ถูกให้เขา ถ้าเขาเชื่อที่เราแนะนำแล้วตีออกมาดีก็ถือเป็นความสำเร็จ ดังนั้นผมจึงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือดูเทปการแข่งขันของนักกอล์ฟระดับโลกโดยตลอด” มานพ เผย

ความใส่ใจในงานที่ตัวเองทำอย่างดี ทำให้มานพได้รับเสียงชื่นชมจนเป็นที่พูดถึงกันปากต่อปากในวงการ และส่งให้เขาได้รับความไว้วางใจจนมีนักกอล์ฟชื่อดังหลายคนทาบทามไปร่วมงานด้วยทั้งทัวร์นาเมนท์ในประเทศและต่างประเทศ นำมาซึ่งเม็ดเงินที่สามารถใช้เลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ

รายได้ที่งดงาม

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพ นั่นหมายความว่าการเป็นแคดดี้ต้องมอบผลตอบแทน สร้างงานสร้างรายได้ให้คุณสามารถเลี้ยงตัวเองได้

หากทำอาชีพแคดดี้ประจำสนามกอล์ฟทั่วไป ค่าแรงของคุณอาจไม่ได้สูงมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 300 บาท/รอบ โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากทิปที่นักกอล์ฟหรือ “นาย” ถูกใจมอบให้ ซึ่งตกวันหนึ่งรวมแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 400-700 บาท

แต่ถ้ามีศักยภาพสามารถผลักดันตัวเองจนก้าวขึ้นเป็นแคดดี้อาชีพได้ ค่าเหนื่อยของคุณจะถูกอัพขึ้นอีกหลายเท่าตัว

การจ้างงานระหว่างนักกอล์ฟกับแคดดี้นั้นจะจ่ายค่าเหนื่อยเป็นสัปดาห์ตามทัวร์นาเมนท์ที่เข้าแข่งขัน โดยปัจจุบันเรตขั้นต่ำสำหรับแคดดี้มือใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท/วีค และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามผลงานและความถูกใจ โดยหากได้เป็นแคดดี้ประจำก็จะมีการพูดคุยทำสัญญากันเป็นรายปี

ขณะที่แคดดี้ในระดับ PGA หรือ LPGA ค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณสัปดาห์ละ 1,000-2,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 33,000-66,000 บาท) พร้อมได้ส่วนแบ่งเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินรางวัลที่นักกอล์ฟทำได้ในทัวร์นาเมนท์นั้น ๆ แล้วแต่จะตกลงกัน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 5-10%

สตีฟ วิลเลียมส์ แคดดี้คู่ใจของ ไทเกอร์ วูดส์ รับทรัพย์อย่างงามในช่วงที่ทำงานร่วมกับโปรมือ 1 ของโลก ช่วงปี 1999 – 2011 โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี “พญาเสือ” กวาดเงินรางวัลเข้ากระเป๋าได้มากถึง 88.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,900 ล้านบาท) นั่นหมายความว่าวิลเลียมส์ที่ได้รับส่วนแบ่ง 10% จากเงินรางวัล ได้เงินกลับบ้านด้วยมากกว่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 290 ล้านบาท) พร้อมทำให้เขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลกีฬาที่ร่ำรวยที่สุดในบ้านเกิดประเทศนิวซีแลนด์

นับจนถึงปัจจุบัน วิลเลียมส์ผ่านการร่วมงานกับโปรดังมาแล้วอีกหลายรายทั้ง อดัม สกอตต์, ปีเตอร์ ธอมป์สัน และเจสัน เดย์ โดยมีรายงานระบุว่า ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่สั่งสมมา เขาได้เพิ่มอัตราส่วนแบ่งจากนักกอล์ฟขึ้นเป็น 15% ทำให้ปัจจุบันมีรายได้รวมมากกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 676 ล้านบาท) เข้าไปแล้ว

ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแดดดี้ใน PGA TOUR มีการคิดคำนวณออกมาว่า หากนักกอล์ฟลงเล่นอย่างน้อย 20 รายการต่อปี จะได้เงินรางวัลเฉลี่ยคนละ 1.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 42 ล้านบาท) และถ้าพวกเขาใช้แคดดี้เพียงรายเดียวตลอดทั้งปี นั่นหมายความว่าแคดดี้เหล่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 124,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 4.2 ล้านบาท) เลยทีเดียว 

แล้วแคดดี้ไทยต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงระดับนั้นได้ ?

มานพ เล่าว่าสมัยก่อนแคดดี้ในเมืองไทยยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่จะเป็นแคดดี้ประจำสนามที่อาศัยความคุ้นเคยและความถูกใจจากนักกอล์ฟชักชวนให้ไปร่วมงาน โดยไม่ต้องมีการรับรองจากหน่วยงานใดทั้งนั้น

แต่นั่นกลายเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะเปิดกว้างให้เข้าถึงได้ง่าย แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีความสามารถมากพอ ที่สำคัญยังไม่มีองกรค์ใดเข้ามาช่วยเหลือมอบองค์ความรู้และการจัดการอย่างถูกวิธีให้

“ผมยืนยันได้เลยว่าแคดดี้เป็นอาชีพที่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่ต้องมีใจรักและมีความอดทน ทุกอย่างต้องใช้การเรียนรู้และประสบการณ์ ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความรับผิดชอบ”

“สมัยก่อนนักกอล์ฟไทยจะใช้แคดดี้สนามซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ผมน่าจะเป็นแคดดี้คนไทยคนแรกเลยที่ได้ตามนักกอล์ฟไปแข่งต่างประเทศ จากที่ผมได้ไปเห็นมาหลายประเทศ ผมกล้าพูดเลยว่าแคดดี้ไทยฝีมือไม่แพ้ต่างชาติ เราดีกว่าในเรื่องการดูแลเอาใจใส่นักกอล์ฟแถมค่าจ้างยังถูกกว่าด้วยซ้ำ”

“แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีแคดดี้ไทยไม่ถึงสิบคนไปถึงระดับนี้ได้ เพราะส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ ที่ผ่านมาเราอยู่กันแบบพี่สอนน้อง ครูพักลักจำกันมา ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีแคดดี้ไทยในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นแน่นอน” แคดดี้แถวหน้าของเมืองไทย ทิ้งท้าย

พัฒนาสู่ระดับโลก

ปัจจุบันกีฬากอล์ฟถูกยกระดับ ขึ้นเป็น 1 ใน 14 กีฬาอาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ร่วมกับ ฟุตบอล, เจ็ตสกี, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ, จักรยานยนต์, จักรยาน, รถยนต์, สนุกเกอร์, แบดมินตัน, เทนนิส, โบว์ลิ่ง, บาสเกตบอล และอีสปอร์ต ทำให้นอกจากจะได้งบประมาณจากภาครัฐในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันตามทัวร์นาเมนท์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังนำมาซึ่งเม็ดเงินที่ใช้พัฒนาในทุกภาคส่วน

สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาแคดดี้อาชีพอย่างจริงจัง เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของแคดดี้ไทยที่ไม่น้อยหน้ากว่าชาติใดในโลก จึงได้ร่วมกันพัฒนา “หลักสูตรการฝึกอบรมการเป็นแคดดี้อาชีพ” เพื่อยกระดับมาตรฐานแคดดี้ไทยให้ก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น เพื่อเป็นประตูสู่โอกาสในการสร้างรายได้และสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับแคดดี้

หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบโดย “โปรป้อมเพชร สารพุทธิ” อุปนายกสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ฝ่ายพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านการเป็นโค้ชให้กับนักกอล์ฟแถวหน้าของเมืองไทยมาแล้วมากมายทั้ง “โปรอาร์ม” กิรเดช อภิบาลรัตน์, “โปรโม-โปรเม” โมรียา และ เอรียา จุฑานุกาล (ก่อนเข้าแอลพีจีเอทัวร์), “โปรสายป่าน” ปัณณรัตน์ ธนพลบุญรัศมิ์ โดยปัจจุบันร่วมงานกับ โปรธงชัย ใจดี และดูแลรุกกี้สายเลือดใหม่อีกเกือบ 30 คน

โปรป้อมเพชร ได้นำประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกันนักกอล์ฟในเวทีระดับโลกมาถ่ายทอดเป็นหลักสูตรในการพัฒนาโค้ชและแคดดี้ เพื่อพัฒนาวงการกอล์ฟเมืองไทยให้ยกระดับพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยในส่วนของแคดดี้นั้นเจ้าตัวเชื่อว่าศักยภาพของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ยังขาดเพียงโอกาสเท่านั้น

“ผมไปมาทุกทัวร์นาเมนท์ทั่วโลก กล้าการันตีว่าแคดดี้ไทยมีความสามารถสูงกว่าแคดดี้ต่างชาติ เพียงแต่ว่าเขายังขาดโอกาส เช่น การเดินทางยังไม่สามารถเดินทางคนเดียวได้ เพราะติดเรื่องภาษา เรื่องเงินทุนซัพพอร์ท แต่งานในสนามกอล์ฟนี่แคดดี้ไทยกินขาด” 

“แคดดี้ไทยขอแค่ไปสนามครั้งเดียวก็สามารถเก็บข้อมูลได้ครบทั้งหมด อันนี้เรื่องจริง และยังเป็นคนที่ดูไลน์ค่อนข้างแม่น เพราะพื้นฐานมาจากการที่ประเทศไทยเรามีแคดดี้ตามสนามกอล์ฟอยู่แล้ว ซึ่งแคดดี้ต่างชาติไม่ได้มีทักษะที่สูงไปมากกว่าเราเลย เพียงแต่เขามีความเป็นอาชีพมากกว่าเราเท่านั้นเอง”

“ทางสมาคม ฯ คิดว่าควรจะต้องซัพพอร์ทในส่วนนี้ จึงจัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาแคดดี้อาชีพรุ่นใหม่ ถ้าเราสามารถช่วยเหลือสิ่งที่พวกเขายังขาดได้ เชื่อว่าจะมีนักกอล์ฟต่างชาติจำนวนมากมาจ้างงานแคดดี้ไทย และจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เพราะแคดดี้ที่เก่ง ๆ สามารถทำเงินได้ถึงหลักล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว” โปรป้อมเพชร กล่าวอย่างมั่นใจ

ทั้งนี้ แคดดี้อาชีพในเมืองไทยหลัก ๆ มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.นักกอล์ฟที่รีไทร์ตัวเองแล้วแต่ยังอยากดื่มด่ำบรรยากาศบนแฟร์เวย์อยู่จึงผันตัวเองมาทำหน้าที่นี้ 2.ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานเข้าแข่งขันและต้องการเข้ามาช่วยดูแลในสนาม 3.แคดดี้ประจำสนามต่าง ๆ

ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการจำกัดมาตรฐานผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แคดดี้ บางครั้งจึงเกิดปัญหาตามมา เช่น แคดดี้ช่วยนักกอล์ฟโกงผลการแข่งขัน มีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ดื่มสุราในสนาม แคดดี้ผู้ปกครองอาจจะเดินผิดทางไปเหยียบไลน์คนอื่น หรือใช้เวลาดูแลลูกหลานของตัวเองมากเกินไปจนไปกระทบเวลาของผู้อื่นและเวลาของการแข่งขัน

ทางสมาคมจึงแก้ปัญหาด้วยการออกกฎให้ผู้ที่จะเป็นแคดดี้ต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกของทางสมาคมก่อน จึงจะสามารถทำหน้าที่ในรายการที่ทางสมาคมจัดแข่งขันได้ เพื่อที่จะสามารถควบคุมดูแลและมีบทลงโทษ โดยเสียค่าสมัครเป็นสมาชิกของทางสมาคมปีละ 1,000 บาท พร้อมสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรการเป็นแคดดี้อาชีพได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

นอกจากนี้การเป็นสมาชิกกับทางสมาคมซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ยังทำให้แคดดี้มีสังกัด สามารถระบุแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจนว่ามาจากการทำหน้าที่ในทัวร์นาเมนท์ไหนบ้างโดยมีสมาคมเป็นผู้รับรอง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถนำไปใช้ประกอบการกู้ซื้อบ้านซื้อรถกับทางธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ ต่างจากแคดดี้ทั่วไปที่เป็นเหมือนฟรีแลนซ์และมักจะมีปัญหาในเรื่องนี้

สำหรับ หลักสูตรการฝึกอบรมการเป็นแคดดี้อาชีพ มี 3 ระดับ ประกอบด้วย เลเวลที่ 1 เป็นความรู้พื้นฐานของการเป็นแคดดี้อาชีพ เช่น กฎกติกาเบื้องต้นที่ต้องรู้ในสนาม มารยาทในสนาม วิธีอ่าน Yardage Book (สมุดข้อมูลของการแข่งขัน) การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การดูแลตัวเองเพื่อให้มีสภาพร่างกายพร้อมสำหรับฏิบัติงาน 

เลเวลที่ 2 เป็นเรื่องข้อมูลเบื้องลึกของการทำหน้าที่แคดดี้ในการดูแลนักกีฬาโดยเฉพาะ เช่น หลักจิตวิทยาต่าง ๆ ที่ต้องใช้ดูแลนักกีฬา รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้คำพูดหรือท่าทางต่าง ๆ เพื่อให้นักกีฬาทำผลงานได้ออกมาดีที่สุด ตลอดจนหลักการบริหารจัดการการเดินทาง การจองตั๋วเครื่องบิน การจองโรงแรมที่พัก 

และเลเวล 3 เป็นเรื่องการจัดการตัวเองอย่างไรให้เป็นแคดดี้อาชีพในระดับสูงได้ เช่น การเสริมสมรรถภาพและโภชนาการ การอ่านไลน์บนกรีนเพื่อความแม่นยำ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล ค่าตอบแทน การจัดการการเงิน การเดินไฟแนนซ์ และการฝึกภาคปฏิบัติโดยเป็นผู้ช่วยให้กับแคดดี้มืออาชีพ โดยเมื่อจบหลักสูตรก็จะได้รับใบรับรองจากทางสมาคม

“การอบรมครั้งแรกเมื่อปี 2563 ได้รับเสียงตอบรับที่ดี มีผู้เข้าร่วมหลักสูตร 200 กว่าคน เรายังอยากให้แคดดี้ตามสนามที่อยากพัฒนาฝีมือเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพได้เข้าร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะจากที่ผมได้ไปเห็นมาแล้วทั่วโลก ผมเชื่อว่ามีโอกาสสูงมากที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ถ้าเราเข้าใจการเป็นแคดดี้อย่างแท้จริง”

“ในอนาคตเมื่อข้อมูลทุกอย่างถูกจัดรวมอย่างเป็นระบบ เราก็จะทำฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของทางสมาคมให้กับทั้งโค้ชและแคดดี้ โดยมีฟิลเตอร์ให้ผู้สนใจได้เลือกเลยว่า คุณอยากจะเรียนกอล์ฟหรืออยากจ้างแคดดี้ที่จังหวัดไหน เรตราคาเท่าไหร่ ระบบก็จะคำนวณและโชว์รายชื่อที่เข้าข่ายมาให้คุณได้เลือก พร้อมมีข้อมูลว่าแต่ละคนผ่านการอบรมระดับไหน หรือมีประสบการณ์ในทัวร์นาเมนท์ไหนมาแล้วบ้าง สิ่งนี้จะทำให้เกิดความใส่ใจของตัวแคดดี้เองว่าจะต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะไปอยู่ในจุดที่ได้รับโอกาสในการจ้างงานที่มากขึ้น” โปรป้อมเพชร ทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “แคดดี้” หนึ่งในอาชีพที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนวงการกอล์ฟทั่วโลก ซึ่งหากแคดดี้ไทยได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธีและมีมาตรฐาน เชื่อเลยว่าอาชีพนี้จะยกระดับกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ ในวงการกีฬาแน่นอน