พิมพิชยา ก๊กรัมย์ : จากสนามวอลเลย์ฯ กลางแจ้ง สู่การตบล่าฝันเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่น | Main Stand

พิมพิชยา ก๊กรัมย์ : จากสนามวอลเลย์ฯ กลางแจ้ง สู่การตบล่าฝันเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่น | Main Stand

ลานพื้นปูนกลางแจ้งที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านหนองแขม อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์  นอกจากเป็นสนามวอลเลย์บอลแห่งเดียวประจำชุมชนละแวกนั้นแล้ว

ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดในการเล่นกีฬาชนิดนี้ของ “บีม-พิมพิชยา ก๊กรัมย์” นักตบลูกยางสาว ทีมชาติไทย

จากวันแรกที่เธอแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวอลเลย์บอล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามารถเล่นกีฬาเป็นอาชีพได้ … ในวันนี้ “พิมพิชยา” กำลังจะได้ย้ายไปโกยเม็ดเงินก้อนโต จากการเล่นในลีกวอลเลย์บอลอาชีพที่ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของเหล่านักวอลเลย์ฯ หลายคนที่อยากไปให้ถึงจุดเดียวกับที่เธอทำได้

Set 1 : นักตบจากทุ่งนา

“จุดเริ่มต้นในการเล่นวอลเลย์บอลของเรา เกิดขึ้นตอนประมาณ ป.2 เราเห็นรุ่นพี่ที่เป็นญาติกัน เขาเล่นให้กับทีมโรงเรียน ก็รู้สึกว่าพี่เขาเท่ดีจังเลย อยากลองเล่นบ้างจัง”

“พอดีอาจารย์เอกชัย (สัตยารักษ์) ท่านเห็นว่าเรามีรูปร่างสูง จึงติดต่อมาทางแม่ เราก็เลยได้เริ่มฝึกหัดวอลเลย์บอลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

พิมพิชยา ยังไม่เคยลืมบรรยากาศเก่า ๆ ในวันที่เธอเป็นเพียงแค่เด็กหญิงมือใหม่ ที่ถูกชักชวนจากคุณครูให้ลองเล่นกีฬา “วอลเลย์บอล” เพื่อเอามาปั้นเป็นนักตบตัวแทนโรงเรียนบ้านหนองแขม

สถานศึกษาสมัยประถมของ พิมพิชยา ตั้งอยู่ในตำบลกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกล้อมรอบไปด้วยท้องทุ่งนา อันเป็นแหล่งทำกินหลักของผู้คนที่นี่

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ถ้าพูดถึงสนามวอลเลย์บอล ก็มีแค่ในโรงเรียนเท่านั้น เป็นลานพื้นปูนกลางแจ้ง มีเสาขึงตาข่าย เราก็เริ่มฝึกทุกอย่างจากตรงนั้น พอได้มาสัมผัสกับกีฬาวอลเลย์บอลก็เลยรู้สึกชอบ”

“ตอนนั้นเรายังไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือมีความฝันว่า โตไปจะต้องไปเล่นวอลเลย์บอลลีกอาชีพ หรือไปติดทีมชาติให้ได้ เพราะเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวอลเลย์บอล”

“เราไม่รู้ว่ากีฬาชนิดนี้ ถ้าหากเรามีความสามารถมากพอ ก็จะทำเงินทำทองให้เราได้ เราไม่รู้เลย ตอนนั้นเหตุผลเดียวที่เราเล่นวอลเลย์บอลก็เพราะว่ามันสนุก และเราแค่รู้สึกว่าผู้หญิงที่เล่นกีฬาเป็นมันดูเท่ แค่นี้เลย”

Set 2 : สัมผัสมืออาชีพ

พิมพิชยา อาจไม่ได้คิดฝันไกลหรือมองอะไรที่เกินตัว ทว่าด้วยความสามารถที่เธอมี ก็ทำให้เธอกับเพื่อนอีกคนหนึ่งจากโรงเรียนบ้านหนองแขม ถูกยืมตัวไปร่วมเล่นกับ โรงเรียนอนุบาลลำปลายมาศ ทีมประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ลงแข่งขันรายการวอลเลย์บอลวิทยุ-การบินฯ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี

ผลปรากฏว่า สถานศึกษาจากบุรีรัมย์ สามารถผงาดซิวแชมป์ในศึกวอลเลย์บอลนักเรียนรายการใหญ่ระดับประเทศมาครองได้

โดยหลังจบการแข่งขัน “พิมพิชยา” ก็ได้รับข้อเสนอจากหลายโรงเรียน ที่อยากดึงตัวเธอไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ก่อนที่คุณแม่เธอจะตัดสินใจเลือก โรงเรียนกีฬานครนนท์วิทยา 6

ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านวอลเลย์บอล ตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล แถมยังมีสโมสรอาชีพในลีกรองรับอีกด้วย จึงน่าจะช่วยให้ลูกสาวมีเส้นทางอนาคตที่สดใส

“ตอนที่เราย้ายมา โรงเรียนก็เริ่มทำทีมวอลเลย์บอลอาชีพแล้ว แต่ช่วง ม.ต้น เราก็ยังไม่เคยคิดถึงการเล่นอาชีพเลยนะ

“เพราะว่าที่นี่ซ้อมหนักมาก โค้ช (ธนกฤต อินเลี้ยง) เข้มงวดมาก เคร่งเรื่องระเบียบวินัยสุด ๆ ก็รู้สึกว่ามันหนักเกินไป ไม่อยากเล่นแล้ว”

“แต่พอเราออกไปแข่งแล้วได้แชมป์ มีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาตลอด มันทำให้ความรู้สึกที่เคยเหนื่อย เคยท้อหายไปเป็นปลิดทิ้ง และบันดาลใจให้อยากเล่นต่อไปเรื่อย ๆ”

“จริง ๆ สมัย ม.ต้น เราก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากมาย คิดแค่ว่า เราเล่นเพื่อหวังจะได้โควต้าเรียนฟรีต่อในระดับมัธยมฯ กับมหา’ลัย”

“ไม่ได้คิดว่าต้องเล่นลีกอาชีพ และไม่เคยคิดเลยว่ามันจะพามาไกลจนถึงขั้นติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้”

Set 3 : ปีเปลี่ยนชีวิต

แม้ไม่ได้คาดหวังหรือฝันไกลจนกดดันตัวเองมากเกินไป แต่ทุกครั้งที่ลงสนาม พิมพิชยา ก็มักแสดงความเป็นนักสู้ออกมาให้เห็น เธอตั้งเป้าหมายกับตัวเองเสมอว่า “ต้องทำให้ดีที่สุด” และเต็มที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทัศนคติแบบนี้เอง บวกกับการลงมือทำอย่างจริงจัง จึงทำให้เธอได้รับโอกาสเซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาอาชีพกับสโมสร 3BB นครนนท์ ตอนอายุ 16 ปี

“เราลงแข่งแมตช์ระดับเยาวชนให้โรงเรียนมาตลอด มีรายการหนึ่งตอนนั้นเราอยู่ ม.3 แต่ต้องข้ามรุ่นไปเล่นกับรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดี แมวมองจากทีมชาติจึงเรียกไปเก็บตัวรุ่น U-19 ทีมชาติไทย”

“ช่วงที่เก็บตัวกับทีมชาติชุดเยาวชน โค้ชดันให้ลองขึ้นไปซ้อมกับพี่ ๆ ทีมชาติชุดใหญ่ เพื่อเก็บประสบการณ์ พอขึ้น ม.4 ก็ได้เริ่มเล่นลีกอาชีพ”

พิมพิชยา กลายเป็นนักวอลเลย์บอลอาชีพเต็มตัว ด้วยวัยเพียงแค่ 16 ปี ท่ามกลางลีกอาชีพที่เต็มไปด้วยผู้เล่นประสบการณ์สูง แต่เธอก็พยายามเรียนรู้ พัฒนาแก้ไขผิดพลาดมาตลอด จนสามารถยึดตัวหลักของสโมสร 3BB นครนนท์ ได้

“ช่วงแรกที่เล่นลีกอาชีพ นับถือใจโค้ชเลยที่กล้าให้โอกาสเด็กลงเล่น จริง ๆ ตอนนั้นหลายคนมองว่าเราเล่นได้ดีแล้วสำหรับเด็กอายุแค่นี้ แต่ในใจเราบอกกับตัวเองว่า ยังต้องพัฒนาอีกเยอะเลย เราตีได้ดี เราทำคะแนนได้เยอะก็จริง แต่เรารับบอลแทบไม่ได้เลย”

“พอเราเล่นกีฬาเป็นอาชีพก็ต้องจริงจังกับมันให้มากกว่าเดิม ทั้งการฝึกทักษะต่าง ๆ รวมถึงการดูแลรักษาร่างกายตัวเองให้ดี เพราะเราเล่นกีฬา ต้องใช้ร่างกายทำมาหากิน ถ้าเราไม่ดูแลร่างกาย เราก็คงไม่พร้อมสำหรับโอกาสที่จะเข้ามา”

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังจากประเดิมเล่นวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก ในปี 2015 “พิมพิชยา ก๊กรัมย์” ก็ถูกเรียกเข้าไปติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ขณะอายุเพียงแค่ 17 ปี

“ทุกอย่างเข้ามาเร็วมากค่ะปีนั้น จากเล่นทีมชาติชุดเยาวชน เล่นลีกอาชีพครั้งแรก ก็กระโดดมาทีมชาติไทยชุดใหญ่ไปแข่งซีเกมส์ (ปี 2015) และวอลเลย์บอล เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ในปีเดียวกันเลย”

“ตอนแรกก็รู้สึกตื่นเต้นและเกร็งด้วย เพราะทีมชาติชุดใหญ่มีแต่รุ่นพี่เก่ง ๆ ทั้งนั้น ทำตัวไม่ถูกเลย เวลาไปซ้อมก็เห็นได้ชัดว่าเรายังด้อยกว่าพวกพี่เขา สกิลเรายังไม่แน่นพอ”

“เราคิดเสมอว่ามีคนอีกมากมายที่อยากติดทีมชาติชุดใหญ่ ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาตัวเอง เราก็จะตามพี่ ๆ เขาไม่ทัน และอาจเสียโอกาสนี้ไป ก็ต้องขอบคุณโค้ชด้วยค่ะ ที่ให้โอกาสเราติดทีมชาติมาตลอด แม้เป็นผู้เล่นอายุน้อย”

Set 4 : เราทำได้ น้อง ๆ ก็ได้

การได้ลงสนามเป็นตัวแทนทีมชาติไทยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ชื่อของ “พิมพิชยา ก๊กรัมย์” เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น มีแฟนคลับมากมายจากทั่วประเทศติดตามเธอ รวมถึงนี่ยังเป็นใบเบิกทางชั้นดีสู่การไปเล่น วอลเลย์บอลอาชีพในต่างแดนอีกด้วย

“จริง ๆ มันเป็นเป้าหมายของเราเลยนะที่อยากไปเล่นต่างประเทศทุกปี เพราะหลายชาติชั้นนำ ลีกอาชีพบ้านเขาให้ค่าตอบแทนที่ดีเลย”

“แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราต้องเริ่มจากทำผลงานส่วนตัวให้ดีก่อน ทั้งในระดับทีมชาติและสโมสร เพื่อที่จะได้มีสโมสรต่างประเทศมาสนใจ”

“ปีที่แล้ว เราเคยได้รับการติดต่อผ่านทางเอเยนต์ว่า มีสโมสรจากญี่ปุ่นสนใจอยากดึงไปร่วมทีม แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก และรายละเอียดสัญญาที่ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ เราจึงปฏิเสธดีลนั้นไป”

“ตอนแรกก็ลุ้นอยู่เหมือนกันว่าปีนี้เขาจะติดต่อกลับมาอีกไหม ก็ดีใจที่สุดท้ายทางทีมคูโรเบะ อคาเเฟรีส์ จากลีกอาชีพญี่ปุ่น ติดต่อกลับมา เราจึงตอบตกลงไป” พิมพิชยา ผู้เคยมีประสบการณ์ในการเล่นลีกอาชีพที่อินโดนีเซียกล่าว

วอลเลย์บอล จึงถือเป็นกีฬาที่เปลี่ยนชีวิตของ พิมพิชยา ก๊กรัมย์ อย่างแท้จริง มันทำให้เธอได้มีอาชีพการงาน มีรายได้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างดี และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จของ พิมพิชยา ยังชี้ทางให้เด็กผู้หญิงรุ่นหลัง ๆ อยากก้าวเดินตามรอยเท้า โดยมองเธอเป็นไอดอล

เมื่อไหร่ก็ตามที่ พิมพิชยา มีเวลาว่าง ได้ลาพักกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เธอก็ไม่เคยลืมที่จะกลับไปหาคุณครูคนแรก รวมถึงโรงเรียนเก่าสมัยประถมฯ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ต่อไป

“เราจะได้กลับมาแค่ปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่กลับไปก็จะมีชาวบ้านมาพูดตลอดว่า เขายินดีด้วยนะที่ติดทีมชาติ เขาก็ติดตามดูแมตช์แข่งตลอดเลย”

“ถ้ามีเวลาก็ไปเยี่ยมโค้ชตลอด เพราะทุกวันนี้อาจารย์เอกชัย ก็ยังทำทีมโรงเรียนอยู่ เวลาเด็ก ๆ รุ่นน้องเจอเรา ก็จะวิ่งกันรุมเข้ามาถ่ายรูป บอกกับเราว่าเคยเห็นเราในทีวีด้วย (หัวเราะ) และขอให้เราช่วยสอนวอลเลย์บอลให้เขาหน่อย”

คำถามสุดท้ายของการสัมภาษณ์ ผมถามเธอว่า “มีคำพูดอะไรที่คุณใช้สอนน้อง ๆ นักกีฬาเหล่านี้ เพราะคุณเองก็เริ่มต้นจากจุดเดียวกันกับพวกเขา ?”

“เราจะบอกน้อง ๆ ตลอด หากน้องอยากไปถึงจุดนั้น น้องต้องมีระเบียบวินัย พี่เชื่อว่ายังไงน้องก็จะทำมันสำเร็จได้เหมือนกัน ถ้ายอมเหนื่อย ยอมอดทนกับสิ่งที่เรากำลังทำ ” นี่เป็นคำตอบสุดท้ายของ พิมพิชยา