อธิคุณ ปิ่นทอง : นักวิเคราะห์เกมฟุตบอลชาวไทยวัย 21 ปีที่ได้ทำงานกับเซาธ์แฮมป์ตัน | Main Stand

ถ้าคุณหลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งโลกลูกหนังแต่ฝีเท้าไม่ได้เก่งกาจพอที่จะก้าวขึ้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทว่ายังอยากคลุกคลีอยู่ในบรรยากาศที่คุณรักต่อไปคุณจะทำอย่างไร ?

 

โค้ช … ผู้จัดการทีม … เทรนเนอร์ฟิตเนส … นักโภชนาการ … นักวิทยาศาสตร์การกีฬา … ผู้สื่อข่าว ฯลฯ

ในยุคที่อุตสาหกรรมฟุตบอลเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีอาชีพที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมายให้คุณได้เดินตามความฝันต่อไป ไม่ใช่เฉพาะภายในสนามเท่านั้น แต่รอบนอกสนามยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญไม่แพ้กัน

เช่นเดียวกับ อธิคุณ ปิ่นทอง เด็กหนุ่มเมืองกรุงวัย 21 ปี ที่ตัดสินใจเลือกเดินต่อบนเส้นทางสายฟุตบอลที่ตัวเองชื่นชอบ แต่เป็นในสายงานที่แตกต่างออกไป แถมยังเป็นเส้นทางใหม่ที่คนไทยเพียงไม่กี่รายเคยบุกเบิก ด้วยความคิดที่ว่าอยากจะทำให้ฟุตบอลไทยพัฒนามากยิ่งขึ้น นั่นก็คือการเป็น “นักวิเคราะห์เกมฟุตบอล” 

เขาไม่ได้แค่เพียงฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่ยังได้ลงมือทำมันอย่างจริงจังจนมีโอกาสได้ไปร่วมทำงานกับสโมสรอาชีพถึงประเทศอังกฤษ และเตรียมที่จะทำงานร่วมกับสโมสรเซาธ์แฮมป์ตัน ทีมดังแห่งศึกพรีเมียร์ลีก อีกด้วย

เรื่องราวของนักวิเคราะห์เกมฟุตบอลชาวไทยที่ไปท้าทายความฝันถึงดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งลูกหนังจะเป็นอย่างไร และตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไรในฟุตบอลยุคปัจจุบัน ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ Main Stand

 

ฟุตบอลไม่ได้อยู่แค่ในสนาม

ก่อนจะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวิเคราะห์เกมฟุตบอล อธิคุณนั้นไม่ต่างจากวัยรุ่นผู้ชายส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาออกกำลังกาย และการที่เขาได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 1 ใน 4 สถาบันขาสั้นแห่งศึกจตุรมิตร ยิ่งทำให้เขาได้ซึบซับบรรยากาศของกลิ่นอายฟุตบอลที่รุ่นพี่ปลูกฝังกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ยังอยู่มัธยมต้น 

ความชื่นชอบในฟุตบอลของเขาเริ่มก่อตัวมากขึ้นถึงขนาดเคยไปคัดตัวกับทีมเยาวชนของสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อหวังถึงการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเลยทีเดียว 

แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ สุดท้ายแล้วอธิคุณไม่ผ่านการคัดเลือก ฝีเท้าของเขาไม่ดีพอจะก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่เขาก็ไม่ถอดใจ เก็บงำความชอบที่มีไว้ภายในใจอยู่ตลอดเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีช่องทางอื่นให้เขาเลือกเดิน

“ผมชอบเล่นและชอบดูฟุตบอล แต่ก็ไม่ได้เล่นเก่งอะไร ตอนเด็กเคยไปคัดตัวก็ไม่ติด แต่ผมก็ไม่ได้ทิ้งมันไป ยังคงติดตามดูอยู่ตลอด มองว่าในวงการฟุตบอลยังมีช่องทางที่สามารถไปต่อได้อีกเยอะไม่ใช่แค่เป็นนักฟุตบอล ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เรื่องการเป็นโค้ช และอีกหลาย ๆ อย่าง”

“พอจบ ม.6 เลยอยากไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ เพราะเชื่อว่าประเทศอังกฤษโด่งดังเรื่องฟุตบอลและน่าจะมีอะไรหลายอย่างที่เราเคยไม่รู้ให้ได้ลอง ตอนนั้นต้องเลือกว่าจะเรียนฟุตบอลหรือเรียนตามเพื่อน แต่สุดท้ายผมก็เลือกเรียนสิ่งที่ผมถนัดมากกว่า” อธิคุณ หรือ “เลี้ยง” เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ย้อนความถึงจุดเริ่มต้นด้วยแววตาจริงจัง

หลังจากที่รู้ว่าใจตัวเองต้องการที่จะทำอะไร เขาจึงได้บอกเล่าความฝันชิ้นนี้ให้ครอบครัวได้ฟัง ซึ่งครอบครัวของอธิคุณถือว่าเป็นครอบครัวที่พอจะมีฐานะในระดับหนึ่ง คุณพ่อและคุณแม่ประกอบธุรกิจโรงแรมในชื่อ “คูลลิฟวิ่ง ฟาร์มเฮ้า” และจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกของตัวเอง พวกเขามีกำลังทรัพย์มากพอที่จะส่งลูกชายคนโตไปเรียนต่อที่ยุโรปได้อย่างไม่มีปัญหา ติดเพียงว่าสิ่งที่เจ้าตัวเลือกนั้นอาจจะดูเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจอยู่บ้าง

“ตอนไปบอกกับที่บ้านก็มีปัญหาพอสมควร เพราะคุณแม่ไม่เข้าใจฟุตบอลเลย ตอนแรกก็มีข้อโต้เถียงกันว่าไปแล้วมันจะดีจริงเหรอ ทำไมไม่ไปเรียนด้านบริหารหรือด้านการตลาดอะไรแบบนั้น แต่โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนที่ชอบดูฟุตบอลเหมือนกัน เลยช่วยอธิบายให้คุณแม่ฟังได้ดีว่า ฟุตบอลตอนนี้มันเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น มันมีมูลค่ามหาศาลอย่างมาก”

“ในวงการฟุตบอลมีหน้าที่ต่าง ๆ ที่เป็นการทำงานที่ดีเช่นกัน และยังมีอีกหลายหน้าที่ที่เรายังไม่รู้จัก เพราะฟุตบอลมันไม่ได้มีแค่เฟิร์สทีมแล้วจบเลย แต่มันมีอีกเยอะมาก และยังมีตั้งแต่ระดับเยาวชน 9 ปี ไปจนถึงทีมชุดใหญ่ สุดท้ายคุณแม่ก็เข้าใจแล้วก็อนุญาตให้ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Southampton Solent University คณะ BA (Hons) Football Studies ซึ่งสอนเกี่ยวกับฟุตบอลโดยเฉพาะ ต้องขอบคุณครอบครัวมาก ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้ผมได้ทำสิ่งที่ชอบ”

การได้ไปเรียนศาสตร์ลูกหนังบนดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของฟุตบอล ทำให้อธิคุณได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งด้านฟุตบอลโค้ชชิ่ง ด้านจิตวิทยา ด้านบริหารจัดการฟุตบอล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเวลานั้นเขาต้องค้นหาตัวเองให้เจอแล้วว่าต้องการที่จะทำอะไร ก่อนจะได้รู้จักกับการเป็น “นักวิเคราะห์เกมฟุตบอล” หรือ “Football Analysis” สิ่งที่เขามองว่ามันลงล็อกกับความเป็นตัวเองมากที่สุด

“อาจารย์ให้เราค้นหาตัวตนของตัวเองว่าอยากจะเป็นอะไร ผมก็ลองมานั่งดูตัวเองก็พบว่าตัวเองเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง พูดไม่ได้คมกริบอะไร แต่เป็นคนที่วิเคราะห์อะไรได้ค่อนข้างโอเค เลยตัดสินใจว่าอยากจะเป็นนักวิเคราะห์เกม”

“ผมว่าผมชื่นชอบที่จะวิเคราะห์ฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เพราะตอนที่ผมเล่นบอล ผมไม่ได้แค่ชอบเตะฟุตบอลอย่างเดียว แต่ผมยังอยากรู้เรื่องของแทคติกให้มากขึ้น อยากรู้ว่าเราควรจะวิ่งยังไงให้ได้เปรียบคู่แข่ง หรือเราควรมีข้อมูลเบื้องลึกว่าจะโจมตีคู่แข่งยังไงบ้าง ถ้าเราเป็นทีมที่ด้อยกว่าเราก็ควรมีจุดแข็งที่ไปใช้โจมตีคู่แข่ง ไม่ใช่ไปเล่นแบบปกติเหมือนเดิม ผมอยากจะช่วยให้นักเตะเก่งขึ้นโดยนำในเรื่องของแทคติกและข้อมูลมาช่วย”

“อีกอย่างผมเป็นคนชอบทำวิดีโอ ผมชอบดูยูทูบ และหลงใหลในเรื่องของการตัดต่อ ซึ่งการเป็นนักวิเคราะห์มันต้องใช้ทักษะในส่วนนี้ด้วย เพราะนอกจากจะต้องทำข้อมูลและสถิติแล้วเราต้องพรีเซ็นต์มันออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอให้โค้ชและนักเตะสามารถเข้าใจได้ง่าย มันจึงเป็นแรงบันดาลใจอีกทาง” อธิคุณ เผย

เมื่อการตัดสินใจทุกอย่างลงตัว สิ่งต่อมาก็คือลงมือทำให้เป็นจริง

 

บทบาทของนักวิเคราะห์

ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ฟุตบอลไม่ได้วัดกันที่ 11 ตัวจริงในสนามเพียงอย่างเดียว มีหลากหลายองค์ประกอบที่จะเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพและฝีเท้าของนักฟุตบอลให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลและสถิติเชิงลึกต่าง ๆ ที่สามารถวัดและแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรมมากกว่าที่สายตามองเห็น

นักวิเคราะห์เกมฟุตบอลจึงเป็นบทบาทที่มีความสำคัญในโลกลูกหนังมากขึ้นเรื่อย ๆ หน้าที่ของพวกเขาคือการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของทีมตัวเองและทีมคู่แข่ง เพื่อนำไปเสิร์ฟให้โค้ชพิจารณาเป็นแนวทางในการทำทีม ดังเช่นภาษิตโบราณที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

อธิคุณรับรู้ในสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี หลังจากที่ตัดสินใจก้าวเดินบนเส้นทางการเป็นนักวิเคราะห์เกมฟุตบอลแล้ว สิ่งต่อไปที่เขาต้องทำคือการฝึกฝนตัวเอง

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองยังมีหนุ่มไทยอีกรายที่หลงใหลในการวิเคราะห์แทคติกฟุตบอลเช่นกัน นั่นก็คือ “อ๊อตโต้” พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ ผู้ก่อตั้งเพจ The Next Coach เพจที่เกิดจากความฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่อยากจะเป็นโค้ชฟุตบอล จึงได้เริ่มต้นลงมือทำด้วยการเผยแพร่แนวคิดด้านแทคติกฟุตบอลของตัวเองให้โลกได้รับรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

พวกเขาทั้งคู่ได้ร่วมกันทำเพจนี้อย่างจริงจังเพื่อโชว์ฝีมือของตัวเอง โดยช่วงแรกอธิคุณจะดูแลเรื่องการตัดต่อคลิปวิดีโอลงบนยูทูบตามที่ตัวเองถนัด

“นักวิเคราะห์เกมคือผู้ช่วยโค้ชคนหนึ่งที่ดูแลเรื่องเทคนิคและแทคติกของฟุตบอล โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้นักเตะเข้าใจว่าแต่ละระบบต้องเล่นอย่างไร ระบบ 4-2-3-1 ทำงานยังไง ระบบ 3-4-3 ทำงานยังไง การทำงานของนักเตะแต่ละคนเป็นยังไง การเคลื่อนที่ของบางคนอาจทำให้ทีมเล่นง่ายขึ้น ในจังหวะไหนควรตัดสินใจยังไง ช่วงเวลานี้หรือพื้นที่นี้ควรทำอย่างไร เป็นการช่วยให้ทำการตัดสินใจดียิ่งขึ้น”

“นอกจากทีมตัวเองแล้วยังต้องวิเคราะห์ทีมคู่แข่งด้วย เราต้องพรีเซ็นต์หรือสร้างวิดีโอให้โค้ชเห็นว่าคู่แข่งเล่นอย่างไรบ้าง และเราจะมีวิธีอย่างไรที่จะโจมตีหรือป้องกันคู่แข่ง ”

“การทำงานจะอยู่กับวิดีโอและข้อมูลค่อนข้างเยอะ เป็นสองอย่างที่ต้องชำนาญ เพราะเราต้องทำวิดีโอเพื่อพรีเซ็นต์ให้โค้ชและนักเตะเข้าใจ เราต้องทำให้ภาพที่ออกมาสวยและดี เช่น การทำโมติเวชั่นวิดีโอ มันต้องใช้ไอเดียค่อนข้างเยอะ เราจะทำยังไงให้นักเตะชอบ เราจะยิงมุกยังไงบ้างให้นักเตะผ่อนคลาย หรือทำยังไงให้นักเตะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ผมจึงได้เริ่มฝึกฝนสิ่งเหล่านี้มาตลอดในช่วงที่ทำเพจ” อธิคุณ กล่าว

หลังจากได้ฝึกปรือฝีมืออยู่พักใหญ่ โอกาสแรกในการลงสนามจริงก็มาถึง แถมยังเป็นการได้ทำงานในระดับทีมชาติไทยที่เจ้าตัวไม่เคยคาดคิด 

ลงสังเวียนจริง

การได้ร่วมงานกับรุ่นพี่อย่าง “อ๊อตโต้” พันธุ์นารายณ์ ทำให้อธิคุณถูกชักชวนให้เข้ามาลองฝึกงานเป็นนักวิเคราะห์เกมที่สโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ชุด B ในช่วงปิดเทอม 

ด้วยความที่เป็นเด็กหนุ่มไฟแรง มีทั้งความขยันและมุ่งมั่น ทำให้การทำงานของเจ้าตัวไปเข้าตา “โค้ชเชน” ประสบโชค โชคเหมาะ โค้ชดีกรีโปรไลเซนส์ และโค้ชผู้รักษาประตูทีมแข้งเทพ ที่ดึงตัวเขาไปร่วมงานกับทีมชาติไทย ชุด ยู-19 ปี ที่มี “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร เป็นกุนซือ ลุยภารกิจสำคัญ 2 รายการ คือ ชิงแชมป์อาเซียน 2018 และชิงแชมป์เอเชีย 2019

“ได้มาทำงานให้ทีมชาติไทยมันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะได้โอกาสเร็วขนาดนี้ ผมเพิ่งเรียนปี 1 อายุแค่ 19 เอง หน้าที่ของผมหลัก ๆ คือคอยช่วยทำวิดีโอให้กับโค้ชหระเพื่อพรีเซ็นต์แทคติกให้นักเตะเข้าใจ”

“ถึงผลงานของทีมจะไม่ค่อยดี ตกรอบทั้งสองรายการ แต่สำหรับผมถือว่าได้เรียนรู้อะไรมากมายจากทีมสตาฟโค้ช ได้รู้ระบบการทำงานของทีมชาติไทยว่าเป็นอย่างไร ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ”

การได้เข้ามาทำงานในนามทีมชาติไทย ทำให้โปรไฟล์ของอธิคุณก้าวกระโดดเกินเพื่อนร่วมรุ่น ก่อนจะได้รับโอกาสจากทางมหาวิทยาลัยยื่นเรื่องสมัครเข้าฝึกงาน หรือ Internship กับสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมดังแห่งศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ


“หลังจบจากทีมชาติไทย ทางมหาวิทยาลัยเสนอโอกาสให้ผมได้สัมภาษณ์กับสโมสรเวสต์แฮม ในบทบาทของทีมอคาเดมี แต่ตอนนั้นผมยังไม่มีประสบการณ์ นึกว่าตัวเองเก่งแล้ว ตอนสัมภาษณ์เลยตอบไปอย่างมั่นใจว่าอยากจะทำงานร่วมกับเฟิร์สทีม (ทีมชุดใหญ่) ของสโมสรระดับพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นการตอบที่ผิดพลาด เพราะเขาไม่ได้ต้องการในสิ่งนั้น เขาอยากได้คนไปทำในส่วนของอคาเดมี สุดท้ายจึงไม่ได้รับเลือก”

“สิ่งนี้ถือเป็นประสบการณ์ของผมอย่างมาก ทำให้เรารู้ว่าเราต้องศึกษาทีมและรายละเอียดให้ดีก่อนสัมภาษณ์ พอปี 3 ทางมหาวิทยาลัยได้ยื่นโปรไฟล์ผมเสนอให้กับสโมสรอ็อกฟอร์ด ยูไนเต็ด ทีมในระดับดิวิชั่น 3 ผมจึงตอบตกลงแล้วใช้ประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดมาปรับปรุงในการสอบสัมภาษณ์จนได้เข้าฝึกงานที่นี่ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ของทีม ยู-18” 

อ็อกฟอร์ด ยูไนเต็ด สโมสรในลีกระดับ 3 ของอังกฤษ รองจากพรีเมียร์ลีก และแชมเปี้ยนชิพ แม้จะไม่ใช่สโมสรขนาดใหญ่แต่การจัดการและระบบทุกอย่างยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานระดับฟุตบอลอาชีพ ที่นี่ “เลี้ยง” ได้รับอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่

หน้าที่หลักของอธิคุณแบ่งเป็น 3 ส่วน ไล่ตั้งแต่ก่อนเกมที่ต้องเดินทางไปสนามซ้อมเพื่อติดตั้งกล้องมุมสูงสำหรับบันทึกภาพการฝึกซ้อมของนักเตะในทีม เพื่อนำไปตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอร่วมกับโปรแกรมวิเคราะห์เชิงสถิติต่าง ๆ ทั้งค่าการวิ่ง การจ่ายบอล การยิงประตู ฯลฯ ให้กับโค้ชไว้ใช้งาน นอกจากนี้ยังต้องดูการแข่งขันของคู่แข่งย้อนหลัง 5-6 เกมเป็นอย่างน้อย เพื่อสรุปให้โค้ชได้เห็นว่าในแต่ละแดนคู่แข่งเล่นกันแบบไหนบ้าง 

ขณะที่วันแข่งขันจริงก็ต้องทำหน้าที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลแบบไลฟ์ไทม์ระหว่างเกม เพื่ออธิบายให้โค้ชได้รับรู้ว่าคู่แข่งเล่นอย่างไร เช่น คู่แข่งเน้นการใช้ปีกโจมตีระหว่างไลน์ต้องรับมืออย่างไร หรือถ้าทีมโดนเจาะฝั่งซ้ายบ่อย ต้องแก้ปัญหาอย่างไร

หลังจากนั้นจบเกมก็ต้องสรุปการแข่งขันทั้งหมดเสนอเป็นข้อมูลให้กับโค้ชได้รับรู้ว่าแต่ละเกมมีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งไอเดียให้โค้ชได้นำไปใช้ต่อได้ ก่อนที่เขาจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมชุด ยู-18 คว้าแชมป์ยูธลีกได้สำเร็จ


“การได้มาทำที่อ็อกฟอร์ดทำให้ผมเข้าใจในระบบอคาเดมีมากขึ้น ที่นี่เป็นสโมสรที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้เรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ต้องทำคนเดียวทั้งหมดไล่ตั้งแต่ดูเกม อัดคลิป วิเคราะห์เกม ตัดคลิป ทำวิดีโอพรีเซ็นต์ให้นักเตะเห็น ต้องไปติดตั้งกล้องมุมสูงถ่ายนักเตะฝึกซ้อมด้วยตัวเอง”

“แต่ถ้าเป็นสโมสรใหญ่ก็จะเป็นระบบมากขึ้น มีหัวหน้าฝ่าย มีผู้ช่วย ดูเป็นทีมมากกว่า แล้วก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น มีกล้องติดที่สนามอยู่แล้ว เราสามารถควบคุมกล้องได้เองจากที่ออฟฟิศหรือที่บ้านเลยก็ได้ มันก็เป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง”

“สิ่งสำคัญอีกอย่างของการเป็นนักวิเคราะห์คือจะทำยังไงให้โค้ชเชื่อใจ การสร้างความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากเพราะเราเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นนักวิเคราะห์คือเราใช้วิดีโอและข้อมูลเป็นตัวบอกข้อเท็จจริงว่านี่คือสิ่งที่เขาทำ ถึงแม้ว่าโค้ชจะมีมุมมองของเขาแต่เขาก็อาจได้เห็นบางอย่างจากเราที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ โค้ชบางคนอาจจะไม่ยอมรับเราตั้งแต่แรก เราก็ต้องพยายามทำผลงานโชว์ให้เขาได้เห็นเรื่อย ๆ ให้เขาเชื่อใจ เราต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์กับโค้ช”

หลังจากบ่มเพาะฝีมือจนได้ที่ โอกาสสำคัญก็ก้าวเข้ามาในชีวิตของอธิคุณอีกครั้ง เมื่อสโมสรเซาธ์แฮมป์ตัน แห่งศึกพรีเมียร์ลีก เปิดรับสมัครฝึกงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์เกมของทีมชุด ยู-23 “เลี้ยง” จึงไม่รีรอที่จะกรอกใบสมัคร พร้อมยื่นโปรไฟล์การทำงานที่ทีมชาติไทย, สโมสรอ็อกฟอร์ด และผลงานในเพจ The Next Coach ให้พิจารณา จนได้รับเลือกในที่สุด  

ทว่าการฝึกงานที่นี่ติดปัญหาเล็กน้อย เพราะเจ้าตัวเคยใช้โควตาฝึกงานกับสโมสรอ็อกฟอร์ดไปแล้ว จึงไม่สามารถใช้ซ้ำ 2 รอบได้ แต่ยังมีความโชคดีเมื่อทางสโมสรให้โอกาสเจ้าตัวได้เข้ามาทำเป็นพาร์ตไทม์คอยช่วยทีมวิเคราะห์ให้กับทีมก่อนในฤดูกาลนี้

“ตอนนี้ยังติดเรื่องเอกสารจากประเทศไทยเล็กน้อย คาดว่าจะเริ่มทำงานได้ช่วยปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางสโมสรก็ให้โอกาส ปีหน้าถ้าผมเรียนจบมหาวิทยาลัยก็จะได้ทำงานให้เฟิร์สทีมของยู-23 เลย ซึ่งก็เป็นข้อดีที่จะทำให้เราได้เรียนรู้โครงสร้างของทีมก่อนเริ่มงานจริง เป้าหมายของผมในตอนนี้คืออยากจะทำให้เต็มที่กับเซาธ์แฮมป์ตัน แสดงให้เขาเห็นว่าเราอยากทำงานที่นี่ต่อในอนาคต และถ้าทำได้ดีก็มีโอกาสจะได้สัญญาฟูลไทม์ต่อไป” อธิคุณ เปิดใจ

 

ไม่จบแค่การเป็นโค้ช

การเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โลกของฟุตบอลได้ ถึงแม้คุณจะเล่นฟุตบอลไม่เก่งก็ตาม ปัจจุบันมีโค้ชหลายคนที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นนักวิเคราะห์มาก่อน ที่สำคัญตำแหน่งนี้ยังเป็นที่ต้องการของทั่วโลก

อธิคุณเล่าให้ฟังว่าที่ประเทศอังกฤษและอีกหลายชาติทั่วโลก มีการเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งนี้เป็นประจำ เพราะหลายทีมเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ยิ่งเป็นสโมสรใหญ่ยิ่งต้องการบุคลากรจำนวนมาก ทั้งเฟิร์สทีม ที่อย่างต่ำต้องมี 4-5 คน ไปยันทีมชุด ยู-23, ยู-18 จนถึงชุดเด็ก

นอกจากนี้ค่าจ้างก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นักวิเคราะห์เกมในระดับแชมเปี้ยนชิพหรือลีกรองลงมา อัตรค่าจ้างจะอยู่ที่ราว 20,000 ปอนด์/ปี (ราว 880,000 บาท) ซึ่งถ้าเป็นในระดับที่สูงขึ้นมาอย่างพรีเมียร์ลีก ก็จะมีค่าจ้างสูงขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว

“การเป็นนักวิเคราะห์เป็นเส้นทางหนึ่งที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมฟุตบอลได้เร็วขึ้น ต่อยอดไปสู่การเป็นโค้ชและเป็นผู้ช่วยได้ง่ายขึ้น ส่วนตัวผมเองผมไม่ได้อยากเป็นโค้ชเท่าไหร่ ผมชอบที่จะช่วยให้นักเตะเข้าใจแทคติกเพิ่มขึ้นมากกว่า เป้าหมายของผมจึงอยากที่จะเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์ หรือเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค (Technical Director) ไปเลย”

“ในอนาคตผมยังอยากเข้ามาช่วยทีมชาติไทยรวมถึงฟุตบอลไทยให้ดียิ่งขึ้น สโมสรในประเทศไทยยังขาดเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างลึกซึ้งค่อนข้างเยอะ ทั้งการวางแผนในอนาคต การเลือกผู้เล่น หลายครั้งเราเลือกผู้เล่นจากความรู้สึกหรือกระแสแฟนบอลมากเกินไป”

“บางสโมสรมีนักวิเคราะห์ต่างชาติ บางสโมสรผู้ช่วยโค้ชเป็นคนทำเอง ตัดต่อวิดีโอเอง เรายังขาดการใช้โปรแกรมอย่างลึกซึ้ง เช่น สถิติของเราเป็นอย่างไร คู่แข่งบิวด์อัพยังไง หรืออินไซด์ข้อมูลเบื้องลึกมากขึ้น รวมถึงการทำแอนิเมชั่นให้นักเตะและโค้ชเข้าใจง่ายขึ้น โลกฟุตบอลทุกวันนี้เราเล่นกับเทคโนโลยีมากขึ้น เล่นกับข้อมูลดาต้ามากขึ้น”

อธิคุณยังทิ้งท้ายฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากก้าวขึ้นมาเป็นนักวิเคราะห์เกมฟุตบอลด้วยว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกคน ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการขัดเกลาฝีมือ

“งานนักวิเคราะห์เป็นงานที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดมากเท่าไหร่ แต่ผมทำบ่อย สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของการฝึกซ้อม ถ้าคุณชื่นชอบอยากลอง ขอเพียงให้ลงมือทำ คุณยิ่งทำมันบ่อยคุณก็จะยิ่งเข้าใจมันมากขึ้นว่าทำไมคู่แข่งถึงทำอย่างนี้ ทำไมนักเตะถึงเคลื่อนที่แบบนี้ ทำไมกองกลางต้องลงมาอยู่ในไลน์เดียวกันกับกองหลัง แต่ละแดนเขาเล่นกันอย่างไร มีแพตเทิร์นการโจมตีหรือการตั้งรับอย่างไร ฟุตบอลมันมีเหตุผลเสมอ ยิ่งเราดูบ่อยก็จะยิ่งชำนาญ”

“เริ่มแรกคุณอาจจะวิเคราะห์ทำเป็นบทความลงเพจ ตัดต่อเป็นวิดีโอลงยูทูบ ใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป พยายามศึกษาความรู้เพิ่มเติม ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าคุณมีโปรไฟล์ดีผมเชื่อว่าสโมสรไหนก็ต้องการตัว ซึ่งในปัจจุบันคนไทยที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ยังมีน้อยมาก และหลายสโมสรในไทยลีกก็เริ่มเปิดรับให้เข้ามาทดลองหรือฝึกงานมากขึ้นแล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีเลย”

“ผมเชื่อว่าความสามารถของเด็กไทยไม่ได้แพ้ชาติอื่นเท่าไหร่ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดรับ ถ้าคุณเก่งจริงคุณก็สามารถเข้าไปทำได้ ซึ่งผมก็เปิดทางให้ได้เห็นแล้วว่าคุณก็สามารถทำตามได้เหมือนกัน” อธิคุณ ทิ้งท้าย