O’MIN CUES : ไม้คิวงานคราฟต์ไทย แบรนด์ที่แม้แต่นักสนุกเกอร์อาชีพยังเลือกใช้ | MAIN STAND

สนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่ใครหลายคนรู้จักหรือเคยได้ยินมาบ้าง เพราะนี่คือเกมต้องใช้ไม้คิวแทงลูกกลม ๆ หลายสีบนโต๊ะผ้าสักหลาดให้ลงในแต่ละมุม แต่น้อยคนนักที่จะติดตามหรือเข้าใจกีฬาชนิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง

 

เหมือนดังเช่นชายผู้นี้ “โอ-สมเกียรติ กุลวัฒนาพร” หรือ “โอ มีนบุรี” ผู้คร่ำหวอดในแวดวงสนุกเกอร์เมืองไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นเจ้าของแบรนด์ O’MIN CUES ที่เริ่มต้นจับธุรกิจไม้คิว เพราะมันเคยเป็นอุปกรณ์หายากมาก่อนสำหรับนักสนุกเกอร์อาชีพบ้านเรา  

เมื่อเวลาผ่านไปไม้คิวของเขาก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นตัวเขาเองก็แทบไม่เชื่อว่าบริษัทของตัวเองจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ จากกีฬาที่เฉพาะกลุ่มมาก ๆ ในตอนนั้น ทำให้สินค้ายี่ห้อ O’MIN CUES กลายเป็นแบรนด์ที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดไม้คิวในเมืองไทย  

เริ่มต้นได้เพราะ “ไม้หายาก”

“โอ-สมเกียรติ กุลวัฒนาพร” หรือ “โอ มีนบุรี” เจ้าของธุรกิจการทำไม้คิวชื่อดังแห่งย่านมีนบุรี อาจจะเป็นชื่อที่คนทั่วไปไม่คุ้นหูเท่าไรนัก 

แต่ความจริงแล้วหากถามคนที่เล่นสนุกเกอร์หรือคนที่อยู่ในวงการนี้ ไม่ว่าจะเล่นเพื่อการแข่งขันหรือเล่นเพื่อความสนุก ชื่อของโอ มีนบุรี เรียกได้ว่าอยู่ในระดับ “ผู้คร่ำหวอด” ของวงการ เพราะเขาคนนี้ไม่ใช่แค่คนทำไม้ แต่เขายังเป็นที่รู้จักในฐานะคนที่รักสนุกเกอร์แบบเข้าเส้นอีกด้วย 

ธุรกิจของเขาเริ่มมาจากความต้องการหา “ไม้คิว” (Cue Stick) หรือไม้แทงลูกสนุกเกอร์มาใช้ มันเป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนอาวุธคู่ใจของนักกีฬาสนุกเกอร์ ไม่ต่างจากการมีไม้กอล์ฟหรือไม้เทนนิสคู่ใจ 

แต่ด้วยความที่ไม้คิวเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ยาก ไม่เหมือนกับอุปกรณ์กีฬาชนิดอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ เขาเลยอยากที่จะลองผลิตไม้ขึ้นมาเอง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปสั่งซื้อให้เสียเงินและเวลา เป็นงานอดิเรกพัฒนาฝีมือมาจากความเห็นของเพื่อนที่เขาทำให้ลอง “เมื่อก่อนไม้คิวหายากมาก กว่าจะหามาได้คือต้องไปหาตัวแทนนำเข้าจากอังกฤษ ผมเลยอยากทำไม้คิวเอง พอทำออกมากลายเป็นว่าเพื่อนก็อยากให้ทำให้ด้วย ผมก็เลยลองทำแจกดูก่อนในตอนแรก” 

เขาตัดสินใจหันหลังให้กับชีวิตด้านนั้นแล้วเริ่มพัฒนาฝีมือในการทำไม้ให้ละเอียดกว่าเดิม จากการศึกษาไม้ที่เคยซื้อ จนกลายมาเป็น โอมีนคิวส์ ในที่สุด 

“ผมได้ประสบการณ์จากการทำไม้คิว โดยการซ่อมไม้คิวอังกฤษที่เคยซื้อมา ได้เรียนรู้เทคนิคการเข้าไม้ของอังกฤษ เอามาประยุกต์ในแบบของตัวเองจนได้สัดส่วนที่ต้องการ ตอนที่สร้างแบรนด์ ผมใช้ ‘โอ’ ซึ่งเป็นชื่อผมเอง ‘มีน’ มาจากมีนบุรี ‘คิว’ ก็คือไม้คิว จนกลายมาเป็น ‘โอมีนคิวส์’” 

ด้วยความที่ตลาดสนุกเกอร์เป็นตลาดที่จำกัดและเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มที่หาคนเล่นได้น้อย การเติบโตของโอมีนคิวส์ จึงมาจากการบอกต่อกันโดยนักกีฬา และแบรนด์ของเขายังเคยผ่านมือของ “ต๋อง-วัฒนา ภู่โอบอ้อม” นักกีฬาสนุกเกอร์ชาวไทย ที่เคยถือครองตำแหน่งอันดับ 3 ของโลกมาแล้ว หรือ “จอห์น แพร์รอต” อดีตนักสนุกเกอร์ระดับโลกชาวอังกฤษ ดีกรีแชมป์โลกยูโรเปี้ยน โอเพ่นปี 1989 ก็เคยใช้ไม้ของโอมีนคิวส์แข่งขันมาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ไม้คิวแบรนด์นี้ไม่ได้มีชื่อเสียงมาจากการนำไปใช้ของบุคคลที่เป็นที่รู้จัก แต่เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน ตั้งแต่การเลือกไม้ การเหลา ซึ่งไม้แต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป

ด้วยความที่แบรนด์โอมีนคิวส์ ผลิตไม้แบบ Made to Order หรือสั่งทำตามจำนวน การคัดสรรไม้จึงถือเป็นกระบวนการที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 

 

ไม้-สร้าง-ไม้ 

หากลองเข้าไปสำรวจในหน้าเว็บไซต์ของ โอมีนคิวส์ จะสังเกตเห็นว่า แบรนด์ไม้คิวเจ้านี้ละเอียดขนาดเล่าให้ลูกค้าฟังว่ามีขั้นตอนการเลือกไม้อย่างไรและต้องใช้ไม้แบบไหนบ้าง 

ซึ่งไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้นั้นจะเป็น “ไม้แอช” (Ash Wood) ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นที่ความยืดหยุ่น ในขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรง เป็นวัตถุดิบหลักชั้นดีในการสร้างไม้คิวของที่แห่งนี้ 

“ผมจะให้ความสำคัญกับวัตถุดิบ ถ้าเรามีช่างฝีมือเก่งแต่วัตถุดิบไม่ดี ทำไปยังไงก็ไม่ดี ไม้ที่จะทำด้ามคิวดีต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง สีเข้ม มีน้ำหนักที่ดี ซึ่งประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดีเลย ใบอนุญาตนำเข้าไม้ที่ผมใช้ส่วนใหญ่ก็จะรับมาจากประเทศลาวหรือกัมพูชา”

ความยากประการหนึ่งในการทำไม้คิวคือการเลือกไม้ที่เหมาะสม เหมือนกับการปรุงอาหารชั้นดีที่จำเป็นจะต้องใส่ใจในวัตถุดิบเสียก่อน เพราะถ้าหากรากฐานไม่แข็งแรงพอ สิ่งที่จะตามมาคือไม้ที่ขาดคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน

“วัตถุดิบดี ๆ ค่อนข้างที่จะหายาก ส่วนใหญ่ที่รับมาบางทีจาก 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ได้จริงแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์เองก็มี บางครั้งก็มีปัญหามาตั้งแต่ต้นทางเลย พอไม้มีลำต้นไม่ตรง มันก็ส่งผลต่อมาในขั้นตอนต่อไป บางครั้งทำไปแล้วก็เสียเวลา เสียไม้ไปเปล่า ๆ” 

“น้อง ๆ ที่ทำงานในบริษัทผม แต่ละคนก็จะมีหน้าที่ต่างกันออกไป ตั้งแต่ผ่าไม้ ซอยไม้ เหลาไม้ เข้าจำปา ลงสี ทำน้ำหนัก ทำแลกเกอร์ ติดหัวคิว ตรวจสอบ เทส ทดลอง ส่วนมากเดี๋ยวนี้ในส่วนงานฝีมือผมก็ให้น้อง ๆ ทำหมดแล้ว ผมมีหน้าที่ค้นคว้าออกแบบคิวรุ่นใหม่ ๆ แล้วก็ทดสอบเป็นหลัก” 

ไม้คิวรุ่นที่มีชื่อเสียงของโอมีนคิวส์ ได้แก่ “รุ่นฮันเตอร์” ไม้คิวเกรด AAA ที่ตอนนี้ออกมาถึง 13 รุ่นแล้ว จุดเด่นของไม้รุ่นดังกล่าวคือความแข็งแรงคงทน 

นอกจากนี้ ยังมีรุ่น “147” ที่เข้าจำปาด้วยไม้ดำ จำนวน 4 จำปา ละเอียดถึงขนาดมีการระบุชนิดไม้ ใช้ไม้อีโบนี่ความยาว 18 นิ้ว กีบจำปายาว 6 นิ้ว และขาจำปายาว 12 นิ้ว เป็นสไตล์คลาสสิกตามแบบฉบับของโอมีนคิวส์  

หากคิดว่ากระบวนการผลิตมีขั้นตอนยุ่งยากจุกจิกแล้ว ปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่โอมีนคิวส์ต้องเจอคือปัญหาทางธุรกิจ ที่อยู่ดี ๆ วันหนึ่งไม้ที่เขาทำด้วยใจรัก กลายเป็น “ของเลียนแบบ” ไปเสียอย่างงั้น

ไม้-หัก-ไม้

นอกจากปัญหาด้านกระบวนการผลิต โอมีนคิวส์ ยังเคยต้องเจอกับปัญหาในเชิงธุรกิจด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกชวนงงที่วันหนึ่งมีบริษัทจากประเทศจีนนำชื่อบริษัทของเขาไปจดทะเบียน อีกทั้งยังนำสินค้า ไอเดีย โลโก้ ทุกอย่างแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ไปเป็นของตัวเอง ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แท้จริงที่มีนบุรีแห่งนี้กลายเป็นของปลอม

“มีคนเอาโลโก้ผมไปจดลิขสิทธิ์ เอาไปเฉย ๆ เลยแบบไม่ได้ขออนุญาต นั่นเลยทำให้ผมตีตลาดของประเทศจีนไม่ได้ สินค้าเหมือนกันทุกอย่าง ทำให้ของผมเป็นของปลอม”

“ผมเคยปรึกษากรมทรัพย์สินทางปัญญา เขาบอกว่าถ้าสู้ไปแล้วมันจะยืดเยื้อ ถ้าเรามีทุนหรือมีเวลาก็น่าสู้ แต่ว่าตัวผมก็ต้องทำงาน ไม่มีเวลาเดินทางไปกลับประเทศจีนบ่อย ๆ ผมเสียเปรียบเพราะเขาจดทะเบียนสากล ส่วนผมจดแค่ในประเทศ”

การตลาดของโอมีนคิวส์ต้องชะงักลงเพราะชื่อและสินค้าที่มาทีหลัง อีกทั้งยังไม่ได้รับการอนุญาตจากเขา 

“โอมีนคิวส์ กลายเป็นแบรนด์ เมด อิน ไชน่า เขาผลิตตามการจดทะเบียน กลายเป็นว่าเขาทำถูกกฎหมาย ส่วนถ้าผมเป็นคนผลิต กลายเป็นว่าผมไปละเมิดลิขสิทธิ์เขา ถ้ายังทำแล้วส่งไปขายในประเทศที่ห้ามนำเข้า เราก็จะถูกเขาฟ้อง” 

จนถึงวันนี้ บริษัทโอมีนคิวส์ ที่ไม่ใช่โอมีนคิวส์จากมีนบุรี ก็ยังคงเปิดกิจการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อ โอมีนบุรี แต่อย่างใด เพราะฝั่งเขาเองก็ยังคงเชื่อมั่นและยืนหยัดตามวิสัยทัศน์เดิมที่เคยทำมาตลอด 

แม้ว่าตอนนี้จะเลยความคาดหมายและเป้าหมายแรกที่เคยวางไว้ตอนเริ่มทำบริษัทไปมากแล้วก็ตาม 

เป้าหมายต่อไป

จากเป้าหมายแรกเริ่มที่อยากทำคิวไว้ใช้เอง สู่ธุรกิจส่งออกไม้คิวที่เป็นที่รู้จักไกลถึงต่างประเทศ ปัจจุบัน โอมินคิวส์ กลับมาโฟกัสที่ “กลุ่มลูกค้าคนไทย” ตามเป้าหมายเดิมที่เคยอยากทำ เพราะเขายังเชื่อว่ายังมีคนที่หลงใหลในสนุกเกอร์แบบจริงจังเหมือนเขาอยู่ 

“ทุกวันนี้เราผลิตคิวคุณภาพออกมาวันละอันสองอันเอง อีกอย่างเราก็ไม่ได้เน้นการขายทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เราเจาะจงขายให้คนที่ตั้งใจจะมาซื้อของเราจริง ๆ ขายให้เฉพาะคนที่อยากได้จริง ๆ อยากได้ก็ต้องโทรคุยกัน นัดกันมาดูของ อันนึงก็ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์” 

โอมีนคิวส์ เป็นแบรนด์ที่เกิดมาจากใจรัก เพราะฉะนั้นการทำต่อไปด้วยใจรักก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ถูกแล้ว 

“ผมไม่ได้มองเรื่องกำไรหรือขาดทุน ผมทำเพราะว่าผมเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้เพราะการทำไม้คิว ผมถือว่าผมไปถึงจุดหนึ่งที่ผมพอใจแล้ว เคยคิดแค่ว่าถ้ามีนักสนุกเกอร์มาใช้ไม้ของผม ผมก็ดีใจแล้ว” 

ช่างโอ มีนบุรี ไม่ได้คาดหวังอะไรต่อในเส้นทางธุรกิจนี้ เพราะธุรกิจของเขาก็มาไกลแล้วเป็นที่รู้จักแล้ว นักกีฬาระดับประเทศก็ใช้มาแล้ว สิ่งสุดท้ายที่เขาหวังคืออยากให้กีฬาสนุกเกอร์ที่เขารักเติบโตในประเทศไทยต่อไปเรื่อย ๆ 

“ผมอยากให้ประเทศไทยเนี่ย เป็นผู้ที่ผลิตไม้คิวส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ให้เป็นอาชีพหลักสักอาชีพหนึ่งที่นำรายได้เข้ามาจากต่างประเทศ แล้วเราก็ไม่ต้องไปเสียดุลการค้าในตลาดโลก เพราะเราก็ทำเองได้”

หากใครที่สนใจไม้คิวเกรดคุณภาพที่สร้างมาอย่างพิถีพิถัน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับไม้คิวโดยตรงกับ “ช่างโอ มีนบุรี” ได้ที่ช่องทาง facebook : https://www.facebook.com/omincuesthailand หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-5170537, 02-5175320 

หากคุยกันถูกคอก็อาจจะลองแวะเข้าไปให้ “เซียน” แนะนำการใช้ไม้ได้ถึงที่หน้าร้าน ตามที่อยู่ 62 ม.18 ถ. สีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10510