พงษ์ชัยวัฒน์ นิวิจิตร : นักวิทยาศาสตร์การกีฬาผู้ทิ้งเงินหลักแสน เพื่อมาทำงานกับทีมบาสไทย | MAIN STAND

พงษ์ชัยวัฒน์ นิวิจิตร : นักวิทยาศาสตร์การกีฬาผู้ทิ้งเงินหลักแสน เพื่อมาทำงานกับทีมบาสไทย | MAIN STAND

“ตอนแรกเขาเสนอค่าจ้างเป็นงานรายวันนะ แค่หลักร้อยด้วย (หัวเราะ) ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงไม่ทำหรอก”

“แต่ผมมองในแง่ดีว่า สโมสรยังไม่รู้ว่าอาชีพของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกคนที่เรียนจบสายนี้มาถูกเอาไปทำงานอย่างอื่นหมด ผมเลยบอกกับตัวเองว่า ลองวัดดวงแล้วกัน ถ้าผ่านไปสองปีแล้วมันไม่ดี ค่อยกลับไปทำงานในโรงพยาบาล”

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน “เกรียง – พงษ์ชัยวัฒน์ นิวิจิตร” คือ หนึ่งในฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศ เขาใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการวางแผนพัฒนาร่างกายเสนอขายลูกค้า แลกกับรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน

พงษ์ชัยวัฒน์ ไม่เพียงแค่ยืนหยัดในวงการบาสเกตบอลไทยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังใช้ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาต่อยอดไปยังอาชีพอื่น จนสามารถหารายได้ได้อย่างงดงาม

 

อาชีพนักวิทยาศาสตร์การกีฬา

“ผมก็เหมือนเด็กมัธยมทั่วไป ก่อนจะสอบเอนทรานซ์มันเกิดคำถามว่า เราจะเข้าคณะอะไร พอดีผมเป็นคนที่เล่นกีฬาคู่กับเรียนหนังสือไปด้วย เพราะผมเป็นคนเล่นบาสเกตบอลมาตั้งแต่เด็ก เคยมีความฝันอยากเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ แต่ผมเป็นคนตัวเล็ก เวลาลงไปเล่นผลงานเราก็ไม่ดีเท่าเพื่อน ผมเลยหันหลังให้บาสเกตบอลแล้วหันมาตั้งใจเรียนดีกว่า”

“เมื่อบวกกับที่เราเรียนสายวิทย์ ผมก็เห็นว่ามีสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งมันน่าสนใจ เพราะผมไม่ได้มองไปที่การเป็นนักกีฬา แต่มองเป็นเรื่องการรักษานักกีฬา เมื่อคิดได้แบบนั้นก็ตัดสินใจเรียนทางนี้เลย”

วิทยาศาสตร์การกีฬา คืออะไร ? นี่คงเป็นคำถามที่เด็กนักเรียนสายวิทย์-คณิตผู้มีใจรักเกมกีฬาคิดสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากจะการเรียนสักสาขาวิชาซึ่งตอบโจทย์ความต้องการสองด้าน ทั้ง การเรียน และ แพชชั่นส่วนตัว

พงษ์ชัยวัฒน์ นิวิจิตร เป็นอีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจศึกษาต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม้ศาสตร์ความรู้แขนงนี้จะยังใหม่มากในประเทศไทย แต่ด้วยความหลงไหลในกีฬาบาสเกตบอล ส่งผลให้เขาไม่ลังเลที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชาใหม่นี้

“ตอนนั้นวิทยาศาสตร์การกีฬายังใหม่มากในเมืองไทย คือผมมีโอกาสดูสารคดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา น่าจะเป็น ไทเกอร์ วู้ด ที่กำลังตีกอล์ฟ แล้วเขามีเซ็นเซอร์ติดไว้ทั่วตัว การเคลื่อนไหวก็ออกมาเป็นกราฟิกในคอมพิวเตอร์ คำนวณเป็นแรงโปรเจ็กไทล์อะไรต่าง ๆ“

“ตัวผมที่เรียนฟิสิกส์มาก็ประหลาดใจว่า เรื่องแบบนี้มันสามารถโยงเข้ากับกีฬาได้ด้วยเหรอ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหม่มากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเองเป็นรุ่นที่ 4 ของวิทยาศาสตร์การกีฬา มศว หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนตอนนั้นมีแต่ภาษาอังกฤษ นิสิตกับอาจารย์ต้องมาช่วยกันแปล”

เนื่องจากเป็นคณะเปิดใหม่ในประเทศไทย โอกาสการทำงานหลังเรียนจบของบัณฑิตจากสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาย่อมมีไม่มากนัก ทางเลือกส่วนใหญ่ของพวกเขาจึงหนีไม่พ้น การเข้าทำงานเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวตามสถาบันฟิตเนสต่าง ๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของ พงษ์ชัยวัฒน์ เลย

อาจจะเป็นโชคดีในความโชคร้ายของเจ้าตัว เมื่อ พงษ์ชัยวัฒน์ ได้รับอาการบาดเจ็บข้อเท้าพลิก จึงเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเครือสมิติเวช ก่อนรับทราบข้อมูลว่า นักวิทยาศาสตร์การกีฬาสามารถทำงานในโรงพยาบาลได้เช่นเดียวกัน ในแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูนักกีฬา โดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬามีหน้าที่เข้ามาดูแลนักกีฬา หลังจากผู้บาดเจ็บรายนั้นฟื้นฟูร่างกายกับนักกายภาพบำบัดเรียบร้อยแล้ว

ไม่มีเหตุผลที่ต้องรอช้า ทันทีที่ พงษ์ชัยวัฒน์ เรียนจบ เขากลับมาสมัครงานเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาในเครือโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งถ้ามองชีวิตของเขาในจุดนั้นที่กำลังมีหน้าที่การงานมั่นคงกับโรงพยาบาลแถวหน้าของประเทศไทย การที่ พงษ์ชัยวัฒน์ กลับมาทำงานกับสโมสรกีฬาอาชีพอย่างในปัจจุบันดูเป็นการเดินทางสุดพลิกผันที่น่าเหลือเชื่อไม่น้อย

 

ลองกับแพชชั่นตัวเองดูสักตั้ง

“ตอนนั้นคือไม่ได้ยุ่งกับกีฬาบาสเกตบอลเลยนะ ผมแค่ดูการแข่งขันเหมือนคนปกติทั่วไป ความจริงพอทำงานในโรงพยาบาลมาได้สัก 3-4 ปี มันก็มีความรู้สึกอิ่มตัวบ้าง แต่ด้วยความที่งานตรงนั้นรายได้ดีมาก ตัวเลขประมาณ 6 หลัก เพราะผมโดนเลื่อนขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหาร ดูแลเรื่องการตลาดและการขาย ผมก็ทำงานตรงนั้นมาเรื่อย ๆ”

“คราวนี้ ผมมีเพื่อนทำงานอยู่ที่สโมสร โมโน แวมไพร์ แล้วเขาอยากให้เราไปช่วย เพราะสโมสรมีความร่วมมือเรื่องกายภาพกับโรงพยาบาลสมิติเวชอยู่ ช่วงแรกผมคิดแค่ว่าจะไปทำงานตรงนั้นเพราะอยากเจอเพื่อนเฉย ๆ นะ แต่พออยู่ตรงนั้นได้สักพัก ผู้จัดการทีมโมโนก็ชวนผมมาทำงานถาวร”

“เมื่อผมได้คุยกับเพื่อนที่อยู่โมโน มันเริ่มเกิดความคิดในหัวว่า บาสเกตบอลในประเทศไทยเริ่มเติบโต แต่ทีมบาสเกตบอลในเมืองไทยไม่มีตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจริง ๆ เลย บวกกับที่ผมทำเพจ Bassociety ด้วย ซึ่งเป็นเพจบาสเกตบอลไทย ตอนนั้นผมก็เริ่มมาดูบาสเกตบอลไทย ซึ่งประจวบเหมาะกับจังหวะที่โมโนชวนเราไปทำงานพอดี”

“ผมเลยคิดในใจว่า ช่างแม่ง ลองดูสักตั้ง ก็เดินไปบอกทางโรงพยาบาลเลยว่าขอลาออก”

 

แม้การตัดสินใจลาออกจากงานเก่าของ พงษ์ชัยวัฒน์ จะพอเข้าใจได้ ถึงความต้องการในการเติมเต็มแพชชั่นที่มีต่อกีฬาบาสเกตบอลของตัวเอง แต่การหันหลังให้กับอาชีพที่มั่นคงและแทบจะการันตีรายได้มากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน เพื่อมาเริ่มต้นกับเส้นทางใหม่ ถือเป็นความเสี่ยงไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาความจริงที่ในวงการกีฬาบาสเกตบอลไทย ไม่เคยมีการใช้งานตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบจริงจังมาก่อน พงษ์ชัยวัฒน์ จึงเหมือนกับเอาตัวเองเข้าไปเป็นหนูทดลองในวงการใหม่ที่ยังไม่รู้จักและยังมองไม่เห็นคุณค่าของตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำทีม

“ตอนแรกเขาเสนอค่าจ้างเป็นงานรายวันนะ แค่หลักร้อยด้วย (หัวเราะ) ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงไม่ทำหรอก” พงษ์ชัยวัฒน์ เล่าถึงเหตุผลที่ยอมทิ้งเงินแสนในโรงพยาบาล เพื่อมาเริ่มต้นเส้นทางใหม่กับวงการกีฬา

“แต่ผมมองในแง่ดีว่า สโมสรยังไม่รู้ว่าอาชีพของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกคนที่เรียนจบสายนี้มาถูกเอาไปทำงานอย่างอื่นหมด ผมเลยบอกกับตัวเองว่า ลองวัดดวงแล้วกัน ถ้าผ่านไปสองปีแล้วมันไม่ดี ค่อยกลับไปทำงานในโรงพยาบาล”

 

“ตอนนั้นผมแค่อยากพิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถทำอาชีพนักวิทยาศาสตร์การกีฬาได้จริง และสามารถสร้างมูลค่าของอาชีพนี้ให้เกิดขึ้นได้ในวงการบาสเกตบอล”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้วงการอาชีพหนึ่งเปิดรับศาสตร์ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยประสบการณ์และความตั้งใจจริงของ พงษ์ชัยวัฒน์ เขาจึงใช้เวลาไม่นานในการแสดงให้เห็นภาพว่า อาชีพนักวิทยาศาสตร์การกีฬามีหน้าที่อะไร และสามารถพัฒนาศักยภาพของนักบาสเกตบอล เพื่อสร้างประโยชน์แก่ทีมได้อย่างไรบ้าง ?

“วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาแก้ปัญหา เช่น นักกีฬาไม่มีแรงวิ่ง ทั้งที่โค้ชสั่งให้คุณวิ่งรอบสนาม 50 รอบ ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา คุณวิ่งแค่ 10 รอบก็พอ เพราะมันคำนวณมาแล้วว่าร่างกายคนเรารับได้เท่านี้” 

“นี่ยังมีเรื่องของการฟื้นฟูร่างกายที่ถูกมองข้าม การนอนของนักกีฬา การกินของนักกีฬา เพื่อให้เกิดความพร้อมก่อนลงแข่งขัน สมมติก่อนลงสนามสองวัน เราเปลี่ยนจากซ้อมวิ่งเป็นซ้อมยิงบอลไหม หรือพูดคุยเรื่องแผนการเล่นดูไหม”

“เราสามารถทำอย่างอื่นได้ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเทรนนิ่ง ยกตัวอย่าง การวิเคราะห์ฐานข้อมูล ส่วนนี้ถือเป็นงานอย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เราเก็บข้อมูลว่าหนึ่งเกมคุณวิ่งไปกี่กิโลเมตร คุณยิงตรงกรอบกี่ครั้ง สมมติคุณเป็นนักฟุตบอล ชอบปั่นฟรีคิกด้วยเท้าขวา นักวิทยาศาสตร์การกีฬารู้ว่ากี่หลาคุณแม่น กี่หลาคุณไม่แม่น แล้วเราเอาข้อมูลพวกนี้ไปส่งให้โค้ชดู”

“ตอนอยู่โมโน ผมเสนอแผนระยะยาวให้สโมสรเลย คือผมขอตารางการทำงานทั้งปีเพื่อวางแผนเลยว่า ช่วงปิดฤดูกาลเราจะฝึกซ้อมอะไร ช่วงก่อนเปิดฤดูกาลสามารถฝึกซ้อมอะไรได้บ้าง ส่วนช่วงระหว่างฤดูกาล ผมก็เปลี่ยนงานมาวิเคราะห์เก็บข้อมูลให้ทีม” 

“เมื่อจบเกม ผมส่งวิดีโอให้โค้ชดู ส่งสถิติให้นักกีฬาดู ซึ่งพอผ่านไปประมาณ 3 เดือน การทำงานของผมมันก็เห็นผล กล้ามเนื้อของนักกีฬาดีขึ้นอย่างชัดเจน นักกีฬาแรงไม่ตก ผลงานการเล่นในสนามก็โอเค ทีมเป็นแชมป์สองฤดูกาลติดต่อกัน”

“ถ้าผมสามารถทำแบบนี้ได้ มันก็เพิ่มมูลค่าให้อาชีพนักวิทยาศาสตร์การกีฬาได้ ซึ่งมันมีนะ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่คิดแค่เรื่องเทรนนิ่งแล้วก็จบ แต่ถ้าผมทำแบบนั้นมันจะไม่สบายกับตัวเราในอนาคต ผมต้องสร้างจุดที่ยังไม่เคยมีในวงการนี้มาก่อน และผมเลือกแบบนั้น ก็เลยลงมือทำ พัฒนาตัวเองขึ้นมา”

ต่อยอดจนยืนหยัดได้บนวงการกีฬา 

หลังประสบความสำเร็จด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของทีมโมโน แวมไพร์ ชุดคว้าแชมป์ลีกสองสมัยซ้อน ในปี 2015 และ 2016 พงษ์ชัยวัฒน์ เลือกจะออกมาหาประสบการณ์ใหม่กับบทบาทนักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำทีมบาสเกตบอลประจำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำทีม TGE ไทยเครื่องสนาม

การรับจ๊อบสองงานควบคู่กันไปถือเป็นงานที่หนักพอตัวสำหรับ พงษ์ชัยวัฒน์ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการคลุกคลีกับวงการบาสเกตบอลมาสักระยะ เขาเลือกต่อยอดเส้นทางอาชีพของตัวเองด้วยการลองรับบทบาทเป็นผู้พัฒนาทักษะนักกีฬา ซึ่งเกิดจากการผสานความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา กับ ทักษะการเล่นบาสเกตบอลเข้าไว้ด้วยกัน

“มีคนแนะนำผมว่า ถ้าคุณเล่นบาสเกตบอลเป็น ทำไมไม่ลองสอนบาสดูบ้าง ผมเลยลองเปิดหาข้อมูล แล้วกลับมามองดูนักบาสเกตบอลไทยว่า ทำไมเวลาไปแข่งรายการใหญ่ ๆ ถึงแพ้ฟิลิปปินส์ตลอด ทั้งที่บาสรุ่นเด็กเราชนะเขาหมด”

“หลังจากนั้น ผมบินไปหาเพื่อนที่ไต้หวัน เพื่อขอดูการฝึกซ้อมของเขา ผมถึงพบว่ามันไม่เหมือนกับที่ไทยเลย คือเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเราไม่ต่างจากเขานะ แต่เป็นการฝึกทักษะความสามารถที่เราต่างจากไต้หวันมาก ผมเลยกลับมาบอกกับโค้ชว่า ผมจะไม่ยุ่งเรื่องแทคติกนะ แต่ผมขอสร้างสมรรถภาพนักกีฬาเพื่อให้พวกเขามีความพร้อมในการใช้งาน”

“ผมนั่งวางแบบฝึกการฝึกซ้อมทั้งหมด กลายเป็นการผสมผสานความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬากับการพัฒนาทักษะนักบาสเกตบอล โชคดีที่ผมทำงานให้กับทีมไทยเครื่องสนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรุ่นเด็ก ถือเป็นโอกาสทดลองเอาวิธีการฝึกซ้อมของเราไปใช้กับนักกีฬาเหล่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาด้วยดี มีนักกีฬาบางคนสามารถขึ้นไปสู่ทีมชุดใหญ่ได้ โดยเพรียบพร้อมทั้งความสามารถด้านทักษะและสภาพร่างกาย”

หากย้อนกลับไปมองวันแรกที่ พงษ์ชัยวัฒน์ ลาออกจากงานประจำในโรงพยาบาล เพื่อเดินตามเส้นทางอาชีพตามแพชชั่นของตัวเอง ทุกวันนี้เขาประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อ ด้วยการกลับหารายได้ในตัวเองน่าพึงพอใจ


แม้จะต้องทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันของสัปดาห์ เพราะนอกจากงานในสโมสรแล้ว เขายังรับงานในระดับทีมชาติ และเป็นเจ้าของร่วมโรงเรียนสอนบาสเกตบอลโดยโค้ชเก่ง

เส้นทางอาชีพของ พงษ์ชัยวัฒน์ แสดงให้เราเห็นว่า โอกาสของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฟิตเนสหรือโรงพยาบาลแต่รวมถึงข้างสนามกีฬา ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถต่อยอดไปยังอาชีพอื่นได้ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพในวงการกีฬาที่น่าสนใจ และสามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ต่างจากนักกีฬาที่โลดแล่นอยู่บนสนาม

“ถ้าเป็นภาพรวมในทุกกีฬา ผมมองว่านักวิทยาศาตร์การกีฬาเป็นอาชีพได้นะ ยกตัวอย่าง น้องเทนนิส (พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ) เรามีทั้งนักจิตวิทยา นักโภชนาการ เทรนเนอร์ นักวิเคราะห์สถิติ มีทีมงาน 4-5 คน คอยดูแลนักกีฬาคนเดียว ถ้าไม่มีรายได้ที่มากพอ เขาคงไม่เข้ามาทำงานกันเยอะขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ตอนนี้กีฬาเทนนิส กอล์ฟ แบดมินตัน ในบ้านเรา ก็เริ่มมีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาแล้ว”

“ข้อสำคัญอีกอย่างคือ ถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬา แล้วคุณอยู่กับกีฬาที่ตัวเองชอบ กีฬาที่มันใช่ คุณก็จะมีแพชชั่นกับงานเยอะขึ้น เมื่อบวกกับรายได้ที่มันอยู่ได้ ทุกวันนี้ผมมองเห็นเพื่อน ๆ น้อง ๆ มีความสุข มีชีวิตครอบครัวที่ดี ดูไม่ได้ลำบากอะไร ผมก็เลยมองว่า นักวิทยาศาตร์การกีฬาสามารถเป็นอาชีพได้นะ”