รัฐพล อัฐวงศ์ : อดีตครูจ้างผู้ผันตัวมาเล่นฟุตบอลอาชีพจนกลายเป็นไอดอลของเด็กแพร่ | MAIN STAND

“สมัยก่อนในไทยลีกแทบไม่มีนักฟุตบอลที่มาจากจังหวัดแพร่เลย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่โอกาสเปิดกว้างมากขึ้น หลายจังหวัดมีทีมฟุตบอลส่งแข่งในระบบลีก เด็กภูธรก็สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปเล่นลีกอาชีพได้” 

 

“ผมบอกเด็กนักฟุตบอลท้องถิ่นรุ่นน้องเสมอมาว่า จงเตรียมตัวเองให้พร้อม เพราะโอกาสมีเพียงน้อยนิด ถ้าเราคว้ามันได้ ก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย”

ก่อนหน้าที่ “จู่-รัฐพล อัฐวงศ์” จะกลายมาเป็นนักฟุตบอลผู้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองแพร่ ชีวิตการทำงานของเขาเริ่มต้นจาก “ครูจ้างคนหนุ่ม” เงินเดือนหลักพัน 

กระทั่งวันหนึ่ง “ฟุตบอล” ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิต รัฐพล จากงานสอนหนังสือแลกค่าแรงสู่นักเตะอาชีพ ผู้ยืนหยัดเล่นอยู่บนลีกฟุตบอลไทยมายาวนานนับ 10 ปี 

อีกทั้งเรื่องราวของเขา ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ให้กล้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพเหมือนดั่งที่เขาเคยทำได้ 

คุณครูเดินสาย 

“วันที่ เชียงราย ยูไนเต็ด ยื่นข้อเสนอให้ผมย้ายไปเล่นกับพวกเขา ในดิวิชั่น 1 ฤดูกาลหน้า ผมตกใจมากเลยนะ” 

“ผมไม่คิดว่ามาก่อนเขาจะสนใจเรา เพราะผมอายุใกล้ 30 แล้ว (28 ปี) เล่นให้ แพร่ฯ ในลีกภูมิภาค (T3) จบอันดับท้ายตาราง แต่เชียงรายฯ ก็ให้โอกาสผมได้ลองไปเล่นบอลอาชีพ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จักชื่อ รัฐพล อัฐวงศ์”

เรื่องไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ทุกวันในชีวิตของคนเรา เพราะมนุษย์ต่างดำเนินชีวิตโดยไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ? 

ลึกเข้าไปในอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ คือถิ่นฐานบ้านเกิดของ รัฐพล อัฐวงศ์ ชายหนุ่มผู้ชื่นชอบการเตะฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ หากแต่ว่าเขาไม่เคยจินตนาการว่าตัวเองจะสามารถทำสิ่งที่รักให้เป็นอาชีพได้ในอนาคต 

รัฐพล จึงเลือกเรียนครู และจบออกมาประกอบอาชีพ อาจารย์รับจ้าง เป็นงานการที่หาเลี้ยงชีพตัวเอง ส่วนฟุตบอลเป็นเพียงแค่กีฬาและกิจกรรมยามว่างสำหรับเขาให้ได้ออกกำลังกาย พร้อมกับลงเล่นบอลเดินสายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัด 

“ผมเริ่มเล่นฟุตบอลครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ แต่ก็ไม่เคยฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เราเล่นเพราะมันสนุกสนาน ทำให้เราได้มีสังคม ผมลงเตะระดับสมัครเล่นมาตลอด เป็นตัวแทนจังหวัดแพร่ ลงแข่งขันรายการต่าง ๆ”

“รัฐพล” จัดเป็นนักเตะท้องถิ่นที่ผู้คนในแวดวงบอลเดินสายจังหวัดแพร่คุ้นเคย ด้วยฝีเท้าที่ค่อนข้างโดดเด่นไม่แพ้ใครในสนาม นั่นจึงกลายเป็นใบเบิกทางนำพา “อาจารย์จู่” ได้มาสัมผัสฟุตบอลลีกเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะอายุ 21 ปี

“ตอนนั้น ทีโอที เขามาจับมือกับจังหวัดแพร่ ส่งทีมลงแข่ง โปรวินเชียลลีก ทางผู้ใหญ่จึงคัดเอานักฟุตบอลท้องถิ่นขึ้นไปเล่นกับทีโอทีด้วย” 

 

“ผมจึงได้รับโอกาสให้ลองมาเล่นมาบอลลีกกับ ทีโอที และอยู่ในชุดที่คว้าแชมป์โปรลีกดิวิชั่น 1 ปี 2005 หลังจบฤดูกาลผมตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิมไม่ได้เล่นบอลต่อ กลับมาทำงานรับจ้างเป็นครูสอนหนังสืออยู่อีกหลายปีเลย”

วันเวลาผ่านไปเนิ่นนาน … นานจน รัฐพล ไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสกลับไปหวดแข้งในลีกฟุตบอลอีกครั้ง แต่สายลมก็หวนพัดผ่านมาอีกหน ในฤดูกาล 2009 เมื่อสโมสรแพร่ ยูไนเต็ด ตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 (ไทยลีก 3 ในปัจจุบัน) 

รัฐพล ในวัย 28 ปี ถูกชักชวนกลับมาเล่นฟุตบอลกับทีมประจำจังหวัด เพื่อสู้ศึกลีกรากหญ้า โซนภาคเหนือ เขาจึงตอบรับความท้าทายนั้นดูสักตั้ง 

แม้ว่าผลงานของทีมจะไม่ดีนัก จบซีซั่นด้วยอันดับรองสุดท้ายของตาราง แต่ฟอร์มการเล่นส่วนตัวของ “รัฐพล” ก็ไปเตะตาทีมแชมป์โซนอย่าง เชียงราย ยูไนเต็ด ทาบทามตัวครูจ้างจากจังหวัดแพร่ ไปเล่นบอลอาชีพจริงจัง  

เขาได้รับสัญญาอาชีพที่ชัดเจน มีเงินเดือนค่าตอบแทนที่สูงกว่าตอนทำงานเป็น “ครูรับจ้าง” ที่มีค่าแรงหลักพันต่อเดือน

 

โนเนมสู่สตาร์เมืองแพร่ 

“ในบรรดานักเตะเชียงราย ยูไนเต็ด ทั้งหมด ผมคือคนที่โนเนมที่สุด ไม่เคยมีดีกรีอะไรทั้งนั้น จึงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ลงสนามหรือเป็นตัวหลักของทีม”

“เลกแรก ในใจผมคิดว่าตัวเองคงไม่ไหว ครบสัญญา เขาน่าจะไม่จ้างเราต่อแน่ ๆ (หัวเราะ) แต่ก็พยายามก้มหน้าก้มตาซ้อมไป รอคอยโอกาสไป” 

“กระทั่งเลกสอง เตโก (สเตฟาโน คูกูร่า) เข้ามาคุมทีม มีอยู่เกมหนึ่งผู้เล่นในทีมติดโทษแบน โค้ชหันมาถามผมว่า ‘คุณพร้อมลงสนามไหม ?’ ผมจึงได้ออกสตาร์ตเป็นตัวจริงให้ เชียงราย ยูไนเต็ด และหลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสลงสนามมาตลอด จนเป็นตัวหลักพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นไทยลีก”

ไม่น่าเชื่อว่าประโยคคำถามครั้งเดียวจากโค้ชและการลงสนามครั้งแรก จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ “รัฐพล อัฐวงศ์” แจ้งเกิดบนเส้นทางลูกหนังในวัยใกล้เลข 3

เขาคว้าโอกาสทองและสามารถรักษาตำแหน่งตัวจริงไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้ขวบปีต่อมา ในฤดูกาล 2012 สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ได้ขยับขึ้นมาโม่แข้งบนลีกสูงสุด และเสริมทัพนักฟุตบอลชั้นนำเข้ามาหลายราย แต่ รัฐพล ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากโค้ช และพิสูจน์ว่า “นักฟุตบอลจากจังหวัดแพร่” คนนี้มีดีพอที่จะเล่นไทยลีก 

“เบสิกพื้นฐานของผมอาจไม่ได้ดีเท่ากับนักฟุตบอลคนอื่นที่โตมาในระบบ แต่ผมก็ใช้ความขยันเป็นจุดขาย” 

“เวลาลงสนาม ผมคิดเสมอว่าต้องทำงานหนัก พยายามวิ่งให้เยอะกว่าคนอื่น เพื่อจะได้ช่วยเพื่อนร่วมทีมให้ได้มากที่สุด คอยแย่งบอล ทำลายเกมคู่ต่อสู้ ก็ทำให้โค้ชกล้าเลือกใช้งานผม แม้ว่าจะไม่มีดีกรีอะไรเลยเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมทีม”

สไตล์การเล่นที่บู๊ดุดัน ทุ่มเทสุดแรงกาย ขยันวิ่งไล่บอลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้ “รัฐพล อัฐวงศ์” เริ่มกลายเป็นนักเตะขวัญใจเหล่ากองเชียร์เชียงราย ยูไนเต็ด  

รวมถึงยังมีแฟนบอลในบ้านเกิดอีกจำนวนมากที่ยอมขับรถเดินทางไกล เพื่อมาเชียร์ “รัฐพล” ติดขอบสนามเชียงราย สเตเดียม ในฐานะที่เขาเป็นนักเตะตัวแทนชาวจังหวัดแพร่บนเวทีลีกสูงสุดของประเทศ 

“การค้าแข้งกับ เชียงราย ยูไนเต็ด ถือเป็นช่วงที่ดีสุดในอาชีพนักเตะของผมแล้ว จากคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไร ที่นี่ทำให้ผมมีอาชีพ มีงานทำ มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมากขึ้น ก็เพราะโอกาสจากเชียงรายฯ”

“ที่ประทับใจมากที่สุดคือ คนในจังหวัด พอเขารู้ว่าเราเป็นคนแพร่ที่มาเล่นให้เชียงรายฯ ก็มีแฟนคลับจากแพร่ ยอมขับรถมาเชียร์ผมถึงที่เชียงราย ซึ่งไม่ได้ห่างไกลกันมาก ผมคิดว่าเขาคงดีใจที่ได้เห็นนักฟุตบอลชาวแพร่สามารถไต่เต้าขึ้นมาเล่นไทยลีกได้ เพราะปกติไม่ค่อยมีนักเตะจากแพร่มาค้าแข้งบนไทยลีกสักเท่าไหร่”

 

เพื่อบ้านเกิด 

หลังจากรับใช้สโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด นานเกือบ 5 ปี “รัฐพล” ก็ตัดสินใจออกมาหาความท้าทายใหม่ ๆ ในอาชีพนักเตะ โดยเขาพเนจรไปค้าแข้งกับสโมสร ภูเก็ต เอฟซี, โอสถสภา และ ราชนาวี 

กระทั่งในช่วงเลก 2 ฤดูกาล 2016 “รัฐพล” ในวัย 35 ปี หวนกลับเล่นฟุตบอลอาชีพให้กับ แพร่ ยูไนเต็ด สโมสรลูกหนังประจำจังหวัดบ้านเกิด เพื่อนำเอาประสบการณ์ทุกอย่างกลับมาถ่ายทอดและช่วยทีมท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

“ผมกลับมาบ้านเกิดรอบนี้ หลาย ๆ อย่างมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลีกมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สโมสรก็มีความพร้อมและการจัดการที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน”

“นักฟุตบอลท้องถิ่นบางคนก็ทันดูเรา หรืออย่างเด็ก ๆ เยาวชนบางคนก็จะขอคำแนะนำจากเรา โดยเฉพาะนักฟุตบอลสมัครเล่นที่เตะเดินสายอยู่นอกระบบลีก พวกนี้เขาจะมองเราเป็นต้นแบบ เพราะเขาเห็นว่าเรามาจากบอลเดินสายเหมือนกัน แต่ก็ไต่เต้าขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้”

“ทั้งที่สมัยก่อนโอกาสที่เด็กจากจังหวัดแพร่จะได้เป็นนักฟุตบอลยากมาก ไม่เหมือนยุคนี้ที่โอกาสเปิดกว้างกว่าเดิม น้อง ๆ เข้าถึงฟุตบอลอาชีพได้ง่ายกว่ายุคผม คราวนี้ก็อยู่ที่ตัวเขาแล้วว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน”

“ผมบอกเด็กนักฟุตบอลท้องถิ่นรุ่นน้องเสมอมาว่า จงเตรียมตัวเองให้พร้อม เพราะโอกาสมีเพียงน้อยนิด ถ้าเราคว้ามันได้ ก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย” 

“เหมือนกับตัวผมที่สามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัว มีอนาคตในเส้นทางฟุตบอล ก็เพราะผมสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้”