สุริยัน เป๊ะชาญ : โค้ชศูนย์ฝึกตะกร้อ “ใจฟ้า อคาเดมี” ที่เริ่มต้นเพื่อให้เด็กติดเชื้อ HIV มีชีวิตรอด | MAIN STAND

“แดนพักพิงสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์” หากใครได้ยินคำนี้สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคงไม่พ้น “วัดพระบาทน้ำพุ” 

วัดแห่งนี้นอกจากจะรักษาผู้ป่วยที่ติดโรคเอดส์แล้ว ยังดูแลรับอุปการะเด็กที่ได้รับผลกระทบติดเชื้อ HIV จากบิดามารดาด้วยเช่นกัน 

เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญความโหดร้ายตั้งแต่วินาทีที่ลืมตาขึ้นมาดูโลก และยังต้องอยู่ร่วมกับเชื้อร้ายที่จะคอยบั่นทอนชีวิตไปตลอด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสุดคือจะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านี้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะต่อสู้กับโลกใบนี้ให้นานที่สุด 

ศูนย์ฝึกตะกร้อ “ใจฟ้า อคาเดมี” จึงถือกำเนิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ต้องการใช้กีฬาเสริมสร้างสุขภาพให้เด็กที่ติดเชื้อภายในวัดได้มีลมหายใจต่อ 

ก่อนจะต่อยอดกลายมาเป็นอคาเดมีตะกร้อที่ได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย และพร้อมเปิดรับเยาวชนทั่วไปเข้ามาฝึกฝนเพื่อจะก้าวสู่การเป็นนักตะกร้อทีมชาติไทยในอนาคต

ที่สำคัญอคาเดมีแห่งนี้ยังได้ตำนานนักตะกร้อทีมชาติไทยอย่าง “โอเล่” สุริยัน เป๊ะชาญ ที่ใช้ชีวิตอยู่ลพบุรีมานานหลายสิบปี จนจังหวัดนี้กลายเป็นบ้านเกิดหลังที่ 2 ของตัวเอง มาเป็นโค้ชฝึกสอนเด็ก ๆ 

จุดเริ่มต้นจากลานวัดพระบาทน้ำพุ

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ในสมัยที่โรคเอดส์แพร่ระบาดในเมืองไทยและเทคโนโลยีการแพทย์ที่ใช้รักษายังไม่ล้ำสมัยเหมือนปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อแทบจะต้องใช้ชีวิตที่เหลือเฝ้ารอวันตายเพียงอย่างเดียว 

มิหนำซ้ำยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ อาการของโรคก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเชื้อภายในแพร่สู่รูปลักษณ์ภายนอก จนเป็นที่น่าเวทนาและเป็นที่เดียดฉันท์ของสังคม

สถานที่ที่พวกเขาเหล่านี้เลือกจะหลีกหนีสังคมไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้สุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจมากที่สุดคือ “วัดพระบาทน้ำพุ” วัดที่เปิดรับและกลายเป็นศูนย์รวมผู้ติดเชื้อเอดส์จากทั่วประเทศ ที่ตั้งอยู่ในตำบลเขาสามยอด อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

วัดแห่งนี้ได้จัดตั้ง “มูลนิธิธรรมรักษ์” เพื่อเริ่มต้นรับรักษาและพักฟื้นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ภายใต้การดูแลของเจ้าอาวาส พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) หรือ “ท่านเจ้าคุณอลงกต” 

โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงโทษภัยของโรคเอดส์ วิธีการป้องกัน ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างปกติ

ที่สำคัญนอกจากจะดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังรับอุปการะเด็กที่ได้รับผลกระทบติดเชื้อจากบิดามารดาด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันทางวัดดูแลทั้งผู้ป่วยเอดส์ ครอบครัว และผู้ไร้ที่พึ่งกลุ่มอื่น ๆ อยู่รวมกันมากกว่า 2,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นเด็กและเยาวชนกว่า 1,300 คน

ท่านเจ้าคุณอลงกตเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดกิจกรรมการเล่นกีฬาควบคู่กับการศึกษาให้แก่เด็กเหล่านี้ โดยใช้พื้นที่บริเวณลานวัดในการฝึกสอนฟุตบอลและตะกร้อ โดยมีจุดประสงค์หลักคืออยากให้เด็กเหล่านี้มีร่างกายที่แข็งแรงเพื่อจะได้มีชีวิตรอดจากเงื้อมมือของโรคร้ายที่อยู่ในตัว

“เด็ก ๆ หลายคนเป็นลูกของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่พ่อแม่เสียชีวิตไป ซึ่งบางคนหลวงพ่อเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด หลวงพ่ออยากให้ทุกคนได้เล่นกีฬาเพราะว่าจะช่วยให้เขามีชีวิตต่อไปได้ เพราะเด็กบางคนมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัว การเล่นกีฬาทุกวันจะทำให้เขาร่างกายแข็งแรง เป็นทางอยู่รอดในชีวิตเขา” ท่านเจ้าคุณอลงกต เผยถึงที่มา

เมื่อกีฬาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เด็กที่ติดเชื้อเหล่านี้จึงได้เริ่มสนุกสนานกับชีวิตมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขายังได้เล่นสนุกกับเด็กทั่วไปโดยไม่มีการแบ่งแยก บางคนที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและมีแววที่จะเอาดีได้ในด้านนี้ ท่านเจ้าคุณอลงกตจึงมองการณ์ไกลและวางแผนที่จะต่อยอดการสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น

“หลังจากที่เราเปิดฝึกสอนเด็ก หลวงพ่อเห็นแววเด็กหลายคนเล่นได้ดีและเล่นได้เก่งด้วย โชคดีที่หลวงพ่อกับท่านจารึก (พลตรี จารึก อารีราชการัณย์ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย) คุ้นเคยและสนิทสนมกันมานาน เลยเชิญท่านมาร่วมจัดการแข่งขันตะกร้อให้แก่เด็กเหล่านี้”

“เมื่อเราจัดแข่งขันแล้ว มันมีทางไปสำหรับอนาคตของเด็ก เด็กที่เก่ง ๆ ท่านก็อยากให้ไปเป็นนักตะกร้อทีมชาติ เพราะตะกร้อมันเป็นอาชีพได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอคาเดมีขึ้นมา ที่จะคัดเอาเด็กที่มีความตั้งใจและจริงจัง โดยความร่วมมือระหว่างทางวัดกับสมาคมกีฬาตะกร้อช่วยกันพัฒนาเด็ก ๆ เหล่านี้” 

“กีฬามันเป็นอาชีพได้ และไม่ใช่กีฬาอย่างเดียว อะไรที่เป็นอาชีพได้หลวงพ่อก็ส่งเสริมอย่างจริงจัง เชื่อว่าในอนาคตเด็ก ๆ เหล่านี้มีโอกาสได้ติดทีมชาติและเป็นนักตะกร้ออาชีพได้ในวันข้างหน้า” ท่านเจ้าคุณอลงกต ทิ้งท้าย

ต่อยอดสู่ “ใจฟ้า อคาเดมี” ที่เปิดรับเด็กจากทั่วประเทศ

หลังจากที่การจัดสอนตะกร้อของวัดพระบาทน้ำพุเริ่มได้รับความนิยมในวงกว้าง มีเด็กทั่วไปจากภายนอกวัดในจังหวัดลพบุรี ให้ความสนใจเข้ามาร่วมฝึกฝนเพิ่มขึ้น จากแรกเริ่มที่มีเพียงไม่ถึงสิบคนเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 คน

ท่านเจ้าคุณอลงกตจึงตัดสินใจพัฒนาการฝึกสอนให้เป็นรูปแบบและมีมาตรฐานมากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย เปิด “ศูนย์ฝึกเซปักตะกร้อ ใจฟ้า อคาเดมี” ในเดือนเมษายน พ.ศ.2563 เพื่อเปิดให้เยาวชนปกติทั่วไปรวมถึงเด็กที่ติดเชื้อของทางวัดได้มีช่องทางพัฒนาศาสตร์ลูกหวายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นประตูในการก้าวสู่เส้นทางนักตะกร้อทีมชาติไทยในอนาคต

ศูนย์ฝึกแห่งนี้เป็นโรงยิม 2 ชั้น ขนาด 1 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งห่างจากวัดพระบาทน้ำพุ ประมาณ 15 กิโลเมตร

ภายในมีสนามตะกร้อขนาดมาตรฐานถึง 5 สนาม พร้อมไฟส่องสว่าง อุปกรณ์การฝึกซ้อม ห้องอาบน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบถ้วน จนนับได้ว่าเป็นหนึ่งในศูนย์ฝึกตะกร้อที่ได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ที่เดียวกับ “ศูนย์ฝึกฟุตบอล ใจฟ้า อคาเดมี” อันโด่งดัง ที่มีความสวยงาม ทันสมัย โดยมีทั้งสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน (11 คน) จำนวน 5 สนาม, สนามฟุตบอล (7 คน) จำนวน 3 สนาม และสนามฟุตบอลหญ้าเทียมในร่มจำนวน 1 สนาม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ คอยให้บริการครบครัน ทั้งอาคารห้องพักนักกีฬา ห้องประชุมทีม ห้องฟิตเนส และห้องพยาบาล บนพื้นที่กว่า 80 ไร่

สำหรับ “ศูนย์ฝึกเซปักตะกร้อ ใจฟ้า อคาเดมี” เปิดรับเด็กที่มีใจรักตะกร้อจากทั่วประเทศตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป

โดยเด็กที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนเรื่องที่พัก อาหารการกิน และการศึกษา ควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะเรียนที่โรงเรียนกําจรวิทย์ และระดับมัธยมศึกษาเรียนที่โรงเรียนพระนารายณ์

ที่สำคัญยังได้โค้ชฝีมือดีมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน นั่นก็คือ “โอเล่” ร้อยโท สุริยัน เป๊ะชาญ อดีตนักตะกร้อตำแหน่งตัวชงเบอร์ 1 ทีมชาติไทย เจ้าของ 7 เหรียญทองเอเชียนเกมส์ และ 13 เหรียญทองซีเกมส์

แม้จะไม่ใช่คนลพบุรีโดยกำเนิด แต่สุริยันพร้อมที่จะอุทิศชีวิตเพื่อฝึกสอนให้แก่เด็กเหล่านี้ถึงจะต้องเหน็ดเหนื่อยขนาดไหนก็ตาม

ดึงตำนานทีมชาติไทยมาถ่ายฝึกสอน

หากเอ่ยชื่อ “สุริยัน เป๊ะชาญ” คนที่ติดตามกีฬาไทยมานานคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนี่คือนักตะกร้อระดับตำนานคนหนึ่งของเมืองไทย และเป็นหนึ่งในผู้เล่นตำแหน่งตัวชงที่ดีที่สุดที่ทีมชาติไทยเคยมีมา 

ความเก่งกาจของเจ้าตัวนั้นถึงขั้นถูกขนานนามด้วยฉายา “โอเล่ ชงหวาน น้ำตาลเรียกพี่” เพราะการชงลูกของเขานั้นอยู่ในขั้นเพอร์เฟ็กต์ ไม่ว่าลูกจะมายากแค่ไหนเจ้าตัวก็สามารถคอนโทรลมันอย่างง่ายดาย พร้อมบรรจงป้อนให้เพื่อนขึ้นฟาดเน้น ๆ จนสร้างความสำเร็จมานักต่อนัก

ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ฝึกสอนที่ ใจฟ้า อคาเดมี หนุ่มจากอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น รายนี้ ผ่านประสบการณ์บนเส้นทางลูกหวายมาอย่างโชกโชน  

สุริยันเริ่มเล่นตะกร้อตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากการได้เห็นรุ่นพี่ละแวกบ้านเล่นกันได้อย่างยอดเยี่ยมในงานวัดจนได้รับเสียงชื่นชมจากแฟน ๆ ที่เข้าไปดู ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองอยากที่จะโชว์ฝีมือบนสังเวียนบ้าง

หลังจากได้สัมผัสกับลูกหวายเป็นครั้งแรก เขาก็หลงรักกีฬาชนิดนี้ขึ้นมาทันทีถึงขนาดตัดสินใจเลิกเรียนหนังสือตอนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อตระเวณเดินสายแข่งขันตามจังหวัดต่าง ๆ จนชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสาน

กระทั่งอายุ 15 ปี ชีวิตพลิกผันได้รู้จักกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นทหารในจังหวัดลพบุรี ชักชวนให้มาอยู่ด้วยเพื่อโอกาสในการรับราชการพร้อมลงแข่งขันตะกร้อตามรายการต่าง ๆ ก่อนจะได้โอกาสไปคัดเลือกและติดทีมชาติไทยใน 2 ปีต่อมา 

หลังจากติดทีมชาติ “โอเล่” ได้เรียนต่อที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. พร้อมได้รับการบรรจุเข้าเป็นทหารในสังกัดกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันในวัย 47 ปี

ลพบุรีจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านเกิดแห่งที่สองของเจ้าตัว เพราะเขาใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตอยู่ที่นี่ เมื่อรีไทร์จากการเป็นนักกีฬาตอนอายุ 40 สุริยัน จึงหวังที่จะใช้ประสบการณ์ที่มีตลอดชีวิตถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นใหม่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติเหมือนกับตน 

และเมื่อมีโอกาสได้รับการชักชวนจากเจ้าอาวาสให้มาเป็นผู้ฝึกสอนแก่เด็กและเยาวชนในวัดพระบาทน้ำพุ เขาก็ไม่ลังเลที่จะตอบรับอย่างทันควัน…

“32 ปีบนเส้นทางตะกร้อ ผมผ่านอะไรมาเยอะ มีประสบการณ์มากมาย เลยอยากจะถ่ายทอดความรู้ที่เรามีให้เด็กรุ่นใหม่ ให้เขาได้ฝึกวิธีการและทักษะการเล่นตะกร้อ โตขึ้นจะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง” 

“จนวันหนึ่งทีมงานของหลวงพ่ออลงกตได้ชักชวนให้มาเป็นโค้ชในโครงการยุวชนต้นกล้า ของใจฟ้า อคาเดมี ผมอยู่ลพบุรีอยู่แล้ว จึงตัดสินใจรับสอนให้ เหมือนเป็นการตอบแทนจังหวัดที่เรามาอาศัยอยู่ด้วย โดยใช้เวลาหลังเลิกงาน 4-5 โมงเย็นมาสอนเด็ก”

“ตอนแรกก็สอนอยู่ที่ลานวัดตอนเย็น พอปิดเทอมก็จะมีเด็กจากนอกวัดมาเรียนด้วย รวมแล้วประมาณ 20 กว่าคน แต่ระยะเวลามันสั้น ปิดเทอมทีสอนทีมันไม่ต่อเนื่อง ทำให้สอนอะไรไม่ได้มาก แล้วเด็กที่มาเรียนก็ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย เริ่มจากศูนย์ทุกคน เต็มที่ก็สอนได้แค่เดาะลูก เสิร์ฟลูก” 

“ผมสอนอยู่เกือบปี จนปี 2563 หลวงพ่ออยากจะให้เด็กที่มีแววได้ฝึกต่อเนื่อง มีที่กิน ที่นอน ที่ฝึกซ้อมดี ๆ เลยสร้างศูนย์ฝึกขึ้นที่ ใจฟ้า อคาเดมี แล้วย้ายมาเรียนกันที่นี่ ซึ่งเด็กคนไหนอยากจะมาเรียนก็มาได้เราพร้อมเปิดรับ โดยให้การสนับสนุนทุกอย่าง ขอแค่มีใจรัก มุ่งมั่น และขยันฝึกซ้อมก็พอ” สุริยัน ย้อนความถึงการมาเป็นโค้ช

สำหรับโปรแกรมการฝึกของศูนย์ฝึกตะกร้อ ใจฟ้า อคาเดมี เน้นความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับ 1 เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือตามปกติ โดยก่อนเรียนตอนเช้าจะต้องวอร์มเพื่อบริหารและยืดหยุ่นร่างกายที่สนาม ก่อนที่ตกเย็นหลังเลิกเรียนจะฝึกซ้อมในโรงยิมตั้งแต่วันอังคาร-วันอาทิตย์ โดยหยุดวันจันทร์เพียงวันเดียว 

การฝึกสอนจะแบ่งเป็นระดับ เริ่มจากพื้นฐานการเดาะลูก การชงลูก และไล่ลูก จากนั้นจึงแยกโปรแกรมไปฝึกซ้อมตามตำแหน่งต่าง ๆ แล้วแต่ใครอยากจะเล่น เป็นตัวเสิร์ฟ ตัวชง ตัวฟาด 

พอเริ่มคอนโทรลลูกกันได้ดีขึ้น จะเข้าสู่การรวมทีมฝึกซ้อมเล่นกับคนอื่น เพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ภายในทีมและเรียนรู้เทคนิคการเล่น ก่อนจะปิดท้ายด้วยเสริมพละกำลังและสมรรถภาพร่างกาย เช่น วิ่งรอบสนาม 10 รอบ หรือการวิ่งเคลื่อนที่ระยะสั้นในโรงยิม 30-40 นาที 

“เด็กที่เข้ามาแรก ๆ บางคนเดาะลูกได้ไม่ถึง 2 ครั้งเลยด้วยซ้ำ บางคนมีร่างกายไม่แข็งแรง เพราะเราไม่ได้เปิดคัดเหมือนอคาเดมีอื่นที่ต้องมีทักษะมาก่อน มันจึงเป็นโจทย์ที่ยาก ร่างกายไม่ดีด้วย ทักษะก็ไม่มีด้วย มันทำให้เราเหนื่อยขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว”

“หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาปีกว่า จากเด็กที่เดาะได้ 2 ครั้ง ตอนนี้เป็นพันครั้งแล้ว ทักษะจากที่เล่นไม่เป็นเลย ตอนนี้เปิดลูกได้ เสิร์ฟได้ เตะได้หมดทุกอย่าง พอเราเห็นเขาเล่นได้ในเวลาแค่นี้ โอ้โห เราภูมิใจมาก เราอยู่ในวงการมา 30 กว่าปี แล้วสามารถดึงประสบการณ์และความรู้ที่มีมาสอนเด็ก ๆ จนทำให้เขาเล่นได้ตรงนี้ มันมีความสุขมาก ยิ่งเห็นเขาพัฒนาขึ้นไปตามที่เราสอนยิ่งโคตรมีความสุขเลยครับ”

“จากนี้ไปผมก็ยังอยากจะทำตรงนี้ต่อไป ความฝันของผมคืออยากใช้สิ่งที่เราถนัดก็คือตะกร้อ ถ่ายทอดวิชาและสอนวิชาให้กับน้อง ๆ ซึ่งการที่เราได้มาอยู่ตรงนี้ถือว่าถูกที่แล้ว เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและมีความสุขที่สุด แม้บางครั้งจะเหนื่อยมาก แต่สิ่งที่น้อง ๆ ทำให้เราเห็น ทุกอย่างที่เหนื่อยมามันก็หายไปหมด” สุริยัน กล่าวพร้อมรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ

พัฒนาสู่การสร้างอาชีพในอนาคต

แม้ปัจจุบันนี้ภายในอคาเดมีจะไม่มีเด็กที่ติดเชื้อร่วมฝึกอยู่แล้ว เพราะทุกคนเลือกที่จะเดินไปบนเส้นทางอื่นที่ถนัดมากกว่า แต่ศูนย์ฝึกตะกร้อ ใจฟ้า อคาเดมี ยังคงทำหน้าที่ผลักดันและมอบโอกาสให้กับเด็กทั่วไปอย่างไม่หยุดหย่อน โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นประตูให้เด็กที่เข้ามาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

เด็กที่อยู่ในอคาเดมีตอนนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน ตลอดจนขาดแคลนเงินทอง หรือขาดแคลนโอกาสในการศึกษา โดยมีทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงร่วมฝึกฝนอยู่กว่า 30 ชีวิต 

พวกเขาเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนศาสตร์ลูกหวายอย่างมืออาชีพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการก้าวเป็นนักกีฬาตะกร้อทีมชาติและใช้วิชาที่ได้รับการฝึกฝนมาประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีวิตของตัวเองได้ในอนาคต

ซึ่งนอกจากการติดทีมชาติแล้ว ยังมีเวทีลีกให้ลงเล่นเพื่อสร้างรายได้ในชื่อ “ตะกร้อไทยแลนด์ลีก” ที่ถูกจัดต่อเนื่องมาแล้ว 19 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ขณะเดียวกัน กีฬาตะกร้อ ยังได้รับการบรรจุให้เป็น 1 ใน 14 กีฬาอาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐมากยิ่งขึ้น

สุริยันมองว่า ถ้าประเทศไทยมีการจัดแข่งขันลีกอาชีพที่จริงจังและมีมาตรฐานที่สูงมากขึ้น จะช่วยสร้างอาชีพและใช้การเล่นตะกร้อเลี้ยงชีวิตเลี้ยงครอบครัวได้เฉกเช่นกีฬาอื่น ๆ

“ถ้าเรามีลีกอาชีพที่จริงจังมากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าจะทำให้นักตะกร้อหาเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้สบายเลย ทั่วประเทศมีคนดูตะกร้อเยอะไม่แพ้ฟุตบอลนะ แต่เราต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่มากขึ้น คนในจังหวัดต้องรู้ว่ามีจัดการแข่งขัน เพื่อให้เกิดกระแสนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”

“ผมเชื่อว่ากีฬาช่วยให้ทุกคนมีชีวิตดีขึ้นได้ ทำให้เขามีเป้าหมายในการใช้ชีวิตได้ เด็กทั่วไปที่มีใจรักอยากเล่นตะกร้อแต่ขาดแคลนเงินทอง มีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน หรือขาดโอกาส เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เขาเติบโตมีชีวิตที่ดีขึ้น” 

“ที่สำคัญ ใจฟ้า อคาเดมี เราไม่ได้ส่งเสริมแค่การเล่นกีฬาอย่างเดียว เรายังส่งเสริมพัฒนาเยาวชนให้โตไปมีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่เรียนดี ๆ มีงานทำดี ๆ ถึงแม้จะไม่ได้เล่นทีมชาติก็ตาม หรือถ้าใครมีความสามารถได้เป็นทีมชาติหรือเล่นในลีกได้ก็ถือเป็นโบนัส” สุริยัน ทิ้งท้าย

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างความสุขและมอบโอกาสให้แก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม แล้วใครเลยจะรู้ อนาคตอันใกล้นี้เราอาจได้เห็นสตาร์ลูกหวายดวงใหม่ผลผลิตจาก “ใจฟ้า อคาเดมี” ก้าวขึ้นมาประดับวงการก็เป็นได้