เทศนา พันธ์วิศวาส : จากนักแบดฯโอลิมปิกสู่โค้ชอาชีพผู้ปั้นเด็กไทยไประดับโลก | MAIN STAND

แบดมินตัน เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนไทย เนื่องจากช่วงหลังมีนักหวดลูกขนไก่ไทยหลายราย ได้ออกไปวาดลวดลายลงแข่งขันในเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

 

เบื้องหลังของความสำเร็จเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบรวมกัน ตั้งแต่การฝึกซ้อมอย่างหนักของนักกีฬา รวมถึงการดูแลฝึกสอนที่ดีของโค้ชกับทีมสตาฟ ผู้เป็นบุคลากรที่จะช่วยผลักดันและปลดล็อกความสามารถให้กับนักกีฬา

หนึ่งในคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงและมีบทบาทต่อวงการแบดมินตันไทยยุคปัจจุบันคือ โค้ชโอม – เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอน “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” จาก อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย เขาผันตัวเองมาสู่อาชีพนี้ได้อย่างไร ?

 

นักกีฬาทีมชาติ

ย้อนกลับไปตั้งแต่วัยเด็ก โค้ชโอม ได้เริ่มเล่นแบดมินตันครั้งแรกตั้งแต่มีอายุเพียง 8-9 ปีเท่านั้น จากการเล่นที่สปอร์ตคลับท้องถิ่นกับคุณป้าและคุณลุงของตน

เมื่อเข้าสู่วัย 13 ปี เทศนา ได้มีโอกาสตามคุณพ่อไปชมการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก และจากจุดนี้เองได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เจ้าตัวเริ่มเล่นแบดมินตันแบบจริงจังขึ้นมา

“ตอนนั้นเป็น สุธีรมานคัพ จัดชิงแชมป์โลกที่เดนมาร์ก ก็มีโอกาสตามคุณพ่อไปดู แล้วเกิดความอยากเล่น กลับมาตอนช่วงอายุ 13 ก็เริ่มทำการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง”

ภายใต้การฝึกสอนของ อาจารย์ชัยศักดิ์ ทองเดชศรี กับ อาจารย์จุมพล ดิสปัญญา เขาได้พัฒนาฝีมือขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก่อนจะก้าวขึ้นมาติดทีมชาติเมื่ออายุได้ 18 ปี 

ก่อนสร้างชื่อเสียงจากการคว้าเหรียญทองในแบดมินตันประเภทชายคู่ กับ ปราโมทย์ ธีระวิวัฒน์ เมื่อครั้งซีเกมส์ปี 1999 และได้เหรียญเงินจากการแข่งเอเชี่ยนเกมส์ปี 2002 ในประเภทเดียวกัน

นอกจากนี้ โค้ชโอม ยังสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ได้ 2 สมัย ในปี 2000 และ 2004 โดยทำผลงานเข้าถึงรอบ 16 คู่สุดท้ายได้สำเร็จจากทั้งสองครั้ง 

ก่อนตัดสินใจเลิกเล่นอย่างเป็นทางการ ในปี 2011 และหันหน้าสู่การเป็นโค้ชอย่างจริงจังนับจากนั้นเป็นต้นมา

 

เริ่มต้นเส้นทางอาชีพโค้ช

เทศนา ได้เริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชอย่างเป็นทางการหลังจากเป็นผู้ฝึกสอนให้กับทีมเล็ก ๆ ทีมหนึ่ง ก่อนได้โอกาสไปคุมทีมเยาวชนทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 16 ปี ไปแข่งขันที่ประเทศบรูไน ในรายการที่มี SCG เป็นสปอนเซอร์ผู้จัดงาน จนถูกทาบทามมาเป็นโค้ชที่อะคาเดมี่แห่งใหม่ของ SCG นับตั้งแต่นั้น

เมื่อพูดถึงความท้าทายในการเปลี่ยนจากฐานะผู้เล่นสู่การเป็นผู้ฝึกสอน โค้ชโอม ได้เล่าว่า “เริ่มต้นที่เราเปลี่ยนจากการเป็นนักกีฬาไม่ว่าจะระดับสูงแค่ไหน พอเลิกเล่นปุ๊ปแล้วมาเป็นผู้ฝึกสอน มันไม่สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์ได้ว่า คุณเป็นผู้เล่นที่ดีแล้วจะเป็นผู้ฝึกสอนที่เก่งได้” 

“เพราะมันคือคนละตำแหน่งกันระหว่างนักกีฬากับผู้ฝึกสอน ผู้ฝึกสอนก็ต้องสตาร์ตใหม่ มันก็เหมือนกับตอนเป็นนักกีฬา เราไต่ระดับไปถึง 9-10 แล้ว แต่เมื่อทำงานเป็นผู้ฝึกสอน เราต้องเริ่มจาก 0 ใหม่ คราวนี้เราก็เริ่มจาก 0 ไม่ใช่อยู่ข้างบนแล้วไปคุมทีมชาติเลย ผมว่าประสบการณ์มันไม่ได้”

“ผมโชคดีที่ตอนเริ่มได้อยู่กับพวกยุวชนเยาวชน มันก็เลยเป็นเริ่มจาก Beginning ที่เป็นไปตามขั้นตอนของมัน”

การได้ย้ายมาอยู่กับ เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ ทำให้ “เทศนา” สามารถทำงานโค้ชเป็นอาชีพได้อย่างเต็มตัว เพราะที่นี่มีระบบการบริหารจัดการ และฝ่ายต่าง ๆ คอยทำงานดูแลอย่างมืออาชีพ ซึ่งช่วยให้ โค้ชโอม ปรับตัวได้ง่ายขึ้น 

“ตอนนั้นเราก็ไม่มีประสบการณ์นะ ที่ย้ายจากการเป็นนักกีฬาเข้ามาเป็นผู้ฝึกสอน ก็มีทีมงานของอะคาเดมี่เป็นที่ปรึกษา แล้วก็ (มีการสนับสนุน) เรื่องโภชนาการ จิตวิทยา เราก็ได้ความรู้ตรงนั้นมา สั่งสมมาเยอะ ๆ ”

 

เบื้องหลังของคนเบื้องหลัง

ปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คือหนึ่งในลูกศิษย์ของ เทศนา ที่ได้รู้จักกันตั้งแต่เมื่อครั้ง เทศนา เดินทางไปเก็บตัวทีมชาติที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนออกเดินทางไปแข่งโอลิมปิกเมื่อปี 2000 แล้ว

และเมื่อ ทรัพย์สิรี ได้เข้ามาเล่นแบดมินตันอย่างจริงจัง ก็ประจวบเหมาะกับที่ โค้ชโอม ได้กลายเป็นผู้ฝึกสอนของทีม SCG Academy 

จนได้ผลักดันผลงานของ ปอป้อ ให้ไปคว้าเหรียญทองครั้งประวัติศาสตร์ จากการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อนปี 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ได้สำเร็จ และยังคงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่จนทุกวันนี้ ผ่านการเข้าแข่งขันทั้งโอลิมปิก เกมส์ สุธีรมานคัพ และรายการชิงแชมป์โลก

แน่นอนว่าความสำเร็จของนักกีฬาเหล่านี้ ย่อมมีปัจจัยสำคัญจากคนเบื้องหลังเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ทั้งจากการดูแล ถ่ายทอดความรู้ และฝึกซ้อมจนสามารถปลดล็อกทักษะของตัวผู้เล่นออกมาได้อย่างสูงที่สุด

“ถามว่ามีวิธีดูแลอย่างไรบ้าง เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เรา 100% หรือเปล่า ถ้าเรา 100% หมายความว่า พ่อดูแลลูก โค้ชดูแลนักกีฬา จากนั้นก็มาดูว่าเป้าหมายนักกีฬาอยู่ตรงไหน เป้าหมายเขาตรงกับเราไหม เป้าหมายเขาคืออะไร”

“หากคุณอยากสร้างนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จระดับท็อปเยอะ ๆ แต่ดูแลแบบทิ้งขว้าง มันก็ไม่ใช่ ถ้าเราจะสร้างนักกีฬาเพื่อระดับไหน การดูแลก็ต้องเข้มข้นตามระดับนั้นไปด้วย”

“มันอยู่ที่ความสามารถของโค้ช มันเหมือนกับเราสร้างความสำเร็จผ่านตัวนักกีฬา เรามีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่มูลค่าของเราก็เยอะขึ้นตาม และการที่จะทำให้ตัวนักกีฬาประสบความสำเร็จได้นั้น ประสบการณ์อย่างเดียวก็ไม่ได้ ความรู้ก็ต้องมีด้วย”

“ถ้าเราหยุดเรียนรู้ ผู้ฝึกสอนหยุดเรียนรู้ นักกีฬาจะหยุดไหม ? แล้วนักกีฬาก็ต้องรู้พอ ๆ กับที่เรารู้ ไม่อย่างนั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เราพูดอะไรไปเขาก็ตามเราไม่ทัน”

สุดท้าย ก่อนที่เราจะกินเวลาของ โค้ชโอม ที่ต้องเตรียมการให้นักกีฬาพร้อมสำหรับการแข่งขัน สุธีรมานคัพ 2021 หลังการสัมภาษณ์ไปมากกว่านี้ ผู้เขียนได้ถามถึงจุดสูงสุดในอาชีพการเป็นโค้ช ว่าเป็นอย่างไร 

คำตอบของเขาไม่ใช่เหรียญทองโอลิมปิกหรือแชมป์โลก แต่เป็นเป้าหมายสั้น ๆ ที่เขาบอกกับเราว่า “ผมหวังให้ลูกศิษย์เราไม่โตไปเป็นภาระสังคม หน้าที่ของเราคือการสอน โดยใช้กีฬาเพื่อพัฒนาให้เขาเป็นนักกีฬาที่ดี และเป็นคนที่ดี”