YK Motorsports : อู่รถแข่งอาชีพที่เกิดขึ้นจากสองนักขับผู้อยากเปลี่ยนสิ่งที่รักเป็นอาชีพ | Main Stand

หากพูดถึงเรื่องรถแข่งและการแข่งขันโมโตสปอร์ตในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะเข้าใจหรือทราบถึงเบื้องลึกของวงการนี้ว่าเป็นอย่างไร ด้วยความนิยมที่อาจจะไม่ได้มีเท่ากับกีฬาประเภทอื่น ๆ หรือจะเพราะความยากในการเข้าถึงก็ตาม

 

แต่ก็เช่นเดียวกันกับทุกเรื่อง บางสิ่งที่เราไม่ทราบหรือไม่ได้สนใจ อาจจะมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบอยู่มากกว่าที่เราทราบ

Main Stand ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับวงการนี้ให้มากขึ้น ผ่านตัวตนและประสบการณ์ โย-ภาสฤทธิ์ พรหมสมบัติ กับ แคท-ณัฐนิช ลีวัฒนาวรากุล สองนักขับมือโปร ที่ร่วมกันก่อตั้ง YK Motorsports อู่รถแข่งอาชีพ เพื่อเปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และอยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ผลักดันให้วงการโมโตสปอร์ตในบ้านเราเติบโตขึ้น 

เข้าจุดสตาร์ต 

ก่อนที่จะมาเป็นอู่รถยนต์ YK Motorsports ทั้ง โย-ภาสฤทธิ์ พรหมสมบัติ และ แคท-ณัฐนิช ลีวัฒนาวรากุล ต่างก็เป็นนักแข่งรถมาก่อนทั้งคู่ และได้ทำความรู้จักกันจากในเซอร์กิตแข่งขัน 

เส้นทางธุรกิจที่พวกเขากำลังเดินอยู่ในทุกวันนี้ เกิดจากความชอบที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากประสบการณ์ในการแข่งขันอันโชกโชนร่วม 10 กว่าปี จากตอนที่เริ่มแข่งใหม่ ๆ 

“ผมเป็นคนชอบรถและรักในการแข่งรถ ผมแข่งรถมาได้ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว การแข่งรถสำหรับผมมันเป็นกีฬาที่ค่อนข้างตื่นเต้น เร้าใจ ผมก็เลยเก็บประสบการณ์จากการแข่งขันมาเรื่อย ๆ แบบนี้”

ด้วยความที่ทั้งสองเป็นคนที่ชื่นชอบรถเหมือนกัน ในตอนแรกของการทำธุรกิจร่วมกันนั้น พวกเขาตัดสินใจเริ่มทำทีมแข่งรถเซอร์กิตร่วมกันก่อน โดยใช้ชื่อทีมว่า YK Motorsports ซึ่งเป็นชื่อที่ตรงตัว เพราะตัวอักษร Y กับ K นั้น ย่อมาจากชื่อเล่นของพวกเขาทั้งคู่ ตามด้วยคำว่า Motorsports เพราะความหลงใหลในกีฬาโมโต

“ทีม YK Motorsports เพิ่งรวมเป็นทีมจริง ๆ ได้ประมาณ 5 ปี ก่อนหน้านี้ทั้งผมและแคทก็ต่างคนต่างแข่ง เรามาเจอกันที่สนามผ่านสังคมและกลุ่มเพื่อน”

“ในวงการรถแข่ง เวลามีการพบปะกัน เราก็จะได้แชร์เรื่องวิธีการขับหรือการช่างด้วย ตอนหลังเราเลยอยากสร้างตรงนี้ขึ้นมาร่วมกัน จนกลายเป็นทีม YK Motorsports ในที่สุด” โย เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของทีมรถแข่ง YK Motorsports

ก่อนที่ แคท จะเสริมต่อว่า พวกเขาทั้งคู่ได้มองเห็นช่องทางบางอย่างจากความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรถที่ตัวเองมี จึงอยากนำความสามารถในส่วนนี้มาสร้างโอกาสและนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจในเวลาต่อมา 

“เราทำทีมขึ้นมาเพราะว่าอยากจะเพิ่มโอกาสให้กับคนข้างนอกที่เขายังไม่เคยแข่งรถ คนที่อยากแข่งแต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหนหรือเริ่มยังไง เราอยากให้เขานึกถึงเรา เราพร้อมจะสนับสนุนตั้งแต่เริ่มไปจนถึงตอนแข่งเลย”

หลังจากที่ได้ร่วมฟอร์มทีมแข่งรถกันขึ้นมา ทั้งสองคนก็เริ่มรู้ตัวว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ด้วยทักษะและความสามารถที่มีอยู่ 

โยและแคทตัดสินใจเปิดอู่รถยนต์ที่มีชื่อว่า YK Motorsports เช่นเดียวกันกับชื่อทีมแข่งของตน ที่พร้อมดูแลตั้งแต่รถแข่งอาชีพไปจนถึงรถบ้านทั่วไป ตั้งอยู่บริเวณเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 

 

เข้าพิตสตอป 

อุปสรรคใหญ่ลำดับแรกที่พวกเขาต้องเจอจากการทำธุรกิจที่มีตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม คือเรื่องของเงินทุนที่ไม่ค่อยมีหมุนเวียนเท่าไรนัก จนเคยถึงจุดที่ต้องทบทวนกับตัวเอง 

“ผมรักในการแข่งรถ ถึงวันหนึ่งผมก็มานั่งทบทวนว่า เราจะใช้ชีวิตในทุก ๆ วันไปกับสิ่งที่เรารักได้ยังไง ? สิ่งนี้สามารถสร้างอาชีพหรือสร้างรายได้ให้แก่เราได้หรือเปล่า ?” 

“ผมเคยอยู่ในรอยต่อที่ต้องเลือกระหว่างจะทำในสิ่งที่รักหรือจะทำในสิ่งที่ควรทำ ถ้าเราคิดจะเอาตรงนี้มาเป็นอาชีพจริง ๆ เราจะทำยังไง”  

“จริง ๆ ผมมีธุรกิจของที่บ้าน คือการทำฟาร์มไก่ไข่อยู่แล้ว ปกติผมต้องช่วยไปดูแลด้วย แต่ตอนหลังที่ผมตัดสินใจมาเปิดอู่ตรงนี้ เพราะผมต้องใช้เวลากับรถมากเป็นพิเศษ รถที่ผมต้องดูแลก็มีมากขึ้น ทั้งรถตัวเอง รถในทีม และรถลูกค้า ผมเลยอยากทำตรงนี้ให้เป็นกิจลักษณะ” 

ด้วยความรู้เกี่ยวกับเรื่องยานยนต์ บวกกับความอกเข้าอกเข้าใจถึงสิ่งที่นักขับต้องการ เพราะทั้งสองผู้ก่อตั้งธุรกิจล้วนเป็นนักขับอาชีพตัวจริง จึงทำให้อู่ของ YK Motorsports เริ่มได้รับการยอมรับและมีลูกค้าเข้ามาหา เพราะเชื่อใจว่าทั้ง โย-ภาสฤทธิ์ และ แคท-ณัฐนิช สามารถให้คำแนะนำในการดูแลรถของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ YK Motorsports ก็ยังมองหาช่องทางในการสร้างรายได้ในทางอื่นด้วย ไม่ใช่แค่รอแต่งรถแข่งอาชีพอย่างเดียว เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า Ohlins และยังได้เป็นตัวแทนจำหน่ายในส่วนของสินค้า Motorsports แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยด้วย 

“เราได้การสนับสนุนทีมแข่งจากเออห์ลิน แล้วเราก็ขายผลิตภัณฑ์ของเออห์ลินด้วย มีทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ซึ่งถือเป็นการทำธุรกิจเสริมจากการทำทีมแข่ง ถ้าเราไม่มีผู้สนับสนุน รายจ่ายของเราจะมีมากกว่ารายได้แน่นอน เราก็เลยต้องหาอย่างอื่นเข้ามาซัพพอร์ตในเรื่องค่าใช้จ่ายทีมแข่งด้วย” 

การหารายได้จากช่องทางทั้งสองทำให้พวกเขาเริ่มหมุนค่าใช้จ่ายในบริษัทได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น การทำทีม ทำอู่ และจำหน่ายสินค้าที่พวกเขาก็ได้ใช้เอง ยิ่งทำให้พวกเขามีความเข้าใจขึ้นไปอีกขั้น เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ใช่แค่ดีลเลอร์ในการจัดจำหน่ายเฉย ๆ และนั่นทำให้พวกเขาแตกต่าง 

แคท เล่าให้เราฟังถึงเรื่องการจัดจำหน่ายสินค้าที่พวกเขาใช้ ซึ่งส่วนหนึ่งพวกเขาก็มองว่าการลงทุนเช่นนี้คือการเติบโตไปอีกขั้น ทำให้บริษัทเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น 

 

“เรามองว่าถ้าอยากเติบโต เราจะต้องทำบริษัทในส่วนที่ขายของได้ด้วย ถ้าขายเออห์ลินอย่างเดียวแต่ไม่ทำทีมแข่ง เราก็อาจจะเป็นดีลเลอร์เออห์ลินปกติทั่วไป แต่พอเรานำความรู้ในการทำรถแข่งมาประกอบใช้ด้วยกัน จึงทำให้เรามีจุดแข็งในการขายเออห์ลินด้วย ก็ช่วยซัพพอร์ตกันไป” 

แน่นอนว่าการเปิดอู่รถยนต์และการทำทีมแข่งรถไปในเวลาเดียวกัน ย่อมนำมาซึ่งบทบาทในการทำงานที่มากขึ้นของโยและแคท พวกเขาจำเป็นต้องช่วยและทำงานกันเหมือนทีมรถแข่งจริง ๆ ในสนามของธุรกิจ แต่นั่นเองก็ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกท้อแต่อย่างใด เพราะการได้ทำงานกับสิ่งที่ชอบคือเรื่องสนุกสำหรับพวกเขา 

เรื่องของอู่ การแข่งขัน และรถ ส่วนมากจะดูแลโดยโยและทีมช่างของเขาที่คอยสนับสนุน ในขณะที่เรื่องของบัญชีและการตลาดจะเป็นหน้าที่ของแคท 

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ทั้งคู่ก็ยังคงบริหารธุรกิจร่วมกันอย่างทั่วถึง ไม่ได้จำกัดว่าใครต้องดูอะไรเป็นพิเศษ เพราะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีร่วมกัน การดูแลอู่รถที่สร้างมาด้วยน้ำมือของตนเองจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของทั้งคู่แต่อย่างใด

“ผมโชคดีที่ผมได้มีโอกาสทำงานกับวิศวกรยานยนต์ของต่างประเทศ เราจ้างเขามาช่วยปรับแต่งรถเรา แต่สิ่งที่เราได้จากเขาจริงๆ คือเรื่องของการจัดการ”  

“ประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มทำทีมใหม่ ๆ ผมเป็นคนเดียวที่รู้รายละเอียดรถ แล้วระหว่างการแข่งขันจะมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ถึงเราเตรียมรถไปดียังไง ในสนามก็ยังวุ่นวายอยู่ดี ช่างจะคอยเดินรายงานผมตลอด ผมก็ต้องคอยเช็ค กลายเป็นว่าผมจะยุ่งมากเลยในวันหนึ่งวัน” 

“พอได้ร่วมงานกับทางวิศวกรยานยนต์จากต่างประเทศที่เข้ามาช่วยสอน ก็ทำให้การทำงานราบรื่นขึ้นค่อนข้างมาก เขาบอกว่าเราต้องทำเช็คลิสต์ เป็นกระดาษ A4 พรินต์มาเลยว่าขาดเหลืออะไรบ้าง” 

“เมื่อก่อนไปแข่งรถไม่เคยคิดว่าเราต้องพกเครื่องพรินต์ไปเลย กลายเป็นว่าพอพกไป ดันทำให้ผมมีสมาธิในการสอนนักแข่งคนอื่นมากขึ้น อีกทั้งยังได้เช็คตัวเองด้วยเฉยเลย” โย เล่าให้เราฟัง ก่อนที่ตัวเองและแคทจะหัวเราะออกมาจากประสบการณ์จริงของพวกเขา ที่ต้องพกเครื่องพรินต์เอกสารไปทำเช็คลิสต์ถึงขอบสนามการแข่ง 

ออกจากพิต 

ประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การทำงานของ YK Motorsports ละเอียดเป็นพิเศษ พวกเขายึดถือการทำงานแบบซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เพราะในบางครั้งของที่แพงก็ไม่ใช่ของที่ดีเสมอไป ในทางกลับกัน ของที่ดีที่สุดคือของที่เหมาะกับรถที่สุดต่างหาก

“สิ่งที่ทำให้ลูกค้าแฮปปี้ คือการที่เราสามารถทำให้เขาเข้าใจถึงปัญหาได้ ไม่ว่าจะกับรถประเภทไหนก็ตาม บางครั้งก็มีคำถามว่า ทำไมเราไม่ใช้แบบที่ถูกกว่าหรือแพงกว่า เมื่อเราซื่อตรงกับลูกค้า ผมก็จะให้เหตุผลกับเขาตรง ๆ เพราะเวลาที่ทำรถ ผมจะคิดว่ารถคันนี้เป็นรถผมเอง” 

“ลูกค้าบางคนเขาไม่ได้สนใจเรื่องราคา ถ้าจ่ายไหวก็จ่าย แต่ในฐานะที่เมื่อก่อนผมก็เป็นคนทำรถเอง ตรงไหนถ้าผมประหยัดได้หรือตรงไหนไม่จำเป็น ผมก็เลือกที่จะไม่ทำ ผมจะไม่ให้ลูกค้าเสียเงินไปกับอะไรที่ไม่จำเป็น เราต้องคิดไว้เสมอว่ารถแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน รถพอร์ชเครื่องอยู่ข้างหลัง รถเบนซ์เครื่องอยู่ข้างหน้า วิธีทำก็ต่างกันแล้ว” 

นอกจากที่โยจะซื่อสัตย์ต่อลูกค้าแล้ว กับลูกทีมของเขาเองก็ไม่ต่างกัน การฝึกที่ดีที่สุดคือการสอนให้นักกีฬาเข้าใจถึงความแตกต่างของรถแต่ละคัน เพราะนักแข่งของ YK Motorsports นั้นก็มีหลากหลายประเภทเช่นเดียวกับรถ

“ผมพยายามสอนให้คนที่เขาขับเข้าใจว่ารถแต่ละคันนั้นต่างกันตรงไหน ทำไมรถประเภทนี้ต้องใช้วิธีการขับแบบนี้ มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นความสนุกที่ค้นหาได้จากความแตกต่าง นักแข่งแต่ละคนจะมีบุคลิกไม่เหมือนกัน วิธีการขับหรือการดึงศักยภาพของรถจึงต่างกัน ผมเลยมองว่า คนเราถ้าไม่คิดจะหยุดพัฒนา ยังไงก็ไปต่อได้” 

เมื่อถามถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจในวงการรถแข่ง สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาสำหรับโยและแคทคือเรื่องของเงินทุนและความรู้ที่ยังไม่ค่อยได้รับความแพร่หลายเท่าไรนัก ซึ่งพวกเขาทั้งคู่ก็พยายามที่จะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ เพื่อพัฒนาวงการรถแข่งในอนาคตต่อไป 

“ความสนใจในรถแข่งของคนในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อยเลย เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มมาก ต้องใช้เงินจำนวนค่อนข้างเยอะ บางคนทำรถมาราคาประมาณ 1 ล้าน พอเอาไปแข่งแล้วพัง มีค่าซ่อมเพิ่มอีก สรุปรวมแล้วเขาเสียไป 2 ถึง 3 ล้านบาท แถมไม่ชนะด้วย ถ้าเราสามารถแนะนำคนที่เขาอยากเข้ามาแข่งได้ ก็อาจจะช่วยให้เขาได้หรือเซฟเงินได้มากขึ้นด้วย” 

โย เล่าให้เราฟังแบบติดตลก เพราะเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยหมดเงินไปกับการแข่งขันแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเช่นเดียวกัน นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีเรื่องขององค์ความรู้ที่ยังถูกจำกัด ทำให้คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องของวงการรถแข่ง ไม่ได้ทราบว่าเบื้องหลังการแข่งเขาทำกันอย่างไร 

“แวดวงนี้ในประเทศไทยยังค่อนข้างจำกัด ไม่ค่อยมีโรงเรียนเปิดสอนการขับรถแข่ง ถึงมีบ้างแต่ส่วนมากจะเป็นคอร์สเบสิกเลย ต่างกับต่างประเทศ มีทั้งสอนขับ สอนทำ หรือการปรับแต่งรถก็มีหมด ในเมืองไทยตอนนี้ ค่อนข้างจะหาความรู้ยาก ดังนั้นคนที่เขาทำเป็น เขาก็ไม่ค่อยอยากจะสอนใคร เพราะก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน” 

เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนที่เสี่ยงขาดทุนในวงการนี้ อีกหนึ่งธุรกิจของ YK Motorsports คือการทำธุรกิจรถแข่งสำหรับเช่า ให้สำหรับนักแข่งที่ไม่ต้องการลงทุนมาก แต่ใช้วิธีช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับ YK Motorsports พากันไปชนะด้วยกันทั้งคู่ 

พวกเขาเล่าเราฟังว่า บางครั้งก็มีนักแข่งที่ถือหมวกเข้ามาเฉย ๆ เพราะไม่อยากนำเงินจำนวนมากไปลงทุนกับสิ่งที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะเป็นกำไรหรือจะขาดทุน เพราะฉะนั้นแล้วการมาเช่ารถกับพวกเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
การลงทุนต่อรถคันหนึ่งต้องใช้ต้นทุนราวหลักแสนถึงล้าน อีกทั้งยังมีความต่างกันในเรื่องของรุ่นรถ ราคาเหล่านี้จึงไม่แน่นอน มีขึ้นมีลงอยู่ตลอด การแข่งขันจึงเปรียบเสมือนการเดิมพันด้วยเงินลงทุนที่อาจจะไม่คุ้มกัน

“ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่เราทำคือการให้เช่ารถแข่ง บางครั้งก็มีนักแข่งที่อยากจะแข่งในรายการนี้ โดยใช้รถรุ่นนี้โดยเฉพาะ แต่ไม่อยากลงทุนสร้างรถเอง ถ้าผมมีรถอยู่ก็มาหาผมได้ เราจับมือกัน พยายามทำทุกอย่างให้ดี ทั้งนักแข่ง แล้วก็ทั้งตัวรถ ตอนชนะก็ชนะเพราะทุกอย่างรวมกัน ไม่ใช่แค่รถหรือคนขับ”

“การทำรถเองยังไงก็หมดเงินเยอะกว่าเช่า ทุกครั้งที่นักแข่งมาเช่ารถแต่รันด้วยสปอนเซอร์ของเรา ก็เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เขาได้ความรู้เรื่องวิธีการขับ เราได้ช่วยเหลือด้านรถ ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น” 

“รถที่เราทำพาให้นักแข่งชนะได้ ส่วนตัวผมภูมิใจแล้วก็มองว่านี่คือความสำเร็จแบบหนึ่งนะ”

 

ทำรอบให้ดีขึ้น  

จนถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่ YK Motorsports ได้ถือกำเนิดขึ้น และแม้ว่าการแข่งขันรถส่วนมากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา จนทำให้หลายรายการแข่งขันต้องถูกยกเลิกไป แต่พวกเขาก็ไม่ได้หยุดพัฒนาทีมแต่อย่างใด

นอกจากการแข่งรถ ทีม YK Motorsports ก็มีการทำทีมแข่งเจ็ตสกีเช่นเดียวกัน เพราะเป็นหนึ่งในกีฬาโมโตที่พวกเขาชื่นชอบ แต่ประเด็นสำคัญก็ยังคงเกี่ยวกับรถ คำถามสำคัญของเราคือ ถ้าเป็นแบบนี้วงการแข่งรถยังคงเติบโตอยู่ไหมในมุมมองของพวกเขา

“วงการแข่งรถโตขึ้นเรื่อย ๆ” โย ให้คำตอบกลับมาอย่างมั่นใจ “ไม่มีการจัดแข่งตอนที่โควิดระบาดหนัก อย่างสนามที่บุรีรัมย์ก็ปิด พอสถานการณ์ดีขึ้น ที่พัทยาก็ยังพอกลับมาซ้อมได้บ้าง แต่ถึงจะไม่มีการแข่ง นักกีฬาแข่งรถก็ต้องซ้อมอยู่เสมอ ส่วนมากจะเล่นเกมจำลองแทน พวกนี้สามารถช่วยได้เหมือนกันในการฝึกซ้อม” 

จนถึงตอนนี้สิ่งที่เราสงสัยมาตลอดตั้งแต่เริ่มคุยคือ การทำงานด้วยแพชชั่นแบบนี้ พวกเขาในฐานะคนที่รักในโมโตสปอร์ตเคยเหนื่อยกับการทำธุรกิจเพราะความรักแบบนี้ไหม คำตอบของพวกเขาไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก แต่เราก็ประทับใจอยู่ดี แคทถึงกับหัวเราะออกมาแล้วบอกกับเราว่า “เหนื่อยมาก” 

“ก่อนหน้านี้ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนให้การแข่งขันเป็นการลงทุนที่สร้างรายได้ แต่เมื่อไหร่ที่เราหาทางออกได้ แล้วเปลี่ยนมันเป็นรายได้ได้แล้ว ตอนนั้นถึงเริ่มสนุก” 

ยิ่งทำให้เราสงสัยต่อว่า แล้วการลงทุนแบบนี้มีผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่าไหมสำหรับพวกเขา ทำไมพวกเขายังเลือกที่จะทำอยู่ 

“ตอบแทนไหม ? คือตอนที่เราสร้าง เราก็ไม่ได้คิดถึงตรงนี้ เรารู้ว่าแข่งรถยังไงก็มีแต่เข้าเนื้ออยู่แล้ว กีฬาแข่งรถคือกีฬาสิ้นเปลือง”

“แต่ในเมื่อรถยังพัฒนา เราก็ต้องพัฒนาด้วย ถ้ายังสามารถแข่งได้อยู่ ในขณะที่ได้ลองอะไรใหม่ ๆ แบบนี้ไปด้วย ผมก็มีความสุขแล้ว” โย กล่าวปิดท้าย 

แม้ว่าพวกเขาทั้งคู่จะเป็นนักกีฬาแข่งรถอาชีพที่มีประสบการณ์มาร่วม 10 กว่าปี แต่ถ้าเทียบกันกับระยะเวลาที่ทำอู่ เส้นทางสายนี้สำหรับพวกเขาก็เหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นและดูจะไปได้อีกไกล 

ยิ่งกับคนที่มีความรักต่อโมโตสปอร์ตอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว การพัฒนาสรรหาสิ่งใหม่ ๆ มาเติมแต่งผลงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทีมรถหรืออู่รถ ก็คงไม่ต่างจากการพยายามทำรอบในสนามเซอร์กิตให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ในแต่ละครั้ง 

สำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากลองเข้าไปใช้บริการหรือสนใจสินค้าของทางร้าน YK Motorsports ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “YK Motorsports” เบอร์โทรศัพท์ 085-805-5050 หรือจะเข้าไปดูพร้อมกับขับรถไปเช็คถึงอู่เลยได้ที่ 103/6 ถนนสะแกงาม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150 

ถึงไม่ใช่รถแข่ง ก็เข้าไปให้นักแข่งดูแลได้เช่นเดียวกัน