อุรชา วงษ์เทียน : พ่อค้าปลาสลิดที่พลิกชีวิตมาปั้นค่ายรวบดาวโรจน์ “ว.อุรชา”

ว.อุรชา เป็นอีกหนึ่งค่ายดาวรุ่งที่กำลังมาแรง ภายใต้การบริหารงานของ อุรชา วงษ์เทียน นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของกิจการหลายอย่าง ที่ชีวิตพลิกผันมาสู่วงการมวย ทั้งที่ครอบครัวไม่เคยมีใครเกี่ยวข้องกีฬาชนิดนี้มาก่อน เรื่องราวของเขาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้   

 “ผมมีน้องสาว 2 คน  ทำงานบริษัทเอกชน อีกคนก็รับราชการ พื้นเพ อากงอาม่า เป็นคนจีน ที่แรกที่ไปอยู่คือจ.ลพบุรี แม่ผมก็คลอดผมที่ลพบุรี ตอนแรกครอบครัวก็ทำธุรกิจอยู่ที่นั่น” 

“แต่หลังจากนั้น ก็ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ  ตอนเด็กๆ เป็นคนที่เฮี้ยวสุดๆ ไม่ค่อยตั้งใจเรียน เกเร ทะเลาะกับเพื่อน ค่อนข้างดื้อมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่หลุดนอกกรอบมากก็คือ ผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน” 

“ตอนนั้นผมซ้อมเช้า เย็น เช้าก็ซ้อม ไม่ต้องเคารพธงชาติ ซ้อมเสร็จก็เข้าเรียน เลิกเรียน ก็ไปเรียนพิเศษ หลังจากนั้นประมาณห้าโมง ผมก็ซ้อมว่ายน้ำต่อ ทำให้ผมมีความรับผิดชอบมากขึ้น”       

 “ผมเรียนจบที่มหาวิทยาลัยรังสิต International และจบปริญญาโทประเทศจีน งานแรกที่ทำก็คืองานโรงแรม เป็นเซลส์ให้กับโรงแรมเอเวอร์กรีนด์ กับ โรงแรมนารายณ์ ทำได้สักพักรู้สึกไม่ค่อยชอบ ก็เลยออกมาช่วยธุรกิจที่บ้านของผมซึ่งเป็นปั๊มแก๊ส มีอสังหาริมทรัพย์” 

“ผมก็ทำได้สักพักหนึ่ง ด้วยความที่เป็นนักกีฬา ชอบออกกำลังกาย ก็ไปฟิตเนสกับเพื่อน ก็เลยคิดกับเพื่อนว่าอยากทำโปรเจคอะไรเกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยกัน ก็เลยไปเปิดยิมมวยแบบออกกำลังกาย ผมไม่เคยชกมวย ไม่เคยชอบมวยมาก่อน”

จนมาถึงวันหนึ่ง เส้นทางของมวย ก็เข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของชีวิตของ อุรชา วงษ์เทียน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่สู่ตำแหน่งหัวหน้าค่ายมวย

“วันหนึ่ง ผมมีโอกาสไปชมมวยศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกรที่เวทีลุมพินี ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนแรกที่เข้าไปดูก็ไม่ค่อยเข้าใจ ยังงงๆว่าเขามาทำอะไรกัน ตอนนั้นไปดูอยู่ล็อค 2 ก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาตะโกนโหวกเหวกโวยวายอะไรกัน” 

“พอเข้าไปดูแบบตั้งใจจริงๆ ใจผมวันนั้น ก็อยากทำมวยอาชีพขึ้นมาทันที แต่ว่าแม่ไม่อยากให้ทำมวยอาชีพ อยากให้เปิดแค่เป็นแบบออกกำลังกาย ตอนที่ทำยิมออกกำลังกาย ช่วงแรกๆ เราก็เห็นพวกเทรนเอนร์เขาเตะเป้ากันเล่นๆ เบิ้ลแข้ง 10-20 ครั้ง เราก็คิดว่ามันเท่มาก” 

“เราไม่เคยเห็นนักมวยอาชีพซ้อมกันอย่างนี้  เทรนเนอร์เราก็อายุประมาณ 20 ต้นๆ เขาเลิกมวยได้พักหนึ่ง ไม่ได้เลิกถาวร เราก็เลยลองส่งไปต่อยมวย 3 ยกก่อน พอมวยชนะมา เราก็เริ่มมีกำลังใจขึ้นมา คิดว่าอยากทำมวยอาชีพแล้ว” 

“หลังจากนั้นเราได้แชมป์มวย 3 ยก ก็เริ่มมีฝรั่งเข้ามา เราก็เลยอยากข้ามจากมวย 3 ยก มาเป็นมวย 5 ยก ก็เลยคิดโปรเจคนี้ขึ้นมาว่า จะต้องเปิดค่าย”

อุรชา ใช้เวลาตรึกตรองและตัดสินใจพอสมควร ในการที่จะเปิดค่ายมวยที่เป็นแบบมวยอาชีพ ก่อนลงมือทำค่ายแรก MTM Acadamy และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น ว.อุรชา

 “ผมคิดว่ามวยอาชีพกับมวยออกกำลังกายมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงสถานที่ ทั้ง 2 อย่างจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะว่ามวยอาชีพจะต้องมีที่กินที่อยู่ ส่วนมวยออกกำลังกายก็เหมือนฟิตเนสทั่วไป คนเข้ามาแล้วก็ออกไป  ก็เลยมาเปิดยิมชื่อ MTM Acadamy ซึ่งเป็นชื่อเก่าของยิมออกกำลังกาย พอเปิดได้ประมาณ 2 ปี ก็เปลี่ยนชื่อค่ายเป็น ว.อุรชา เนื่องจากคนจำได้ง่ายกว่า”

 “ตอนแรกที่เปิดยิมมวยออกกำลังกาย เพื่อนผมที่ลงหุ้นด้วยกัน บอกว่ามีแผนจะขยายสาขา ผมก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น เราต้องลงทุนอีกหลายสิบล้านบาท ก็เลยถอนหุ้น แล้วมาทำมวยอาชีพดีกว่า” 

“ตอนแรกเราไม่มีมวยเลย ผมก็ต้องไปหานักมวยทางภาคอีสาน ซึ่งที่แรกที่ไปก็คืออุบลราชธานี เนื่องจากที่นี่คือเมืองมวย ประกอบกับเทรนเนอร์ที่ค่าย ส่วนใหญ่มาจากอุบลราชธานี เขาก็เลยแนะนำ ความฝันตอนนั้นก็คือเราอยากจะมีมวยต่อยคู่เอกสักคนหนึ่ง มีการเริ่มซื้อดาวรุ่งเข้ามาในค่าย” 

“ตอนนั้นมวยเราได้ต่อยออกถ่ายทอดทางทีวีก็รู้สึกดีใจมาก พอชกเสร็จมีสัมภาษณ์นักมวย เรารู้สึกตื่นเต้นมาก มีการปรึกษาเสี่ยโบ๊ทว่า ต้องการมีมวยเป็นของตัวเอง เขาก็เลยบอกว่าเอาคนนี้ไปลองทำดู”

“ ตอนนั้น วัฒนา เสี่ยโบ๊ทซื้อสิทธิ์มาจากค่ายศิษย์สองพี่น้อง ก็หอบเอาสัญญานั้นมาให้เลย ก็เลยได้วัฒนามาเป็นคนแรก จากนั้นก็มีเลิศสยาม ยอดเพชร สดชื่น ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เดอะเบส เป็นชุดแรกๆ”

“การเลือกเอานักมวยมาอยู่ในต่าย ผมไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมาก มวยบางคนต่อยมาน้อย จะต่อยกรุงเทพฯไม่ได้ ส่วนใหญ่เค้าต้องต่อยกันเป็นหลักร้อย แต่ตอนนั้นผมคิดว่าผมทำมวยใหม่ๆ ก็ขอแค่ให้เด็กมีความรับผิดชอบ เราถือว่าการที่ทำมวยตรงนี้ให้ประโยชน์กับเด็ก อยากให้เด็กได้ดี อยากให้เด็กมีอนาคตที่ดี ตอนนี้ผมมีมวยในค่ายประมาณ 20 กว่าคน บางคนอยู่บ้านนอกบ้าง บางคนก็อยู่กรุงเทพบ้าง”

และอีกหนึ่งนักชกที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพชรศิลา ว.อุรชา เจ้าของตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยม ที่สร้างชื่อให้กับค่าย ว.อุรชา

 “เพชรศิลา ได้เป็นรองนักมวยดีเด่น กกท. ปี 64 และดาวรุ่งยอดเยี่ยมของผู้สื่อข่าวปี 64 ผมเจอเขาด้วยความบังเอิญ ตอนนั้นพ่อของเขา พา เหนือศิลา พี่ชายของเขาพามาหาเรา อยากให้เหนือศิลามาอยู่กับเรา”

“ซึ่งตอนนั้น เหนือศิลา ยังซ้อมที่ค่ายศิษย์สารวัตรเสือ เพราะว่าเด็กยังใหม่ ไปอยู่ที่โน่นอาจจะไม่ทันเขา ก็เลยมาอยู่ที่นี่ โดยพ่อเขายกให้ผมโดยไม่คิดอะไรเลย เป็นสัญญาใจกันมากกว่า” 

“ตอนนั้น เพชรศิลา ยังอยู่ที่ค่ายศิษย์สารวัตรเสือ ไปต่อยแพ้มา ตอนนั้นยังเด็กอยู่  ก็ชอบมาเล่นกับพี่ชายที่ค่าย ก็เลยบอกว่า มากิน มาเที่ยว มาเล่นได้ แต่จะมาให้เสนอชกไม่ได้นะ เพราะว่าเขายังไม่ได้เป็นมวยเรา”

“ช่วงนั้นทางศิษย์สารวัตรเสือก็เปรยๆมาว่าถ้าพี่ชายเขาอยู่กับเรา แล้วเราอยากจะเอา เพชรศิลา มาทำจริงๆก็มาคุยกัน ผมก็เลยไปคุย และได้ตัวมา” 

 “สำหรับผม ทุกคนในค่าย นักมวยในค่าย ทุกคน คือคนสำคัญสำหรับผม ทุกคนเป็นคนในครอบครัวเดียวกับผม ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร เพราะว่า ทุกคน กินนอนด้วยกัน ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ ผมก็หางานมาให้น้องๆในค่ายทำ ปลาสลิดผมก็ขายนะครับ ผมว่างจัด ไม่มีอะไรทำ ผมมีญาติที่ทำบ่อปลาสลิดย่านอยุธยา สระบุรี ก็เลยเอาปลาสลิดมาขายเพื่อให้เด็กมีอาชีพ มีอะไรทำ”

 

ขณะที่หลักการในการบริหารค่าย ว.อุรชานั้น อุรชา เผยว่าไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลย  “ผมจะบอกนักมวยทุกคนว่า ยังจำวันแรกที่ก้าวเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ไหม ให้จำวันนี้ไว้ ว่าวันที่มาเป็นอย่างไร แล้ววันหนึ่งที่เราเจริญก้าวหน้า เราต้องไม่ลืมว่าเราจะต้องทำตัวอย่างไร”

“บางคนอาจมองว่าผมมียอดมวย มีมวยที่มีชื่อเสียงอยู่ในค่าย ผมก็จะตอบกลับไปเสมอว่า ผมไม่ได้คิดว่าใครเด่นกว่าใคร ผมจะเตือนตัวเองและเด็กเสมอ ว่าทุกคนคือนักมวย ถ้าสังเกตในค่ายผม ผมจะไม่ได้มีรูปเพชรศิลาคนเดียว นักมวยทุกคน คือความทรงจำในชีวิตผม” 

 

“แต่สำหรับยอดศิลา ก่อนอื่นต้องขอบคุณเทรนเนอร์ พลมงคล ศักดิ์หิรัญ ซึ่งดูแลเพชรศิลามาตั้งแต่ไม่มีชื่อเสียง ทุกวันนี้ เพชรศิลา ก้าวมาได้ถึงวันนี้ถ้าไม่มีเทรนเนอร์ ก็คงไม่มีวันนี้เหมือนกัน”

“รางวัลที่ได้มาไม่เคยคาดฝันว่า ค่ายมวยโนเนมค่ายหนึ่งที่คนเคยมองว่า วัยรุ่นคนหนึ่ง เด็กมีตังค์มาทำค่ายมวย จะทำเพชรศิลาได้มีชื่อเสียงขนาดนี้ ผมก็ถือว่า ผมประสบความสำเร็จแล้วครับ”

 

“นอกเหนือจากการที่คุมซ้อม ใส่ใจในรายละเอียดแล้ว เราต้องรู้ใจว่านักมวยแต่ละคนเป็นอย่างไร เราต้องดูแลเขาทั้งในเวลาการชก และนอกเวลาการชก เราต้องเข้าไจเขา เอาหัวใจเราไปใส่ในหัวใจเขาให้ได้ และให้เขารู้ ทุกครั้งที่เขาเดินออกไปจากค่าย ไปทำหน้าที่ ให้เขาภูมิใจว่า เขาคือนักมวยของค่าย ว.อุรชา และเวลาออกไปเขาจะทำหน้าที่ได้เต็มที่”

 

 “อนาคต ผมพยายามจะทำเด็กรุ่นใหม่ โดยการยึดหลักเดิมว่า ผมจะไม่ซื้อยอดมวยมาทำ เนื่องจากมันไม่ใช่ทางที่เราทำตั้งแต่แรก หวังว่าเด็กรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมา จะมองเพชรศิลา หรือ สะท้านฟ้าเป็นตัวอย่างว่า หน้าที่ ความรับผิดชอบ มันมีขนาดไหน เราไม่สามารถมีมวยดังคนเดียวในค่ายได้”

“ อยากให้น้องในค่าย อย่าไปมองถึงตัวเงินที่ได้รับจากการอัดฉีด หรือว่าจากค่าตัวในการเป็นหลักในการยึดอาชีพนี้ อยากให้เด็กทุกคนมองว่า วันนหนึ่งที่เราเลิกมวยไป เขามีชื่อเสียง เขาสามารถหางานทำและใช้ชีวิตเมื่อเลิกมวย เพราะชีวิตมวยมันสั้น สิบปีก็เลิกแล้ว แต่หลังจากเลิกมวยไป อยากให้เขามองอนาคตว่า ให้เขาตั้งใจ ถ้าเลิกมวย เขาสามารถไปเป็นเทรนเนอร์ที่ต่างประเทศได้ มีอาชีพที่ดีได้” 

 

“และผมเชื่อว่าหาคุณมีชื่อเสียง คุณจบปริญญาโท คุณก็ไม่ได้เงินเท่ากับเทรนเนอร์ดังที่ไปสอนต่างประเทศ ขอให้ทุกคนมีความตั้งใจ และ พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วความสำเร็จต่างๆจะตามมาเอง”