พฤติกรรมการออกกำลังกาย

พฤติกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาของประชาชนประจำปีพ.ศ. 2564

การกีฬาแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจข้อมูลออนไลน์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทย จากประชาชน 48.59 ล้านคน บนสื่อโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง พบว่า 2.2 ล้านคน จากประชาชนที่สำรวจนั้นสนใจเรื่องกีฬาและเป็นนักกีฬา โดยผลสรุปด้านพฤติกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน รวมถึงทัศนคติและพฤติกรรมของนักกีฬา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

ในด้านการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน พบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น
โดยการออกกำลังกายยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่  1.) ฮูลาฮูป คิดเป็น 39% ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564,
2.) เวทเทรนนิ่ง คิดเป็น 31.7% ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564,  3.) พิลาทิส คิดเป็น 29.3% ในช่วงเดือน  ม.ค.-มี.ค. 2564 และการเล่นกีฬายอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.) กอล์ฟ คิดเป็น 54.2%, ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564, 2.) เซิร์ฟสเกต คิดเป็น 26%, ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564, 3.) เซิร์ฟสเกต คิดเป็น 19.8% ในช่วงเดือน  ม.ค.-มี.ค. 2564

เมื่อลองสำรวจพฤติกรรมในการรับชมการแข่งขันกีฬาของประชาชน พบว่า ช่องทางในการรับชมกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ 1.) YouTube คิดเป็น 92%, 2.) Facebook คิดเป็น 6.7%, และอื่นๆ คิดเป็น 1.3% โดยกีฬาที่ที่ประชาชนให้ความสนใจอันดับต้นๆ คือ 1.) ฟุตบอล, 2.) มวย, 3.) ฟุตซอล

หากพูดถึงความต้องการของประชาชนในด้านการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ พบว่ามีทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

1.ด้านสถานที่ คิดเป็น 42% ประชาชนมีความต้องการให้รัฐจัดสรรพื้นที่ให้เพียงพอต่อการออกกำลังกายและเล่นกีฬา รวมถึง พื้นที่นั้นๆ ต้องสะอาดและทัศนียภาพต้องดี

2.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก คิดเป็น 21% ประชาชนต้องการที่เก็บสัมภาระที่สะดวกสบาย, มีร้านค้าให้บริการ, ที่จอดรถต้องปลอดภัย, และป้ายบอกทางชัดเจน

3.ด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย คิดเป็น 12% ประชาชนเสนอแนะให้เพิ่มอุปกรณ์ออกกำลังกาย ซึ่งอุปกรณ์ต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ

4.ด้านมาตรการคัดกรอง COVID-19 คิดเป็น 11% ประชาชนต้องการให้มาตรการคัดกรองมีความรัดกุม และเครื่องมือตรวจ COVID-19 ต้องใหม่

5.ด้านความปลอดภัย คิดเป็น 6% ประชาชนต้องการให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่ออกกำลังกาย

ในส่วนของสถานที่การออกกำลังกายและกีฬาที่ได้รับความนิยม พบว่า ประชาชนเลือกออกกำลังกายที่ฟิตเนสมากที่สุด คิดเป็น 63.4% โดยประชาชนกลับมาสนใจการออกกำลังกายในฟิตเนสสูงจากช่วงก่อน COVID-19 แพร่ระบาดอีกครั้ง รองลงมาคือบ้าน คิดเป็น 36.6% ซึ่งประชาชนมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 จากที่เคยออกไปเล่นกีฬาที่ยิมหรือสนามกีฬาเปลี่ยนมาเล่นกีฬาหน้าบ้านกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดแข่งขันกีฬาอยู่ รวมทั้งสิ้น 4 ประการ ได้แก่ 1.) ผู้เข้าชมร่วมกัน คิดเป็น 28.6%, 2.) สารคัดหลั่ง คิดเป็น 25%, 3.) ระยะห่าง คิดเป็น 23.2%, และ 4.) ความสะอาด คิดเป็น 23.2%

ในฝั่งทัศนคติและพฤติกรรมของนักกีฬา พบว่า ชนิดกีฬาที่นักกีฬาอยากเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.) มาราธอน คิดเป็น 53.5%, 2.) ฟุตบอล คิดเป็น 20.5%, 3.) กรีฑา คิดเป็น 11%, 4.) ว่ายน้ำ คิดเป็น 8.2%, 5.) มวย คิดเป็น 6.8%

เมื่อลองสัมภาษณ์เพื่อถามหาเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ พบว่า อันดับแรกนักกีฬามักเลือกประเภทกีฬาที่อยากเล่น และเริ่มถามตัวเองว่าอยากเป็นนักกีฬาเฉยๆ หรือเป็นนักกีฬาอาชีพ เมื่อตัดสินใจได้แล้วจะเริ่มต้นฝึกฝนและพัฒนาทักษะอย่างสม่ำเสมอ โดยมักเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนที่ทางโรงเรียนหรือจังหวัดจัดขึ้นทุกปี เมื่อชำนาญแล้วจะเริ่มหาสโมสร หรือทีมที่ต้องการเข้าร่วม เพื่อสมัครคัดตัว หลังจากเข้าร่วมสโมสรแล้วจะหาโอกาสคัดตัวทีมชาติต่อไป

จากผลสำรวจ 3 อันดับชนิดกีฬาที่นักกีฬาต้องการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ มีดังนี้

1.ฟุตบอล คิดเป็น 60.9% เป็นกีฬาที่เยาวชนฝันอยากจะเป็นมากที่สุด เพราะได้รับความนิยมจากการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.มวย คิดเป็น 26.1% เนื่องจากช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กีฬานักมวยสากลหญิงของประเทศไทยโดดเด่น จึงทำให้กีฬามวยมีเยาวชนสนใจจำนวนมาก

3.วอลเลย์บอล คิดเป็น 13% ได้รับความสนใจจากเยาวชนสูงขึ้น เพราะนักวอลเลย์ไทยถือเป็นตัวอย่างของเยาวชนที่อยากเข้ามาสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เยาวชนอยากเป็นนักกีฬา หลักๆ มีทั้งหมด 3 ประการ คือ 1.) รายได้เลี้ยงครอบครัว คิดเป็น 37.3%, 2.) สามารถสร้างอาชีพได้ คิดเป็น 31.4%, 3.) เพื่อศึกษาต่อในอนาคต คิดเป็น 31.4%

เมื่อถามถึงสิ่งที่นักกีฬาอยากให้รัฐบาลสนับสนุน พบว่าประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1.) เงินเยียวยา คิดเป็น 41%, 2.) การสนับสนุนค่าใช้จ่าย คิดเป็น 20%, 3.) วัคซีน คิดเป็น 20%, และ 4.) ทุนการศึกษา คิดเป็น 11.8%