จรรยาบรรณ

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เดิมสังกัดนายกรัฐมนตรี มีภารกิจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการกีฬา พ.ศ. 2528 โดยมีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมกีฬา ช่วยเหลือร่วมมือ ในการจัดและดำเนินการกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์กรกีฬาหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกประเทศ และจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานราชการ เพื่อให้มีคุณภาพ สูงในการปฏิบัติงาน ในปี พ.ศ. 2545 จึงมีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ทำให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ กกท. มีหน้าที่ใน 2 ด้าน คือ การกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ

วิสัยทัศน์ของ กกท. คือ เป็นองค์กรหลักในการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ ให้ประเทศเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำทางการกีฬาของเอเชีย

การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ใหม่ เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2548 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภารกิจและบทบาทหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การดำเนินงานของ กกท. ประสบความสำเร็จ องค์กรมีความเป็นเลิศด้านระบบโครงสร้าง การกำกับดูแล และการบริหารที่เข้มแข็ง มีการดำเนินงาน ที่ถึงพร้อมด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ความเป็นธรรม โปร่งใสและสร้างคุณค่าโดยรวม บทบาทของบุคคลและองค์กร กับระดับคุณค่า แห่งจรรยาบรรณหรืออุดมคตินั้นล้วนมีอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์กร จรรยาบรรณจึงเป็นกรอบหรือข้อพึงปฏิบัติที่พนักงานต้องรับรู้ ปฏิบัติ และรักษาไว้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดคุณค่าต่อองค์กร และสังคมอย่างแท้จริง

สำหรับ จรรยาบรรณที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ กกท. ได้จัดทำให้มีขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ชัดเจน เป็นศูนย์รวมที่มีบรรทัดฐานเดียวกัน อันประกอบด้วยจรรยาบรรณของคณะกรรมการ กกท. จรรยาบรรณของผู้บริหาร และจรรยาบรรณของพนักงานและผู้ช่วยปฏิบัติงาน เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบและถือปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย นำมาซึ่งชื่อเสียง เกียรติคุณ และความสำเร็จอันดีงามขององค์กรต่อไป

การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548

จรรยาบรรณของคณะกรรมการ กกท.

ด้วย การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการ กกท.จะต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 ว่าด้วยจรรยาบรรณของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ กรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจในด้านความรู้ ความสามารถและมี คุณสมบัติในการเข้ามาดูแลการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ จึงควรต้องดำรงไว้ ซึ่งจรรยาบรรณของกรรมการ รัฐวิสาหกิจ ที่ต้อง ถือปฏิบัติ ดังนี้

  • กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของ องค์กร
  • กรรมการต้องบริหารงาน เพื่อผลประโยชน์ของรัฐ องค์กรและพนักงาน ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนรักษาภาพลักษณ์ ขององค์กร
  • กรรมการ ต้องบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่ฝักใฝ่การเมือง และต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด เพื่อ ผลประโยชน์ต่อรัฐ องค์กร และพนักงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • กรรมการ ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในกิจการที่กระทำกับรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการหรือในกิจการที่มีลักษณะ เป็นการ แข่งขัน กับรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการอยู่ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
  • กรรมการ พึงบริหารงานทั้งมวล โดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตัว ต่อผลประโยชน์ขององค์กร เพื่อให้การ บริหารงานเป็นไปอย่างโปร่งใสมีประสิทธิภาพ โดยผลประโยชน์ข้างต้นรวมถึง
  • (1) ไม่หาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเป็นกรรมการ
  • (2) ไม่ใช้ความลับขององค์กรในทางที่ผิด
  • (3) ไม่เป็นกรรมการในองค์กรที่เป็นคู่แข่งขันขององค์กร
  • (4) ไม่มีผลประโยชน์ในการทำสัญญาขององค์กร
  • กรรมการต้องบริหารงานด้วยความระมัดระวัง และไม่สร้างข้อผูกมัดที่อาจขัดแย้งกับหน้าที่ของตนในภายหลัง
  • กรรมการต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากการทำงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
  • กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อองค์กร
  • กรรมการต้องไม่เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญ หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นกรรมการ หรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหรือธุรกิจการค้าใดอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันหรือทำธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจที่ตนเองเป็นกรรมการอยู่ ไม่ว่ากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น
  • กรรมการ ต้องไม่กระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ ในรัฐวิสาหกิจ ในลักษณะที่มีผลบั่นทอนผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการอยู่ หรือเอื้อประโยชน์ให้บุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น
  • กรรมการ ต้องมีความสามารถในศักยภาพแห่งตนในความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงการดำเนินงานของกิจการ และพร้อม ที่จะแสดงความเห็นของตนอย่างอิสระ
  • กรรมการต้องอุทิศเวลา และทุ่มเทความสนใจที่เป็นประโยชน์และจำเป็นให้กับองค์กรอย่างเต็มที่

จรรยาบรรณของผู้บริหาร กกท.

นอก จากผู้บริหาร กกท. จะพึงปฏิบัติและยึดถือจรรยาบรรณ เช่นเดียวกันกับพนักงาน กกท.และผู้ช่วยปฏิบัติงานแล้ว ยังจะต้อง ปฏิบัติและยึดถือจรรยาบรรณ ดังต่อไปนี้

  • พึงยอมรับว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีค่า เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดขององค์กร
  • พึงพัฒนาและเสริมสร้างพนักงานและผู้ช่วยปฏิบัติงานโครงการในองค์กรให้มีศักดิ์ศรี และศักยภาพในการปฏิบัติงาน
  • เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ส่งเสริมสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของผู้ใต้บังคับบัญชา
  • เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสและยุติธรรม
  • ดำรงตนเป็นผู้นำที่มีวิจารณญาณที่ถูกต้อง รับฟังความคิดเห็นและปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชา
  • พึงให้ความเมตตา กรุณาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
  • มุ่งปฏิบัติในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติ และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงาน แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

จรรยาบรรณของพนักงาน กกท.และผู้ช่วยปฏิบัติงาน

จรรยาบรรณต่อองค์กร

  • ตั้งมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
  • ยึดมั่นในอุดมการณ์และนโยบายขององค์กร
  • ยึดมั่นปฏิบัติตามข้อบังคับ คำสั่ง ระเบียบ และประกาศขององค์กร
  • สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้องค์กร เพื่อประโยชน์ของประชาชน
  • รักษาเกียรติยศ ภาพลักษณ์ และศักดิ์ศรีของตนเองและองค์กร
  • ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร
  • พัฒนาตนเองให้มีความรู้และทักษะ ทันโลกอยู่เสมอ เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในสังคม
  • พึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินขององค์กรอย่างประหยัดและคุ้มค่า

จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมงาน

  • มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ร่วมงานในทุกระดับ โดยเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้ออาทรต่อกันอย่างจริงใจ
  • ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวอันจะมีผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กร
  • รักษาความสามัคคี ส่งเสริม สนับสนุนการให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ให้กันและกัน
  • เสนอข้อมูลที่จะช่วยให้งาน และองค์กร มีความเจริญก้าวหน้า
  • พึงปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ และมีมนุษยสัมพันธ์อันดี

จรรยาบรรณต่อหน่วยงานบุคคลภายนอก

  • ให้บริการด้วยความสุภาพอ่อนน้อม รวดเร็ว ถูกต้อง ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้มารับบริการ
  • มีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
[s_stat]