การควบคุมภายใน

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอกับการดำเนินงานและมีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ความมั่นใจว่าระบบที่วางไว้สามารถดำเนินไปได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้โดยมีโครงสร้างการควบคุมภายใน ครบทั้ง 5 องค์ประกอบ (17 หลักการ) ตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และเสนอรายงานการประเมินผลการควบคุมภายในระดับหน่วยงาน และส่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ประกอบด้วย

         1. หนังสือรับรองการประเมินผลการควบคุมภายใน (แบบ ปค.1)

         2. รายงานผลการประเมินองค์ประกอบของการควบคุมภายใน (แบบ ปค.4)

         3. รายงานแผนการปรับปรุงการควบคุมภายใน (แบบ ปค.5) สรุปได้ดังนี้

  1. สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment)

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ส่งเสริมให้บุคลากรตระหนักถึงความซื่อตรงและจริยธรรม โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติงานการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ITA) ตามแนวทางของ ป.ป.ช. คณะกรรมการ กกท. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในของ กกท. กำกับดูแลติดตามและให้ข้อเสนอแนะ การปรับปรุงการดำเนินงานด้านการควบคุมภายใน โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นฝ่ายอิสระกำกับดูแลและติดตามกระบวนการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพตลอดจนการรายงานต่อคณะกรรมการ กกท. อย่างสม่ำเสมอมีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานไว้อย่างชัดเจน โดยจัดโครงสร้าง องค์กรภายใน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้นรองรับภาระงานและนโยบายสำคัญที่เพิ่มเติมมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร การปรับเลื่อนตำแหน่งและการให้รางวัลเชิดชูเกียรติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และประกาศให้ทราบทั่วกัน เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างไรก็ตาม กกท. ควรมีการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติที่สำคัญให้ทันสมัย และสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์องค์กรที่ได้ทบทวน

  1. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)

กกท. ดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามหลักการมาตรฐาน COSO – ERM โดยครอบคลุมความเสี่ยงทั้ง 4 ด้าน (S , O , F , C) ประเมินและพิจารณาความเสี่ยงของความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดที่สำคัญ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ระดับความรุนแรงของความเสี่ยง ในการพิจารณาค่าโอกาสและผลกระทบ การกำหนดเป้าหมายความเสี่ยง(RA/RT) เพื่อจัดทำการบริหารความเสี่ยง ติดตามการดำเนินงาน ตลอดจน วิเคราะห์ความเสี่ยง จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันความเสียหาย และส่งผลกระทบ ที่อาจส่งผลการดำเนินไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยติดตามและรายงานผลต่อคณะทำงานและอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการ กกท. อย่างสม่ำเสมอ มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตโดยจัดทำแผน การปฏิบัติงานการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ITA) ตามแนวทางของ ป.ป.ช. ซึ่งมีการติดตามและรายงานผลต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะกรรมการ กกท. อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม กกท. ควรมีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงในกระบวนการทำงานให้แก่บุคลากร กกท.

  1. กิจกรรมการควบคุม (Control Activities)

กกท. มีกิจกรรมการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ลดน้อยลงโดยผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการระบุและพิจารณากิจกรรมควบคุมมีการประเมินประสิทธิผลของการควบคุมภายใน และการประเมินองค์ประกอบของการควบคุมภายใน (CSA) ในระดับส่วนงานย่อย เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการควบคุมภายใน ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมควบคุมและเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยมีคณะทำงานและอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในของ กกท. กำกับดูแลและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

  1. สารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication)

กกท. นำระบบสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย มีความรวดเร็วและ ถูกต้อง มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามกระบวนการควบคุมภายในที่กำหนดให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานและผู้บริหาร โดยสื่อสารกับบุคลากรทุกระดับให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินใจและการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การติดตามประเมินผล (Monitoring)

กกท. จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอระหว่างการปฏิบัติงานโดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำสรุปผลการดำเนินงาน นำเสนอผู้บริหาร คณะทำงานและอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในของ กกท. เป็นรายไตรมาส เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติงานตามองค์ประกอบของการควบคุมภายในที่กำหนด หากพบข้อบกพร่องสามารถรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อหาวิธีการแก้ไขได้และสั่งการทันท่วงที

[s_stat]