ชนาธิป จักรวาฬ : นักบาสเกตบอลต้นแบบจากลำปางที่ก้าวไปล่าเงินล้านในลีกอาชีพต่างแดน | MAIN STAND

บาสเกตบอล ถือเป็นกีฬาที่วัยรุ่นไทยนิยมมากสุดอีกชนิดหนึ่ง ไม่แปลกหากจะมีเยาวชนมากมายใฝ่ฝันอยากเติบโตขึ้นไปเป็นนักยัดห่วงอาชีพ 

 

แต่ถ้าจะหาใครสักคนที่เป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นหลังเดินตาม “โอม – ชนาธิป จักรวาฬ” นักบาสเกตบอลหมายเลข 1 ทีมชาติไทย คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่เรานึกถึง 

ไม่ใช่เพราะเขาคือนักกีฬาไทยที่กำลังก้าวไปเล่นในลีกไต้หวัน เตรียมคว้าเงินหลักล้านตลอดสัญญา 8 เดือน ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ จากคนที่ไม่เคยให้ความสนใจกีฬาบาสเกตบอลมาก่อน เด็กหนุ่มจากจังหวัดลำปางที่มีพื้นฐาน 0 เต็ม 100 ในวันนั้น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ได้อย่างไร ?

 

ชนาธิป กำลังจะบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางบนเส้นทางนักกีฬาอาชีพของเขา และข้อคิดสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวไม่เคยหันหลังให้กับการเรียนแบบเดียวกับที่นักบาสเกตบอล NBA ทำ แม้เขาจะได้ค่าตอบแทนอันงดงามจากการเล่นกีฬา

 

จากวงโยธวาทิต สู่สนามบาสเกตบอล

“ตอนแรกผมไม่ได้มาทางสายกีฬาเลยครับ ผมมาทางสายดนตรี เพราะเป็นคนชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก อยู่วงโยธวาทิตมาตั้งแต่ ม.1 เลยครับ” 

“จนมาช่วงเรียนอยู่ชั้น ม.3 มีเพื่อนชวนไปเล่นบาสเกตบอล เพราะเขาเห็นผมตัวสูง ตอนแรกผมก็ปฏิเสธเพื่อนอย่างเดียวเลยนะครับ เพราะว่าผมเล่นบาสไม่เป็น” 

“เมื่อเราเล่นกีฬาสักอย่างไม่เป็น มันก็จะไม่อยากเล่นใช่ไหมครับ แต่เพื่อนคะยั้นคะยอมาก จนผมคิดว่า ลองไปเล่นดูก็ได้ ช่วงแรกเลยไปเล่นแบบขำ ๆ ชู้ตบาสแบบคนเล่นไม่เป็นเลยครับ”

ชนาธิป ย้อนเล่าถึงวันที่เขายังศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ช่วงเวลาที่ชนาธิปยังมีความสุขกับเสียงดนตรี และมีความฝันอยากเรียนต่อในคณะดุริยางคศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ

กาลเวลาล่วงผ่านไป พรสวรรค์ที่โดดเด่นขึ้นมาจนเห็นได้ชัดของชนาธิป กลับไม่ใช่ความสามารถทางดนตรี แต่เป็น “ส่วนสูง” ซึ่งเพิ่มขึ้นปีละ 10 เซนติเมตร จนกลายเป็นที่หมายตาของบรรดาผู้คลั่งไคล้กีฬาบาสเกตบอลในโรงเรียน

“ผมเป็นคนที่สูงมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ผมอยู่หลังแถวตลอด ตอน ม.1 ผมสูง 170 เซนติเมตร เพราะผมจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเขายังสูงกว่าผมอยู่เลย แต่ปิดเทอมกลับมาเรียนอีกทีตอน ม.2 ผมก็สูงเท่าเขาละ เพิ่มขึ้นมาเกือบสิบเซนติเมตร พอ ม.3 ผมก็สูงกว่าเขาละ ตอนนั้นน่าจะสูงประมาณ 190 เซนติเมตร”

 

“ช่วงแรกผมก็คิดว่ามันแปลกนะครับ อาจจะเป็นปัญหาที่กรรมพันธุ์หรือเปล่า หรือว่าเราเป็นโรคอะไรที่แปลกไปจากคนอื่น แต่แม่ผมที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล ก็ลองเอาเรื่องของผมไปปรึกษาหมอ เขาก็บอกว่ามันเป็นไปได้ เพราะพ่อของผมเป็นคนสูง 190 เซนติเมตรเหมือนกัน แม่ผมก็สูง 170 เซนติเมตร ลุงป้าน้าอาทุกคนก็สูงกว่า 170 เซนติเมตรกันหมด”

“เมื่อผมลองเริ่มเล่นบาสเลยรู้ว่า การที่ผมตัวสูงมันช่วยให้เราได้เปรียบมหาศาล มันขี้โกงมากครับ แค่เอื้อมมือนิดเดียวก็ถึงแป้นแล้ว ผมเลยรู้สึกแบบ เออ น่าลองเล่นดู เพราะเราตัวสูงมันได้เปรียบคนอื่น”

ชนาธิป ไม่เคยคิดฝันว่าวันหนึ่งเขาจะก้าวเดินบนเส้นทางบาสเกตบอลอาชีพ และประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยติดตามกีฬายัดห่วงมาก่อน แต่จับพลัดจับผลูได้มาเล่นเกมยัดห่วงเนื่องจากส่วนสูงที่มากกว่าคนอื่นในโรงเรียน

จุดเปลี่ยนที่เริ่มนำทางชนาธิปสู่เส้นทางบาสเกตบอลจริง ๆ คือ คำชักชวนจากโค้ชบาสเกตบอลประจำโรงเรียนประชาวิทย์ สถานศึกษาอีกแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่มาหยิบยืมสนามบาสของโรงเรียนมัธยมวิทยาเป็นที่ฝึกซ้อม และมาเห็นส่วนสูงเกือบ 200 เซนติเมตรของชนาธิป จึงตัดสินใจเอ่ยปากชวนเขาเข้าสู่ทีม

แม้จะเพิ่งเล่นบาสเกตบอลได้ไม่นาน แต่ชนาธิปที่เริ่มสนุกไปกับการฝึกซ้อมกีฬาหลังเลิกเรียน เขาจึงตกปากรับคำเข้าร่วมทีมบาสเกตบอลโรงเรียนประชาวิทย์ 

แม้ขวบปีแรกของเขากับทีมจะไม่มีอะไรมากกว่าการนั่งสำรอง ชนาธิปที่มีความสามารถแค่เล่นลูกใต้แป้น เนื่องจากความสูงที่เหมือนสูตรโกง มักถูกส่งลงมาสัมผัสการแข่งขันแค่ 1-2 นาทีสุดท้ายของเกม

เมื่อก้าวสู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชนาธิปเริ่มได้โอกาสเดินทางออกไปแข่งขันตามจังหวัดต่าง ๆ ในละแวกนั้น และเป็นอีกครั้งที่ความสูงของเขาไปสะดุดตาโค้ชจากโรงเรียนอื่น แต่คราวนี้กลับเป็นโรงเรียนมัธยมชื่อดังจากกรุงเทพมหานคร อย่าง อัสสัมชัญธนบุรี

“ตอนนั้นมีหลายโรงเรียนเหมือนกันนะครับ แต่ผมปฏิเสธไปทุกโรงเรียนเลย เพราะว่าไม่อยากไปอยู่ไกลบ้าน แต่ทางนั้นก็ตื้อมาตลอด ผมก็ปฏิเสธเรื่อย ๆ จนมีคนหาบ้านผมเจอ”

“เขาไปหาชื่อผมจากทะเบียนราษฎร์ มีไปตามหาชื่อที่อำเภอ หรือถามคนแถวนั้นว่ารู้จักนามสกุลผมไหม หลังจากนั้นก็มาหาผมที่บ้าน จนแม่โทรหาว่า มีคนมาชวนไปเล่นบาสที่กรุงเทพฯ แต่ผมก็ไม่เอา”

“มีอยู่วันหนึ่งมีคนชวนผมไปเข้าแคมป์ของอัสสัมชัญธนบุรี มันเป็นแคมป์คัดเลือกนักกีฬาของโรงเรียน กินนอนอยู่ที่นั่น 7 วัน เขาบอกให้ไปลองฝึกดูก่อน ถ้าไม่เอาก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ไปลองฝึก”

“เมื่อผมได้มีโอกาสไปลองฝึกซ้อม ตอนแรกเราก็กลัว ๆ เพราะเราไม่มีเพื่อนแบบคนอื่น แต่พอได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 7 วัน ผมก็เริ่มได้เพื่อนใหม่ เมื่อได้เพื่อนก็เริ่มมีความคิดว่าจะลองย้ายมาเรียนที่นี่ดูก็ได้ บวกกับที่บ้านผมไม่ได้รวย แล้วแม่เป็นคนหาเงินคนเดียว พี่สาวผมช่วงนั้นก็เรียนมหาวิทยาลัย มันต้องใช้เงินเยอะ”

“ผมก็เลยโอเค ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ดีกว่า เพราะมันได้ทุนเรียนฟรี ไม่เสียค่าอะไรสักอย่าง กินฟรี อยู่ฟรี ค่าชุด ค่าหนังสือ อะไรแบบนี้ ฟรีหมดเลย”

 

ตั้งใจเล่นกีฬา แต่อย่าทิ้งการเรียน

เมื่อย้ายสู่กรุงเทพมหานคร เป้าหมายการเล่นบาสเกตบอลของชนาธิป ไม่มากไปกว่าการใช้กีฬาเป็นทางผ่านไปสู่รั้วมหาวทิยาลัย และเขาก็ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ 

ด้วยการเข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้ทุนการศึกษาโควตานักกีฬาทีมชาติ 

แต่บททดสอบที่ยากจริง ๆ อยู่บนสนามบาสเกตบอลอาชีพ เพราะชนาธิป ต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวจริงในสโมสร 

ชนาธิป เซ็นสัญญาเข้าสู่สังกัดทีมไฮเทค บาสเกตบอล คลับ นับตั้งแต่ก้าวออกจากรั้วอัสสัมชัญธนบุรี แต่ด้วยผลงานที่ยังไม่เข้าตา และถูกส่งลงเพียงนาทีสุดท้ายของเกม เขาจึงถูกส่งไปเล่นกับทีมรองอย่าง TGE ไทยเครื่องสนาม บาสเกตบอล คลับ 

“ตอนนั้นได้เงินแปรผันมาก สักหมื่นบาทต่อเดือน ช่วงที่ผมเล่นลีกแรก ๆ เพราะหลังจากที่เข้ามหาลัยช่วงแรก ผมยังเป็นตัวสำรองของทีมอยู่ เงินเดือนมันเลยน้อย”

“หลังจากนั้นสโมสรเปลี่ยนโค้ชคนใหม่ เป็นโค้ชจากสหรัฐอเมริกา ตอนแรกผมเกร็งมากนะครับ แต่ปรากฎว่าเขาชอบเรา เพราะว่าผมเป็นคนที่สูง รูปร่างเราดี โค้ชก็เลยให้โอกาสเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ผมติดตัวจริงตลอด จากที่เคยมีเวลาลงสนามไม่ถึงนาทีก็โดนดันขึ้นมาเป็นตัวจริง”

ชนาธิป พิสูจน์ตัวเองกับสโมสร TGE ไทยเครื่องสนาม ได้สำเร็จ จึงถูกดันขึ้นสู่ทีมไฮเทค และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นตัวหลักของทีม 

สิ่งที่ตามมาคือ รายได้ของชนาธิปที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากหนึ่งหมื่นขยับเป็นสองหมื่น จากสองหมื่อนขยับเป็นสามหมื่น จากสามหมื่นขยับเป็นห้าหมื่น ชนาธิปสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองโดยไม่ลำบากทางบ้านที่ลำปางอีกแล้ว 

แต่เจ้าตัวไม่เคยมองเงินที่หามาได้สำคัญกว่าสิ่งหนึ่งที่จะกำหนดเส้นทางในอนาคตของเขาตลอดไป คือ การศึกษา

“ผมเคยวางแผนไว้ว่าเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมจะไปทำอาชีพตามสายงานที่เราเรียนมา ไม่เคยคิดว่าต้องเป็นนักบาสเกตบอลเต็มตัวแบบนั้น คิดว่า อายุสัก 25-26 ปีก็คงเลิกเล่นบาส เพราะมองว่าในบ้านเราตอนนั้นมันต่อยอดไปได้ไม่ไกล คงยังสร้างอาชีพให้เราไม่ได้”

“ผมเลือกการเรียนมาก่อนบาสเกตบอลเสมอ ช่วงนั้นมีสละสิทธิ์รายการทีมชาติไป 2-3 ครั้ง เพราะว่าผมเลือกการเรียนก่อน” 

“ส่วนตัวผมคิดว่า สักวันหนึ่งผมต้องเลิกเล่นบาสเกตบอล แล้วถ้าเราเรียนจบแค่วุฒิการศึกษา ม.6 มา มันคงจะหางานยาก จะสมัครงานที่ไหนเขาต้องให้คนจบปริญญาตรีก่อน ผมจึงอยากเรียนให้จบแล้วค่อยมาเต็มที่กับบาสเกตบอล”

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ชนาธิปคลุกคลีกับวงการบาสเกตบอลบ้านเรา เขาพบเห็นนักบาสเกตบอลฝีมือดีมากมายที่ต้องโบกมือลาวงการ เนื่องจากประสบปัญหาอาการบาดเจ็บ และไม่สามารถกลับมาเล่นบาสเกตบอลในระดับสูงได้อีก 

การมีอาชีพนอกสนามกีฬารองรับอนาคตของตัวเองไว้ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของชนาธิปเสมอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะขนาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีระบบลีกบาสเกตบอลอาชีพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง NBA ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่จะเข้าลีกได้ก็ต้องผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว 

“เหมือนที่ผมพูดไปตั้งแต่แรกว่า อนาคตในวงการบาสเกตบอลมันไม่แน่นอน วันนี้ผมอาจจะเก่งมากทำ 30-40 แต้มต่อนัด แต่ถ้ามีแมตช์หนึ่งบังเอิญผมเอ็นเข่าขาดขึ้นมา ผมก็คงไปได้ไม่ไกล”

“แต่ถ้าผมเรียนจบมหาวิทยาลัย มันเหมือนมีประกันอยู่ในมือ ประกันที่บอกว่าถ้าเราจะเลิกเล่นบาสเมื่อไหร่ เราก็สามารถทำอาชีพอื่นได้”

“ย้อนกลับไปปีที่แล้ว ผมมีโอกาสกลับไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ผมก็บอกกับศิษย์ปัจจุบันให้น้องตั้งใจเรียน อย่าไปทุ่มเทให้กับการเล่นบาสเสียทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ให้แบ่งเป็น 50 การเรียน 50 จะดีกว่า หรืออย่างมากก็เรียน 40 เปอร์เซ็นต์ เล่นบาสสัก 60 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่าทิ้งการเรียน ยังไงก็ต้องเรียนให้จบ”

 

ตัวอย่างที่ดีแก่เด็กรุ่นต่อไป

ถึงจะโฟกัสกับการเรียนไม่แพ้เกมกีฬา แต่ชนาธิปไม่เคยไม่เต็มร้อยทุกครั้งที่ได้ลงสนาม เมื่อเขาก้าวเป็นผู้เล่นตัวหลักของบาสเกตบอลทีมชาติไทย และเริ่มแสดงผลงานในการแข่งขันระดับนานาชาติ 

นั่นจึงทำให้เขาได้รับโอกาสที่ไม่มีใครคาดคิด คือการได้รับข้อเสนอสัญญาจาก New Taipei CTBC DEA  สโมสรบาสเกตบอลในไต้หวัน พร้อมค่าตอบแทนมหาศาลเดือนละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท

“เป้าหมายสูงสุดที่ผมตั้งไว้ในการเล่นบาส คือการออกไปเล่นลีกต่างประเทศ มันค่อย ๆ ขยับมาทีละนิดจากการเล่นบาสเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย มาเป็นการเล่นบาสเพื่อติดทีมชาติ จนเป็นอยากจะได้เหรียญทองซีเกมส์สักครั้ง” 

“แต่การคว้าเหรียญรางวัล มันเป็นเป้าหมายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ผมเลยมองถึงการเล่นลีกต่างประเทศ ก็คิดว่าสมบูรณ์แล้วในชีวิตนักกีฬา”

“ผลงานของผมเองก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง ตอนไปแข่งทัวร์นาเมนต์ของ FIBA ที่ประเทศกาตาร์ แล้วผมทำ 34 แต้มใส่ทีมฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติที่เก่งบาสมากในเอเชีย คราวนี้ก็มีคนตัดคลิปผมไปลงยูทูบว่ามีคนทำ 34 แต้มใส่ทีมเขา ผมก็เลยกลายเป็นไวรัลที่ประเทศฟิลิปปินส์”

“ส่วนตัวผมอยู่กับกีฬาบาสเกตบอลมานาน ผมก็รักมันและอยากทำออกมาให้ดีที่สุด ความจริงผมไม่เคยคิดเลยว่าการไปเล่นต่างประเทศจะได้เงินเยอะขนาดนี้ ตอนแรกผมคิดว่า 3 ถึง 5 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน คือมากกว่า 5 หมื่นบาทไทยขึ้นไปก็ถือว่าเยอะแล้วนะครับ แต่พอเจอตัวเลขจริง ๆ เข้าไป ผมช็อกเลยครับ (หัวเราะ)”

“สัญญาที่เขาเสนอมาคือ 8 พันดอลลาร์สหรัฐ ตกเดือนละ 2 แสนกว่าบาท แล้วไปอยู่เกือบ 8 เดือน เพราะเป็นสัญญาหนึ่งฤดูกาล ตอนแรกผมคิดว่าอาจจะไม่ไปเหมือนกัน เพราะผมเรียนอีกปีก็จะจบแล้ว แต่พอเจอตัวเลขตรงนี้ ผมตัดสินใจไปเลย มันเยอะจริง ๆ ครับ”

เมื่อมองไปยังปลายทางต่อไปของชีวิตอย่าง ไต้หวัน ชนาธิปยอมรับว่า เขาเดินทางมาได้ไกลเกินกว่าที่เด็กคนหนึ่งจากจังหวัดลำปางคาดฝันไว้ เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเด็กที่ไม่สนใจกีฬา แถมยังเล่นบาสเกตบอลไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่วันนี้เขากำลังจะออกไปหากินต่างประเทศ และกอบโกยเงินล้านกลับบ้าน

มีเยาวชนมากมายที่มองชนาธิปเป็นไอดอล และอยากประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ ชนาธิปทราบดีถึงสถานะของตนและอยากส่งมอบโอกาส รวมถึงแนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้มีใจรักกีฬาบาสเกตบอลรุ่นหลัง โดยเฉพาะที่บ้านเกิดในจังหวัดลำปาง ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางสู่ไต้หวันของชนาธิป

“ผมมีแผนจะกลับไปทำโครงการสอนบาสที่จังหวัดลำปาง เป็นโครงการการกุศลไม่ได้หารายได้อะไร ผมอยากไปสอนน้อง ๆ ที่อยู่แถวบ้าน ผมอยากทำสนามให้พวกเขา เพราะผมก็รู้ดีว่า คนลำปางเล่นบาสที่ไหน” 

“ความจริงผมอยากไปติดต่อผู้ใหญ่ในลำปางให้ช่วยจัดการแข่งขันบาสเกตบอล เพราะตั้งแต่ที่ผมเล่นบาสที่ลำปางจนมาถึงตอนนี้ ผมรู้ว่าลำปางแทบจะไม่มีการจัดการแข่งขันบาสเลย ผมเลยอยากให้เขามาส่งเสริมตรงนี้”

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ และออกไปฝึกซ้อมเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการไปเล่นบาสยังลีกต่างแดน 

ชนาธิป ฝากเราย้ำเตือนกับเยาวชนรุ่นใหม่ทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จบนเส้นทางนักกีฬาบาสเกตบอล เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะก้าวมาถึงตรงนี้ โดยชนาธิปหวังว่า เรื่องราวของเขาจะเป็นแนวทางช่วยให้นักกีฬารุ่นหลังประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตนเองเป็น

“ผมมองว่า คุณต้องเป็นตัวท็อปจริง ๆ ถึงจะหาเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าคุณไม่ใช่ผู้เล่นที่สะดุดตาของทีมนั้น รายได้มันก็จะไม่มั่นคง หลายคนได้เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท บางคนอาจจะได้แค่หมื่นเดียว ผมอยากย้ำว่าคุณต้องเป็นตัวท็อปจริง ๆ”

“ผมคิดว่าประวัติของผมน่าจะเป็นแนวทางให้น้องได้ดี เพราะมันคงไม่ง่ายถ้าจะมีใครสักคนที่เดินทางเส้นเดียวกับผม ทั้งการเริ่มต้นเล่นจากไม่มีอะไรเลย จนได้โอกาสเข้ามากรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็เข้ามาเล่นในสโมสร แล้วก็ก้าวไปติดทีมชาติ”

“ผมคือคนที่เริ่มจากศูนย์ ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเลี้ยงตัวเองได้ ผมคิดว่าเรื่องราวของผมคงเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง ๆ ได้เดินตาม”