มุกข์ลดา สารพืช : สาวแกร่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงก็แข่งรถเป็นอาชีพได้ | Main Stand

มุกข์ลดา ทำตามที่คุณแม่ขอไว้ทุกอย่าง เธอมุ่งมั่นฝึกซ้อมควบคู่ไปกับการเรียน โดยการขี่นาโนไบค์ได้มอบทักษะในการเป็นนักแข่งให้กับตัวเธอตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ทั้งการทรงตัว การฝึกควบคุมรถในจังหวะเลี้ยวซ้าย-ขวา การอ่านไลน์สนามแข่งว่ามุมไหนต้องควบคุมรถอย่างไรให้สามารถรักษาระดับเวลาไว้ได้ดีที่สุด

หลังจากโลดแล่นและกวาดแชมป์ในการแข่งนาโนไบค์อยู่เกือบ 4 ปี เธอก็ได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์จริง ๆ เป็นครั้งแรก

 

เป็นผู้หญิงจะได้สักแค่ไหน

ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งนาโนไบค์ได้ทำให้ มุกข์ลดา หลงรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ตมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ฝีมือการขับขี่ของเธอก็เป็นที่สนใจจากค่ายรถหลายแห่ง ก่อนจะได้รับคำชวนจากทีมฮอนด้า ช.เจริญยนต์ ให้มาอยู่ในสังกัด พร้อมยกระดับสู่การแข่งขันจักรยานยนต์ ในรุ่น 125 ซีซี

การแข่งขันในรุ่น 125 ซีซี นับเป็นพิกัดยอดฮิตในเมืองไทย เพราะรถจักรยานยนต์ที่ใช้แข่งขันส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ใช้กันทั่วไปตามท้องตลาด เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบความเร็วแต่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก บางรายการมีกติกาต้องยึดเครื่องยนต์และอุปกรณ์เดิมทุกอย่าง บางรายการอนุญาตให้ปรับแต่งอุปกรณ์เพิ่มเติมได้บางอย่าง จึงเปรียบเสมือนลานประลองของร้านแต่งรถและอู่รถต่าง ๆ ที่ปรับจูนรถมาโชว์ศักยภาพ 

ที่สำคัญยังเป็นจุดเริ่มต้นของนักแข่งมืออาชีพหลายคน เพราะหลายค่ายเลือกที่จะจ่ายเงินจ้างนักแข่งฝีมือดีมาขี่รถของตัวเอง ซึ่ง มุกข์ลดา เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน 

“ตอนอายุ 14 มุกข์ได้รับคำชวนมาอยู่ในทีมฮอนด้า ช.เจริญยนต์ ให้มาแข่งรุ่นออโตเมติก 125 ซีซี” 

“เอาจริง ตอนนั้นคร่อมรถขายังไม่ถึงพื้นเลยนะ (หัวเราะ) แต่พอมาลองดูมันต่างจากนาโนไบค์พอสมควร ต้องปรับตัวอยู่หลายเดือน ดีตรงที่เราพอมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว และรู้สึกสนุกด้วยที่ความเร็วมันเพิ่มขึ้น รุ่นนี้จะอยู่ประมาณ 100-110 กิโลเมตร/ชั่วโมง”

“สำหรับมุกข์ที่นี่เหมือนเป็นการเริ่มเส้นทางการเป็นนักแข่งเต็มตัว เพราะแข่งสนามจริง ใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ใช้กัน ที่สำคัญคือมีเงินเดือนประจำ เดือนละ 6,000 บาท ไม่รวมเงินรางวัลและโบนัสต่าง ๆ ที่ได้จากการแข่งขัน ตอนนั้นก็ตระเวนแข่งขันไปทั่วเลย” มุกข์ลดา เผย

แม้จะยกระดับขึ้นมาสู่สังเวียนเครื่องยนต์ แต่ด้วยความกล้าและจิตใจที่สู้ไม่แพ้ชายอกสามศอก ทำให้เธอสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าแชมป์ในรายการ Motorcycle Mag Road Racing Championship 2013 และคว้าอันดับ 2 จากรายการ Asia Dream Cup: Suzuka Circuit Japan จนเริ่มเป็นที่รู้จักและมีสื่อหลายเจ้าจับตาให้ความสนใจมากขึ้น และช่วงนั้นเองที่เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตเธอ

“มีคอลัมน์หนึ่งเขาเขียนท้าทายเรา ประมาณว่าลงแข่งแต่รถตามท้องตลาดทั่วไปก็เก่งอยู่แล้ว แต่ถ้าลองรุ่นที่ใหญ่กว่านี้ขึ้นไปเป็นผู้หญิงจะได้สักแค่ไหน ? เราได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราคิดว่าเราทำได้ เลยตัดสินใจขยับรุ่นขึ้นทันที”

ข้อความที่ท้าทายเชิงสบประมาทได้ทำให้ไฟในตัว มุกข์ลดา ลุกโชนขึ้นมา เธอจึงตัดสินใจที่จะยกระดับความเร็วให้สูงขึ้นด้วยการลงแข่งขันในรุ่น 250 ซีซี โดยได้รับการสนับสนุนจาก เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ หนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย โดยได้เซ็นสัญญาเป็นนักแข่งในสังกัดตั้งแต่ปี 2015

การได้เข้ามาอยู่ในสังกัดค่ายรถมืออาชีพ ทำให้มุกข์ลดาได้ฝึกฝนทักษะการเป็นนักแข่งที่เพิ่มมากขึ้น เพราะรถในรุ่นนี้นอกจากจะมีความแรงที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแล้ว ยังเป็นรถมีคลัตช์ ทำให้ต้องปรับจูนในจังหวะต่าง ๆ ทั้งการออกตัว การเร่งสปีด 

ซึ่งเธอยังได้รับการดูแลฝึกฝนโดยมืออาชีพอย่าง “ฟิล์ม” รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ อดีตนักบิดโมโต ทู คนแรกของเมืองไทย ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชให้กับทางฮอนด้า เรซซิ่ง สคูล

“ถ้าถามว่าเป็นนักแข่งอยู่แล้วทำไมต้องไปเรียนอีก เพราะมันต่างกัน การที่เราเรียนผิดเรียนถูกมากับหลักการที่เขาสอนอย่างถูกต้องมันมีรายละเอียดที่ต่างกันเยอะพอสมควร ทั้งการเข้าโค้ง การคุมน้ำหนักรถที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการล้มที่ถูกวิธี มุกข์ใช้เวลาฝึกอยู่เป็นเดือนถึงจะค่อย ๆ เริ่มชินขึ้นมา แต่พอเริ่มได้ที่ก็เริ่มสนุกมากขึ้น”

“แล้วพอได้ซ้อมได้ลองแข่งจริงเรารู้เลยว่าการเป็นผู้หญิงไม่ได้เสียเปรียบผู้ชายเลย โอเค เรื่องพละกำลังเราอาจเป็นรอง แต่ทุกอย่างเราทำได้เหมือนกันหมด ขอแค่คุณมีจิตใจที่สู้ มีความมุ่งมั่น และเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ อย่างถูกวิธี ถึงเป็นผู้หญิงก็สามารถแข่งได้ กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์มันไม่มีแบ่งการแข่งขันหรือรุ่นตามเพศ ทุกคนต้องการชัยชนะ ต้องการขึ้นโพเดียม ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน” สาวนักบิดวัย 28 ปี กล่าวอย่างมั่นใจ

การได้เรียนรู้ทักษะที่ถูกต้องทำให้ฝีมือของมุกข์พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ที่สำคัญยังสามารถลบคำสบประมาทด้วยผลงานอันยิ่งใหญ่ระดับทวีป…

 

จารึกประวัติศาสตร์

หลังขยับรุ่นขึ้นมาเป็น 250 ซีซี มุกข์ลดา ใช้เวลาฝึกฝนฝีมือ 3 ปี ก็แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถประสบความสำเร็จบนเวทีมอเตอร์สปอร์ตได้ หนำซ้ำยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย 

ท่ามกลางแสงแดดจ้าของบ่ายวันอาทิตย์อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาฯ ณ สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2018 เป็นการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย รายการ “เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2018” รุ่นเอเชีย โปรดักชั่น 250 ซีซี สนามแรก โดยมีนักแข่งทั่วเอเชียเข้าร่วมชิงชัยรวม 26 คัน ทั้งจาก ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอีกมากมาย

มุกข์ลดาในสีเสื้อ เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ หมายเลข 44 คือนักแข่งหญิงเพียงคนเดียวบนสังเวียน มือซ้ายของเธอกำคลัตช์แน่นเพื่อเตรียมควบรถ Honda CBR250RR คู่ใจออกสตาร์ทจากกริดที่ 8

ทันทีที่สัญญาณปล่อยตัวดัง มุกข์ลดาบิดคันเร่งเต็มกำลังจนสามารถทะยานขึ้นมารั้งอันดับ 1 ได้ในรอบที่ 3 เส้นทางของเธอดูเหมือนจะสดใสขอเพียงรักษาระดับความเร็วไว้ให้ได้จนครบ 10 รอบเท่านั้น

ทว่าในรอบที่ 8 เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในขณะที่มุกข์ลดากำลังควบรถมาถึงโค้งที่ 5 ซึ่งเป็นโค้งหักซ้ายเกือบ 90 องศา เธอพลาดท่าหลุดโค้งออกไปจนทำให้อันดับหล่นมาอยู่ที่ 10 วินาทีนั้นความฝันในการขึ้นโพเดี้ยมแทบจะเลือนลาง

แต่ด้วยประสบการณ์และความเป็นนักสู้ เธอไม่คิดที่จะยอมแพ้ พยายามกัดฟันเร่งเครื่องให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด 

จากอันดับ 10 ค่อย ๆ ขยับแซงขึ้นมาเรื่อย ๆ อันดับ 9 อันดับ 8 อันดับ 7 คันแล้วคันเล่า…

ครบ 10 รอบ ในที่สุดเธอสามารถแซงขึ้นมารั้งอันดับ 1 พร้อมผ่านธงตราหมากรุกได้เป็นคันแรกด้วยเวลา 19 นาที 11.671 วินาที คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ พร้อมทำท็อปสปีดได้สูงถึง 200.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

ที่สำคัญยังเป็นการจารึกประวัติศาสตร์เป็นนักแข่งหญิงคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้…

“วันนั้นเป็นวันที่มุกข์ทำความฝันให้เป็นจริงได้สำเร็จ เราลงแข่งรายการนี้มา 3 ปี ในที่สุดก็คว้าอันดับ 1 ได้ ที่สำคัญยังเป็นการคว้าแชมป์ในประเทศไทยต่อหน้าแฟน ๆ ชาวไทยที่มาเชียร์อีกด้วย” 

“ต้องขอบคุณ เอ.พี.ฮอนด้า ที่เชื่อมั่นในตัวเรามาโดยตลอด รวมถึงทีมงานทุกคนที่ทำงานหนักร่วมกันมา มุกข์ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้หญิงก็ประสบความสำเร็จได้ อยากเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทุกคนที่มีความฝันกล้าที่จะลุกขึ้นมาทดสอบตัวเอง”

ภายหลังจากคว้าแชมป์แรกมาครองได้สำเร็จ เส้นทางบนสังเวียนความเร็วของเธอก็เฉิดฉายต่อเนื่อง ประสบความสำเร็จมากมายในรุ่น 250 ซีซี ไม่ว่าจะเป็น การคว้าแชมป์สนามเดิมอีกครั้งในปี 2019 และคว้าอันดับ 4 รายการ All Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น 

ก่อนที่ปี 2020 มุกข์ลดาจะเพิ่มความท้าทายด้วยการขยับพิกัดขึ้นมาแข่งขันในรุ่น 600 ซีซี แม้จะเป็นน้องใหม่ในรุ่นนี้แต่เธอก็ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการขึ้นโพเดียม 3 สนามติด (อันดับ 3, อันดับ 2, อันดับ 2) ในการแข่งขันซูเปอร์ไบค์ชิงแชมป์ประเทศไทย รายการโออาร์ บีอาร์ไอซี ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ 2021 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ 

แน่นอนว่าถึงตอนนี้เป้าหมายของเธอคือการปลดล็อกแชมป์แรกในรุ่นนี้ให้ได้ในเร็ววัน

“หลังจากขยับรุ่นขึ้นมาตอนแรกต้องปรับตัวพอสมควร เพราะรถใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น และแรงขึ้นกว่า 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเทคนิกการขี่ไม่ต่างจากเดิมมาก แต่เราต้องเพิ่มพละกำลังเพื่อให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น ตอนนี้เลยเน้นที่การเล่นเวทเทรนนิ่งเพื่อฟิตร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น เช้าก็จะตื่นมาวิ่ง 1-2 ชั่วโมง ช่วงบ่ายก็ซ้อมทักษะการขี่รถ พอตกเย็นก็เข้ายิมเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง”

“ตอนนี้มุกข์สามารถทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็อยากจะโฟกัสกับการฝึกซ้อมให้มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเป้าหมายต่อจากนี้คือต้องคว้าแชมป์ในรุ่นนี้ให้ได้” นักบิดวัย 28  ปี เผย

 

มอเตอร์สปอร์ตสร้างชีวิต

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่มุกข์ลดาโลดแล่นบนเส้นทางมอเตอร์สปอร์ต นอกจากจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าผู้หญิงก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ได้ เธอยังแสดงให้เห็นว่าการเป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์ เป็นอาชีพที่มอบทั้งชื่อเสียงและเงินทองให้กับเธอจนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

ที่สำคัญปัจจุบันนี้การแข่งขันจักรยานยนต์ ยังได้รับการบรรจุเข้าเป็น 1 ใน 14 กีฬาอาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 จึงจะเห็นได้ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพดึงทัวร์นาเมนต์ระดับโลกและระดับทวีปเข้ามาจัดการแข่งขันมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจและเป็นเป้าหมายให้กับนักแข่งรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

“มุกข์พูดได้เลยว่าการเป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์ได้มอบทุกอย่างให้กับมุกข์ เป็นอาชีพที่ทำให้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เลย มีเงินเดือนจากค่ายรถที่สังกัด มีเงินโบนัสจากการแข่งขัน มุกข์สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัวแทนคุณพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว มีเงินส่งให้คุณแม่ มีเงินส่งน้องชายเรียนได้”

“อนาคตถึงแม้จะเลิกเป็นนักแข่งแล้วก็ยังมีอีกหลายเส้นทางรองรับ ทั้งการเป็นโค้ช เป็นครูฝึก หรือเปิดกิจการขายอุปกรณ์เกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ตของตัวเอง เพราะทุกวันนี้วงการแข่งรถในเมืองไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อนโควิดจะแพร่ระบาดมีการแข่งขันกันแทบทุกสัปดาห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังจะกลับมาเป็นแบบนั้นอีกครั้ง”

มุกข์ลดา ทิ้งท้ายว่าถึงแม้การแข่งรถจะดูเป็นกีฬาที่เสี่ยงอันตราย แต่ทุกอย่างมีการเซฟตี้เป็นอย่างดีทั้งหมวกกันน็อกและชุดแข่งขันที่มีเทคโนโลยีบรรจุ Air-Bag หรือ ถุงลมนิรภัยลงไปในชุดบริเวณหน้าอกและแขน โดยจะปล่อยก๊าซออกมาเพื่อให้ถุงลมพองตัว เซฟอันตรายภายในเสี้ยววินาทีที่เซนเซอร์พบการกระแทกบนตัวนักแข่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง

“น้อง ๆ ที่มีความสนใจทั้งผู้ชายและผู้หญิง ใครสนใจอยากเป็นนักแข่งสามารถเข้ามาได้เลย ขอเพียงมีใจรักและมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะทุกวันนี้โอกาสเปิดกว้างมาก ทุกค่ายรถมีการเปิดอคาเดมีอบรมการขับขี่ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานโดยโค้ชมืออาชีพ  ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรถเป็นของตัวเองก็สามารถเข้ามาฝึกได้ หากใครมีฝีมือก็จะได้รับการสนับสนุนและผลักดันต่อ หรือหากลองแล้วไม่ชอบก็สามารถใช้ทักษะเหล่านั้นขับขี่บนท้องถนนในชีวิตประจำวันได้”

“ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝน อย่าคิดแค่ว่าเคยแข่งรถกันตามท้องถนนแล้วจะมาเป็นนักแข่งได้ เราอยากให้คนที่แข่งกันบนถนนได้คำนึงถึงความปลอดภัยแล้วมาแข่งในสนามที่มีระบบเซฟตี้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทั้งกับตัวเองและผู้อื่น การเป็นนักแข่งอาชีพได้ทั้งเงิน ความสนุก และยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย” มุกข์ลดา ทิ้งท้าย