วัชรชัย ราชแพทยาคม : จากฝันเป็นยอดนักเตะสู่โค้ชผู้ดูแลความฟิตทีมบอลอาชีพไทยลีก | MAIN STAND

วัชรชัย ราชแพทยาคม : จากฝันเป็นยอดนักเตะสู่โค้ชผู้ดูแลความฟิตทีมบอลอาชีพไทยลีก | MAIN STAND

ในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน “วิทยาศาสตร์การกีฬา” จัดว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับสโมสรลูกหนังอาชีพสมัยใหม่ เพราะนักฟุตบอลต่างต้องใช้ร่างกายอย่างหนักแทบทุกสัปดาห์ ในโปรแกรมแข่งขันที่กินเวลายาวนานหลายเดือน 

Main Stand จะขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับคนทำอาชีพ “ผู้ดูแลความฟิตของนักฟุตบอล” ผ่านเรื่องราวของ “แจ๊ค-วัชรชัย ราชแพทยาคม” ฟิตเนสเทรนเนอร์หนุ่มวัย 26 ปี ผู้เคยพลาดหวังจากความฝันเป็นนักฟุตบอลไทยลีก สู่การเป็นโค้ชฟิตเนสที่ทำงานประจำให้กับสโมสรชั้นนำอย่าง “ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด”  

 

 

จุดเริ่มต้นของความฝัน

“ตอนเป็นเด็กผมก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปที่ชอบกีฬาฟุตบอล ชอบเล่น ชอบดู แล้วก็ชอบอ่านหนังสือกับเปิดชมคลิปเกี่ยวกับฟุตบอล” วัชรชัย กล่าวเปิดบทสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือ ถึงความสนใจในวัยเด็กของเขา

“ความตั้งใจแรกผมอยากเป็นนักกีฬาอาชีพก่อน คิดหาหนทางว่าทำอย่างไรที่จะเข้าไปเป็นนักกีฬาอาชีพได้บ้าง ก็เริ่มเล่นตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียน แต่ว่าด้วยความสามารถหรืออะไรต่าง ๆ ไม่อาจทำให้เราไปสู่จุดนั้นได้”

“วัชรชัย” มีความฝันที่ไม่ได้แตกต่างกับเด็กผู้ชายทั่วไปที่อยากเติบโตไปเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” มีรายได้ ชื่อเสียง เงินทอง จากการได้เล่นกีฬาและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

หากแต่คนที่สามารถไปถึงจุดนั้นได้จริงกลับมีเพียงน้อยนิด สวนทางกับคนจำนวนมากที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย และต้องเบนเข็มไปค้นหาวิถีทางอื่นให้ตัวเองได้เริ่มต้นใหม่  

ด้วยการที่ร่ำเรียนในสายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษา บวกกับความตั้งใจที่อยากทำงานเกี่ยวกับฟุตบอลต่อไป ทำให้เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา “วัชรชัย” ตัดสินใจเรียนต่อที่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

“พอจบ ม. ปลาย ก็เลยมองหาว่ามีอาชีพไหนบ้าง ที่อย่างน้อยถ้าเราไม่ได้เป็นนักฟุตบอล แต่ว่าเราก็ยังได้มีโอกาสอยู่ในเส้นทางที่ใกล้เคียงกับการเป็นนักกีฬาบ้าง อย่างน้อยเราทำแล้วน่าจะรู้สึกว่าสนุกมากกว่าทำอาชีพอื่น”

วิชาความรู้ด้าน “วิทยาศาสตร์การกีฬา” เปิดมุมมองให้ “วัชรชัย” มองเห็นและทำความรู้จักกับโลกกีฬาในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน และมันยิ่งปลุกไฟให้เขาอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอลอาชีพ เพื่อนำเอาศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาไปใช้กับฟุตบอลจริง ๆ เมื่อถึงช่วงเวลาที่ “วัชรชัย” ต้องออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ในช่วงชั้นปีที่ 4 เป็นจังหวะเดียวกับที่
ทางสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดรับสมัครตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลของทีมสำรองพอดี เขาจึงตัดสินคว้าโอกาสดังกล่าวไว้ และเข้ามาเริ่มงานกับทีมตั้งแต่ปี 2018

จากตรงนี้เองที่ทำให้เขาสามารถทำผลงานได้เข้าตาสโมสร จนได้รับการติดต่อให้กลับเข้ามาร่วมงานอย่างเต็มตัว และเริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชฟิตเนสประจำสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด

งานของคนเบื้องหลัง

เป็นเรื่องปกติของฟุตบอลที่นักเตะ ผู้จัดการทีม และโค้ช ย่อมถูกพูดถึงมากกว่าทีมงานเบื้องหลัง บางคนอาจนั่งอยู่ในห้องแต่งตัว ออฟฟิศสโมสร หรือปรากฏตัวอยู่บนเบาะแถวหลังในม้านั่งสำรองระหว่างเกม

แต่เมื่อแสงสปอตไลท์ในสนามดับลง งานของเหล่าสตาฟเบื้องหลังเหล่านี้ก็แทบจะต้องเริ่มต้นในทันที เช่นเดียวกับหน้าที่ของ วัชรชัย ผู้ต้องคอยช่วยดูแลนักเตะในทีมชุดใหญ่ เพื่อให้พวกเขาพร้อมที่สุดสำหรับเกมการแข่งขัน 90 นาทีในสนาม 


“ด้านแรกคือเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถภาพทางกายของนักกีฬาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และพร้อมจะเพิ่มเติมศักยภาพให้มากขึ้นได้ เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย ขนาดของกล้ามเนื้อ หรือพัฒนาการเรื่องความฟิต ระบบการทำงานของหัวใจ การไหลเวียนของเลือด อะไรต่าง ๆ เพื่อให้นักกีฬาสามารถลงเล่นตลอดทั้ง 90 นาทีได้”

“ด้านต่อมาคือการเตรียมนักกีฬาให้มีความพร้อมในการทำการฝึกซ้อมหรือทำการแข่งขัน ในช่วงระหว่างการ Warm-up และ Cool down ของตัวนักกีฬา ที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสามารถรับมือกับแบบฝึกต่าง ๆ ที่โค้ชวางไว้ได้ เช่น ถ้าวันนี้มีแบบฝึกที่ค่อนข้างจะต้องวิ่งเยอะ จะต้องทำอย่างไรให้นักกีฬามีสภาพร่างกายที่พร้อมมากที่สุด”

“เรื่องสุดท้ายก็เป็นด้านเกี่ยวกับเรื่องนอกสนาม ก็จะดูเรื่องการทดสอบและประเมินร่างกายของนักกีฬา เพื่อที่เราจะได้เห็นข้อมูลและวิเคราะห์ว่านักกีฬาเหล่านี้มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมหรือเปล่า มีปริมาณไขมันในร่างกายอยู่ในเกณฑ์ประมาณไหน เราจะต้องเป็นคนที่คอยทดสอบและประเมินเขา ว่าสภาพร่างกายเขาอยู่ในสภาพที่ดีมากน้อยแค่ไหน”

อาจฟังดูเหมือนนี่เป็นตารางงานแบบปกติทั่วไป เพราะคนที่ติดตามฟุตบอลอยู่แล้ว ก็คงพอเดาได้ว่าโค้ชฟิตเนสจะต้องคอยดูแลสิ่งเหล่านี้ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

“สมมติเวลาไปพักที่โรงแรม ก็ต้องดูว่าอาหารประเภทไหนบ้างที่นักเตะสามารถรับประทานได้ ต้องเสริมอะไรบ้าง” 

“โดยสำหรับนักเตะแล้ว เราจะต้องคำนึงว่าเขาจะได้รับสารอาหารครบห้าหมู่ แล้วเราค่อยเสริมพวกคาร์โบไฮเดรต ข้าว แป้ง อาจจะเป็นพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว ที่จะต้องมีให้อย่างเพียงพอ เนื่องจากพลังงานหลักของร่างกายมาจากคาร์โบไฮเดรต ถ้านักกีฬาได้รับในปริมาณต่ำเกินไป เขาก็จะรู้สึกไม่มีแรงหรืออ่อนเพลียได้”

“อย่างถัดมาคือโปรตีน ที่จำเป็นจะต้องมีมากหน่อยสำหรับนักกีฬา เนื่องจากมันจะช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และช่วยให้ร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อระหว่างการแข่งขันได้ช้าลง รวมทั้งพวกวิตามินและเกลือแร่ และก็พวกผลไม้ที่ควรรับประทาน”

“ที่ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด จะมีการแบ่งผู้เล่นออกเป็นสามประเภท กลุ่มแรกคือนักเตะที่ค่อนข้างจะผอมที่ต้องการจะเพิ่มน้ำหนัก กลุ่มนี้จะต้องใช้สูตรโปรตีนแตกต่างออกไปจากกลุ่มนักกีฬาปกติ และมีกลุ่มที่ต้องควบคุมน้ำหนักตัว โดยประเภทหลังนี้จะต้องใช้ส่วนประกอบของน้ำตาลกับไขมันที่น้อยลง”

 

ไม่ได้มีแค่ความฟิต

นอกจากดูแลเรื่องความฟิตและโภชนาการของทีมแล้ว งานของคนที่ดูแลด้านฟิตเนสนั้น ยังต้องครอบคลุมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการฝึกซ้อมจนถึงช่วงที่ต้องลงแข่งขัน

“งานของโค้ช คือการระบุว่าจะซ้อมแบบไหน อยากเล่นแทคติกแบบไหน ให้ผู้เล่นทำหน้าที่อะไรบ้างในสนาม แต่ในด้านฟิตเนสนั้น เราจะต้องพยายามสร้างผู้เล่นให้พร้อมใช้งานสำหรับโค้ช”

“พอคนพูดถึงเรื่องฟิตเนส ก็อาจคิดถึงว่าผู้เล่นเขาฟิตไหม ลงเล่นได้ครบ 90 นาทีหรือเปล่า แต่ในความจริงแล้ว มันมีรายละเอียดที่ย่อยลงไปเยอะมาก” 

“อย่างเช่น ผู้เล่นคนนี้แข็งแรงหรือยัง หรือเยาวชนที่เพิ่งขึ้นมาโดยมีโครงสร้างร่างกายที่ผอมมาเลย เราก็มีหน้าที่ในการสร้างกล้ามเนื้อให้กับเขา ฝึกให้เขาเปลี่ยนกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแล้วมาเป็นพละกำลังได้ หรือทำให้เขากระโดดสูงขึ้น เตะบอลได้แรงขึ้นได้อย่างไร”

วัชรชัย ยังได้กล่าวถึงความหลากหลายในการเตรียมความพร้อมของแต่ละเกมการแข่งขันที่จะขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่นของทีม จะมีการบีบพื้นที่สูงในแดนบนไหม ? ใครต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษบ้าง ? 

จำนวนการแข่งขันเป็นแบบสัปดาห์ละนัดหรือมีเกมกลางสัปดาห์เข้ามาคั่นอีกนัดไหม ? เล่นเกมเหย้าหรือเยือน ถ้าเยือนแล้วต้องนั่งเครื่องบินไปหรือนั่งรถไป ? 

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแค่บางส่วนในภาระงานที่โค้ชฟิตเนสอย่าง แจ๊ค-วัชรชัย ต้องเผชิญในการดูแลบรรดาผู้เล่นของ “แข้งเทพ” เหล่านี้ 

ทั้งดูแลเรื่องความฟิต สุขภาพ อาหารการกิน วิเคราะห์ข้อมูล และประเด็นอื่น ๆ ในด้านที่มีศาสตร์ของวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาเกี่ยวข้อง จนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดคำถามขึ้นมาได้บ้างว่า ทำไมหน้าที่ของโค้ชหนึ่งคนถึงมีมากมายขนาดนี้

ประเด็นดังกล่าวนั้น วัชรชัย ได้เปิดเผยว่าทางสโมสรมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น นักกายภาพบำบัด ที่มีองค์ความรู้พื้นฐานด้านเดียวกัน สามารถประสานงานและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อยู่ราว 4-5 คน ส่งผลให้สามารถดูแลนักกีฬาได้จำนวน 25-30 คนในทีมชุดใหญ่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้นั่นเอง

เขาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า “หากทีมในไทยมีการลงทุนในด้านการเพิ่มจำนวนของสตาฟหรือคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา แน่นอนว่าทุกทีมจะสามารถพัฒนานักกีฬาได้มากยิ่งขึ้น เหมือนกับเวลาเรามีรถราคาแพงอยู่หนึ่งคัน เราก็ต้องการช่างที่มีความรู้เฉพาะทาง มีช่างดี ๆ เติมน้ำมันดี ๆ แล้วก็ซ่อมบำรุงด้วยสิ่งที่ดี ๆ อะครับ นักกีฬาก็เช่นกัน”

ในเรื่องของค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่อย่าง วัชรชัย ที่ทำหน้าที่ดูแลในด้านฟิตเนสของสโมสรระดับไทยลีกเป็นอย่างไรกันบ้าง ? ซึ่งโค้ชวัย 26 รายนี้ก็เปิดเผยว่าตัวเลขนั้น “ค่อนข้างที่จะดีในระยะยาว” เลยทีเดียว โดยระบุเพิ่มเติมว่ารายได้ดังกล่าวยังคงแปรผันขึ้นอยู่กับแต่ละทีม

เจ้าตัวระบุว่าเมื่อได้รับไลเซนส์มา (วัชรชัย ได้รับ AFC C-license ด้านโค้ช) ก็เปรียบดั่งเป็นใบเบิกทางในการเพิ่มรายได้ขึ้นไปอีก แม้อาจจะไม่ได้มั่นคงในระดับนั้น แต่ก็คุ้มค่ากับความเสี่ยงและความสามารถที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาเหล่านี้มีอยู่อย่างแน่นอน

ฟุตบอล เป็นกีฬาที่ใช้ผู้เล่น 11 คนบนสนาม และผู้เล่นก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจนอาจไปบดบังส่วนอื่นให้อยู่ในเงาก็เป็นได้ 

แต่ต้องไม่ลืมว่านอกจากผู้เล่นที่เอาแรงกายลงไปวิ่งในแมตช์การแข่งขันแล้ว ยังมีอีกหลายส่วนที่ทำงานร่วมกันอยู่ เพื่อส่งเสริมให้สโมสรในองค์รวมสามารถขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้

เช่นเดียวกันกับ “โค้ชแจ๊ค” – วัชรชัย ราชแพทยาคม ชายผู้ค่อยซ่อมบำรุงให้รถราคาแพงคันนี้ สามารถวิ่งไปแตะความเร็วสูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีชิ้นส่วนใดเกิดความเสียหายขึ้นมาระหว่างนั้น