NICH(E) : แบรนด์จักรยานสายเลือดไทยที่อยากให้ทุกคนได้ปั่นของคุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึง | MAIN STAND 

หากไม่ใช่ยานพาหนะขนาดใหญ่ที่ใช้สัญจรทางไกลอย่างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เราเชื่อว่าคนส่วนมากก็น่าจะเคยปั่นจักรยานกันมาบ้าง แม้ไม่ใช่การปั่นเพื่อออกกำลังกายอย่างจริงจัง แต่อาจจะเป็นระยะสั้นอย่างปั่นไปซื้อกับข้าวหรือปั่นวนเวียนอยู่ในซอยหรือในหมู่บ้านเท่านั้น และในหลาย ๆ ครั้งเราอาจจะเคยนึกสนุกปั่นเล่นออกไปสำรวจให้ไกลมากขึ้นจากที่ที่เรารู้จัก ออกไปจากคอมฟอร์ตโซนของเรา รู้ตัวอีกทีเราก็กลายเป็นคนชอบปั่นจักรยานไปเสียแล้ว 

 

เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงกับ ชิน-ชินธิป บุญโชคหิรัญเมธา จากในอดีตที่เคยเป็นเด็กชอบปั่นจักรยานสำรวจบริเวณซอยรอบบ้านของตัวเองแถวย่านอ่อนนุช กรุงเทพมหานคร พร้อมกับนึกภาพตัวเองเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพ คอยปลดล็อกค้นพบสถานที่ใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยไปผ่านการปั่นจักรยานเล่นในวัยเด็ก จนกลายมาเป็นความชอบและอาชีพของเขาในทุกวันนี้

ปัจจุบัน ชิน เป็นเจ้าของแบรนด์จักรยานที่มีชื่อว่า “นิช” (Nich) แบรนด์จักรยานเสือภูเขาที่เริ่มต้นมาจากความรักในจักรยานและงานพิเศษอย่างการขายเสื้อผ้าจักรยานมือสอง สู่ธุรกิจระดับประเทศที่ผลิตจักรยานคุณภาพให้แก่นักปั่นในประเทศไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล

Main Stand x การกีฬาแห่งประเทศไทย ขอชวนมาทำความรู้จักกับแบรนด์นิช (ที่ไม่นิช) ไปพร้อม ๆ กัน กับคอลัมน์ “แบรนด์ไทย” ในโปรเจคต์ Dare to be pro 

สิ่งที่หลงลืม

แม้ว่าคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อของ “ชิน-ชินธิป บุญโชคหิรัญเมธา” มาก่อน แต่ชื่อนี้อาจจะเป็นชื่อที่ค่อนข้างคุ้นหูในหมู่นักปั่นจักรยานเสือภูเขาและเสือหมอบเป็นอย่างดี เพราะนี่คือ “พี่ชิน” แห่ง “นิช ไซคลิ่ง” (Nich Cycling) แบรนด์จักรยานสายเลือดไทยที่ก่อตั้งขึ้นมาจากความรักในจักรยานของเขา ที่เริ่มมาจากการขายเสื้อผ้าจักรยานมือสองแบบออนไลน์ จนค่อย ๆ ขยับขยายไต่เต้าขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพในปัจจุบัน 

เรื่องของเขาฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะความสำเร็จของเขาไม่ได้ได้มาเพราะความบังเอิญ แร็กขนจักรยานบนหลังคารถแวนที่เขาขับมาเจอเรา ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าเขาคนนี้รักจักรยานจริง ๆ ก่อนที่เขาจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นและความทรงจำแรกสุดของเขากับจักรยานให้เราฟัง 

“ตอนผมเด็ก พอดีว่าแถวบ้านผมมีร้านจักรยานอยู่ ผมก็ชอบไปนั่งดูช่างที่เป็นคุณลุงเขาทำจักรยาน ไปดูเขาซ่อม ไปช่วยเขาหยิบจับ หรือบางทีก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ไปนั่งเฉย ๆ เพราะชอบดู พอถึงวันที่เก็บตังค์ได้ เราก็เอาเงินไปซื้อจักรยานจากร้านลุงนี่แหละ

“ผมก็เหมือนเด็กทั่วไปที่สนุกกับการปั่นจักรยาน ปกติก็จะปั่นในซอยแถวบ้าน แต่หลัง ๆ พอกล้ามากขึ้นก็จะเริ่มออกจากซอย แล้วก็จำสถิติไว้ ‘วันนี้ไปซอยนี้มาแล้ว ซอยนี้ยังไม่ได้ไป’ คิดสนุกของตัวเองอยู่คนเดียวว่าตัวเองไปได้ไกลขึ้น”

จุดเริ่มต้นในความชอบจักรยานของเขานั้นฟังดูเรียบง่ายไม่หวือหวา มีแต่ความไร้เดียงสาตามประสาเด็กที่ชอบเล่นสนุกกับของเล่นเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่วัยที่โตขึ้น ความชอบของเขาก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามวัย จนมีช่วงหนึ่งที่ทำให้เขา “หลงลืม” จักรยานไปเฉย ๆ 

“ตอนที่เข้าเรียน ม.1 ผมก็เริ่มแต่งจักรยานเล่นกับเพื่อน เอาชิ้นส่วนมาพ่นสีเล่นกัน เหมือนเป็นจักรยานที่เราได้คัสตอมเอง ทำแบบนั้นอยู่ได้สักพัก พอถึง ม.3 ผมก็เลิก ไปสนใจพวกโรลเลอร์เบลดกับสเกตบอร์ดแทน โดยเฉพาะโรลเลอร์เบลดนี่ผมเล่นจริงจังเลย 

“กลับมาสนใจอีกทีก็ตอนที่ทำงานแล้ว” 

ชินธิปเล่าให้ฟังถึงความชอบของเขาที่วนเวียนกลับมาเหมือนกับล้อจักรยานยังไงอย่างงั้น แต่เขาในตอนนั้นก็คงไม่รู้ว่า การได้โคจรกลับมาพบกับความชอบในวัยเด็กของตัวเองอีกครั้ง มันจะกลายเป็นธุรกิจของเขามาจนถึงทุกวันนี้ 

งานพิเศษรอบดึก 

ชินธิปจบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตสื่อเป็นหลัก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอยากเป็น “ช่างภาพ” และเริ่มเอาจริงเอาจังกับเส้นทางอาชีพนี้ จนเขาได้เป็นช่างภาพสารคดีที่ถ่ายภาพให้กับนิตยสารท่องเที่ยว 

ในวัยที่โตขึ้นจักรยานได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งในฐานะยานพาหนะที่ช่วยให้เขาได้ลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปในแต่ละวัน

“ผมซื้อจักรยานเสือภูเขาเพื่อขี่ไปทำงาน เพราะว่าต้องการประหยัดค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ โชคดีที่ออฟฟิศผมอาบน้ำได้ ก็เลยเริ่มขี่จักรยานไปทำงานไปกลับจากบ้าน 

“ผมเริ่มสังเกตว่าผมเริ่มกลับมาทำแบบตอนเด็ก แทนที่จะปั่นไปทำงานเลย ผมมักจะปั่นอ้อมไปทางอื่นเพื่อไปสำรวจ เพื่อจะได้ใช้เวลากับจักรยานได้นานขึ้น ผมตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อจะได้ไปปั่นจักรยานเล่นก่อนแล้วค่อยมาทำงาน” 

ชินธิปในตอนนี้ได้กลับมาสนใจจักรยานอีกครั้ง เริ่มสนใจในอุปกรณ์หรือตัวจักรยานแบบเชิงลึกมากขึ้น สิ่งแรกที่เขาสังเกตได้นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่หายากในตอนนั้น ได้แก่ “เสื้อผ้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากพอกัน เสื้อผ้าปั่นจักรยานที่ออกแบบมาเพื่อการปั่นโดยเฉพาะกลายเป็นสิ่งที่นักปั่นแต่ละคนต่างก็ต้องการ จุดนี้เองที่ทำให้เขาเริ่มมีไอเดียอยากจะทำธุรกิจขึ้นมา 

เขาแบ่งเวลาให้กับงานประจำในฐานะช่างภาพและ “งานพิเศษ” ในฐานะพ่อค้า การขายอุปกรณ์จักรยานหลังจากเลิกงานในตอนดึกจึงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเขาไป

งานพิเศษรอบดึกของเขา พาเขามาตรงนี้ได้อย่างไร ?​


“ตอนที่จะเริ่มทำแบรนด์จริง ๆ อุปกรณ์จักรยานมีน้อยมาก นี่คือจุดที่มันหายไป เราก็เลยมองเห็นโอกาสบางอย่าง เป็นรายได้พิเศษนอกเหนือจากงานประจำ ยุคนั้นอีเบย์กำลังมา เราเลยได้รู้ว่ามันมีร้านค้าหรือโรงงานที่ขายเสื้อผ้าจักรยานในอีเบย์ด้วย ก็เลยเริ่มสั่งมาขายในเมืองไทย ขายออนไลน์ผ่านเว็บบอร์ด ในพื้นที่ของคนที่ชอบจักรยานเหมือนกัน” 

นิช ไซคลิ่ง ถือกำเนิดขึ้น โดยชื่อ นิช เพี้ยนมาจากคำว่า “Niche” ที่แปลว่า “เฉพาะกลุ่ม” เมื่อตัดตัว E ออกไป จะเหลือเพียงแค่ชื่อเล่นของชินธิปที่นำมาสลับตัวอักษรกันและกลายเป็นชื่อแบรนด์ของเขา ไฮไลท์ที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจนี้ของเขา ณ ตอนนั้นคือการสั่งทำเฟรมจักรยานยี่ห้อของตัวเองจากไต้หวัน มองย้อนกลับไปเส้นทางนี้เป็นเหมือนบันไดที่เขาค่อย ๆ เดินขึ้นไปทีละขั้น
อย่างหน้าร้านปัจจุบันที่เห็น เมื่อก่อนก็ไม่มีแบบนี้ ชินธิปเริ่มทำจักรยาน ซ่อม ประกอบจักรยานให้ลูกค้าโดยใช้บ้านตัวเองเป็นที่ตั้ง การค่อย ๆ ขยับขยายแบบนี้ สอนให้เขาไม่ต้องรีบก้าวข้ามขั้นหรือไม่ต้องรีบวิ่งขึ้นบันได

“ธุรกิจมันค่อนข้างมีพัฒนาการของมัน ไม่ใช่ว่าตอนแรกจะไปสั่งผลิตของที่เป็นแบรนด์เราเลย มันทำแบบนั้นไม่ได้เพราะว่าต้นทุนเราไม่เยอะ ผมค่อย ๆ เพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มเยอะเกินจนถึงขนาดต้องไปกู้หนี้ยืมสินอะไร มีทุนเพิ่มก็พัฒนาเพิ่ม แค่นั้นเลย”

งานพิเศษที่ว่านี้ของเขากำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ นั่นทำให้เขาแบ่งเวลาระหว่างงานประจำกับงานพิเศษไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจออกจากงานประจำแล้วหันมาโฟกัสกับสิ่งที่ชอบจริง ๆ ในที่สุด พร้อมเดินหน้าปั่นธุรกิจสองล้อนี้ของเขาให้ไปไกลกว่าเดิม

“ทำงานสองกะมันเริ่มไม่ไหว ทำทางไหนก็ไม่สุดสักทาง พองานรองเริ่มกินเวลางานหลัก เราก็รู้สึกเหมือนไปโกงนายจ้างแล้ว รู้สึกว่าเราพลาดเยอะ ไม่อยากจะไปรบกวนเขา สุดท้ายก็ลาออก” 

การตัดสินใจของเขาในวันนั้นนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างถูก เพราะนอกจากจะได้รู้ว่าเขาชอบอะไรจริง ๆ คือการได้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าของตัวเองเป็นใคร 

“คุณภาพ” นำ “ราคา” 

ชินธิปนึกย้อนกลับไปในวันที่เขาเริ่มกลับมาสนใจในจักรยานแบบจริงจัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาพบว่าตลาดของจักรยานในไทยนั้นซบเซาเพียงใด เขาในวันนี้ในฐานะผู้ผลิตจึงอยากอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ชอบจักรยานเหมือนกับเขาให้ได้มากที่สุด ด้วยการวางตัวเป็น “Local Brand” หรือ “แบรนด์ท้องถิ่น” ตีตลาดคนรักจักรยานในไทยอย่างจริงจัง 

“ความคิดแรกสุดเลยคือทำเพื่อคนไทย ผมอยากให้นิชเป็นสินค้าทางเลือก ตอนนั้นที่เริ่มทำเราก็รู้แล้วว่าต่างประเทศก็มีแบรนด์จักรยานดี ๆ มีแบรนด์ตั้งเยอะที่มันไม่ได้อยู่ในประเทศเรา นี่คือสิ่งที่เมืองไทยไม่มี เราก็เลยอยากจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาบ้างในประเทศเรา ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครทำเลย มีเราเป็นเจ้าแรกสุด” 

ถึงนิชจะเป็นแบรนด์แรกที่เริ่มเจาะตลาดคนปั่นจักรยานเสือภูเขาแบบจริงจัง แต่การวางตัวเป็นแบรนด์ท้องถิ่นแบบนี้ก็มีอุปสรรคไม่น้อย อย่างเช่นเรื่องของความน่าเชื่อถือที่สร้างยากเป็นพิเศษ 

“จุดด้อยของการวางตัวเป็นแบรนด์ท้องถิ่นก็คือความน่าเชื่อถือกับตลาด เพราะว่าเขาจะไม่รู้จักเรา แล้วเขาก็จะไม่เชื่อว่าสินค้าไทยจะทำได้ เขาจะติดภาพว่ามันต้องเป็นสินค้าที่มาจากยุโรปหรืออเมริกา นี่คือจุดที่เราต้องสู้ แล้วก็ต้องพิสูจน์ด้วยเวลา ซึ่งตอนแรกมันยากมาก

“นิชเติบโตขึ้นได้เพราะเราเริ่มให้นักกีฬาใช้ก่อน สมัยนั้นมันมีทีมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราก็ประสานงานกับเขา ส่งให้นักกีฬาเขาใช้ พอได้รางวัลคนก็เริ่มรู้จักเรา พอมีทุนเพิ่มขึ้นก็เริ่มเอาเพื่อน ๆ มาแข่งด้วยกันเป็นทีมจักรยานนิช ฝึกซ้อม สร้างผลงานกันเอง มีคนเข้ามาร่วมมากขึ้น จนกลายเป็นที่ยอมรับว่าสินค้าเรามีคุณภาพจริง ๆ” 

การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของนิช ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ถูกเผยแพร่ตามงานแข่งเท่านั้น แต่ความจริงเรื่องของ “คุณภาพ” เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่แบรนด์นิชมุ่งให้ความสำคัญเป็นหลัก แม้จะสะดุดบ้างกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ต ที่มองว่าแบรนด์นิชเป็นแบรนด์ไทยที่ไม่สมราคา 

“เราเน้นคุณภาพก่อน นั่นเลยทำให้หลาย ๆ คนบอกว่า ‘ทำไมจักรยานคนไทย แต่ราคาแพงจัง’ หรือ ‘ทำไมราคาเหมือนจักรยานเมืองนอกเลย ?’ ซึ่งเขามักจะลืมไปว่า เขาเอาราคาจักรยานเมืองนอกตัวกลางถึงล่างสุดมาเทียบกับตัวท็อปเรา ซึ่งมันเอามาเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว” 

อีกสิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ นิชเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขายมาก อีกทั้งทางแบรนด์ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “Nich Fitting Lab” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการปรับแต่งจักรยานให้เหมาะกับผู้ใช้หลังจากที่ซื้อจักรยานไปแล้ว เพื่อให้การปั่นสะดวกสบายที่สุด 

“เวลาลูกค้าซื้อจักรยานไป เราต้องช่วยเลือกไซส์ที่เหมาะกับขนาดร่างกายของเขา ถึงจะใช้จักรยานยี่ห้อเดียวกันแต่ว่ามันก็มีหลายไซส์ เราก็ต้องทำฟิตติ้งให้กับลูกค้า ต้องให้เขาซื้อได้อย่างถูกต้อง เมื่อประกอบรถเสร็จแล้วก่อนจะเอารถไปขี่ เราก็ต้องปรับความสูงของเบาะให้พอดี ระยะการจับไม่เมื่อย ร่างกายกับอุปกรณ์ต้องเชื่อมโยงกัน” 

“จักรยานมันเป็นสินค้าที่ใช้แล้วสึกหรอได้ มีการเปลี่ยนอะไหล่ในระยะเวลา 1 ถึง 10 ปี ต้องมีอะไรสักอย่างพังแน่ ๆ ถ้าหากเขาไม่มีคนดูแลแล้วเขาจะไปเอาอะไหล่ที่ไหน ถ้าเราไม่มีบริการหลังการขาย สุดท้ายคนปั่นจักรยานก็ต้องซื้อรถใหม่ เราก็เลยอยากจะติดต่อกับลูกค้าไปเรื่อย ๆ เผื่อวันหนึ่งเขาจะได้กลับมาหาเราหรือวางใจให้เราช่วยอีกในอนาคต” 

ปัจจุบัน นิช กลายเป็นแบรนด์จักรยานที่ได้รับความไว้วางใจจากนักปั่นหลาย ๆ คน เพราะความใส่ใจต่อลูกค้าตั้งแต่การให้คำแนะนำไปจนถึงการเลือกซื้ออุปกรณ์ การประกอบ ปรับแต่ง จนเข็นจักรยานออกมาจากร้าน อีกทั้งยังเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากล เพราะทางร้านเองก็มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาแวะเวียนพบกับชินธิปอยู่บ่อย ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราสงสัยมาตลอดการพูดคุยคือ อะไรที่เป็นแรงผลักดันที่ยังขับเคลื่อนชินธิปอยู่ ?

เพื่อหาคำตอบเราจึงได้ถามถึง “เป้าหมาย” ต่อไปของเขา ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้คำตอบด้วยว่าอะไรที่ขับเคลื่อนเขาอยู่ทุกวันนี้ 

 

CHILDHOOD DREAM 

ด้วยความที่วงการจักรยาน ณ วันนี้ไม่ได้เฉพาะกลุ่มเกินไปเหมือนวันแรกที่เขาเริ่มต้นแล้ว เราจึงถามถึงความเป็นไปได้ของตลาดจักรยานในไทยต่อไปในอนาคต ในความเห็นของชินธิป 

“มันคงโตไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของมัน หลังโควิดนี่น่าจะโตขึ้นเยอะ เพราะคนจะยิ่งอยากออกจากบ้านมากขึ้น คนเริ่มตระหนักได้แล้วว่าสิ่งที่สำคัญคือสุขภาพ ในมุมของแบรนด์ตอนเจอโควิดเข้าไปก็มีสะดุดบ้าง แต่วงการจักรยานทุกวันนี้โตขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อนมาก” 

หากภาพใหญ่เป็นภาพที่วงการจักรยานได้เติบโตขึ้น เราก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าทุกวันนี้แบรนด์นิชก็น่าจะประสบความสำเร็จแล้ว ในการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตจักรยานที่ได้รับความไว้วางใจ เป็นแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพ 

ปรากฏว่าเราคิดผิด ชินธิปเล่าให้ฟังถึงเป้าหมายต่อไปพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ ออกมา 

“ผมคิดว่าทุกวันนี้ยังไม่เกินเป้าหมายที่วางไว้นะ ยังไม่ถึงด้วยซ้ำ เราอาจจะยังเก่งไม่พอ ไม่งั้นเราก็รุกตลาดหนักกว่านี้แล้ว แต่ว่าถ้าเราจะไปไกลกว่านี้ เราก็ต้องไปจริงจังกับเรื่องทุน ต้องวิ่งหานายทุน ต้องยกระดับแบรนด์เพื่อมีกำลังการผลิตเยอะ ๆ เข้าถึงทุกจังหวัด ส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งตอนนี้ระบบที่ทำอยู่มันยังไปไม่ถึงขั้นนั้น แบรนด์เราก็อาจจะรักสบายนิดนึงด้วย” 

ถึงตอนนี้เราเชื่อแบบสนิทใจเลยว่าเขาคงจะอยู่กับจักรยานไปอีกนาน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ใช้หรือผู้ผลิต เพื่อความชัดเจนเราย้อนกลับไปถามถึง “ความฝันวัยเด็ก” ของเขา ที่เขาเขียนไว้ในหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง ความว่า “bringing my childhood dream, which I share with cyclists around the world, into reality.” หรือ “เพื่อต้องการนำความฝันในวัยเด็กที่จะได้แชร์กับนักปั่นทั่วโลกนี้มาสู่ความเป็นจริง” 

“ความฝันวัยเด็กตอนนั้นก็คือเป็นนักแข่งจักรยานนี่แหละ ก็คือการขี่จักรยานไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ย้อนกลับไปที่เล่าตอนแรก ผมอยากปั่นจักรยานไปให้ไกลขึ้น จักรยานทำให้ผมได้เห็นโลกเยอะขึ้น มีครั้งหนึ่งเคยไปนิวซีแลนด์ ตื่นมาเจอฟ้าสวยมาก จังหวะนั้นคือต้องเลือกว่าจะหยิบจักรยานไปปั่นหรือหยิบกล้องมาถ่าย 

“สุดท้ายแล้วผมเลือกจักรยาน ผมขอไปเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นดีกว่า คิดแค่ว่า ‘ต่อให้สวยแค่ไหนก็จะไม่ถ่าย จะปั่นอย่างเดียว” 


หากใครสนใจหรืออยากได้คำแนะนำเรื่องจักรยานจากคนรักจักรยานจริง ๆ นิช ไซคลิ่ง พร้อมให้บริการเสมอ ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก “Nich Cycling https://www.facebook.com/NichCycling หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 089-488-4060 หรือจะเข้าไปชมที่หน้าร้านก็ได้ ตามที่อยู่นี้ “Nich Cycling ถนนลาดกระบัง ซอยลาดกระบัง 30/5 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520