พิเชษฐ์ เรือนอินทร์ : บนเส้นทาง 3 ทศวรรษในอาชีพ ผู้สื่อข่าวมวยไทย

พิเชษฐ์ เรือนอินทร์ : บนเส้นทาง 3 ทศวรรษในอาชีพ ผู้สื่อข่าวมวยไทย
“ยุคทองวงการมวยในความคิดของผม คือยุคของโปรโมเตอร์ทรงชัย รัตนสุบรรณ และนั่นยังเป็นยุคทองของหนังสือมวยอีกด้วย” บก.พิเชษฐ์ เรือนอินทร์ พูดถึงช่วงเวลารุ่งเรืองของวงการมวยในห้วงเวลาที่เจ้าตัวมีส่วนรวมกับเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น

หลายคนอาจจะมองว่า ยุคทองวงการมวยเมืองไทย เกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลาคือ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่เวทีราชดำเนิน (ยังไม่มีหลังคา) สร้างซูเปอร์สตาร์มวยไทยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สุข ปราสาทหินพิมาย, ชูชัย พระขรรค์ชัย, สมพงษ์ เวชสิทธิ์, ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, สุรชัย ลูกสุรินทร์, สมเดช ยนตรกิจ, ดาวทอง สิงหพัลลภ, อุสมาน ศรแดง และ ประยุทธ์ อุดมศักดิ์

หลังจากนั้น ยุคทองวงการมวยเกิดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปี 2520 เวทีราชดำเนิน หยิบชิ้นปลามัน ได้ เทียมบุญ อินทรบุตร ลาออกจากโปรโมเตอร์ลุมพินี มาเป็นโปรโมเตอร์ราชดำเนิน (ยุคมีหลังคา) สมทบกับ เส่ย ลี้ถาวรชัย กระบี่มือหนึ่งวิกแอร์ ซึ่งเวลานั้นเข้ามาเป็นผู้ช่วยโปรโมเตอร์ศึกมุมน้ำเงิน ของ พ.อ.(พิเศษ) บรรจุ อ่องแสงคุณ

สร้างยอดมวยประดับวงการมากมาย อาทิเช่น ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์, ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต, วิชาญน้อย พรทวี, ขาวผ่อง สิทธิชูชัย, เผด็จศึก พิษณุราชันย์, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา เริงศักดิ์ พรทวี, ประวิทย์ ศรีธรรม และ หนองคาย ส.ประภัสสร

ขณะที่เวทีลุมพินี มี ครูเฒ่า-ชนะ ทรัพย์แก้ว เป็นโปรโมเตอร์เบอร์ 1 ได้สองศิษย์เอกอย่าง ผุดผาดน้อย วรวุฒิ กับ พุฒ ล้อเหล็ก เป็นนักมวยแม่เหล็กเรียกแฟนมวย นอกจากนี้ยังสร้างความฮือฮา ปั้น เวนิส บ.ข.ส. เป็นแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 4 ของไทยได้อีกด้วย ถือเป็นยุคทองของกีฬามวยไทยอย่างแท้จริง

แต่ถ้าพูดถึงยุคทองของโปรโมเตอร์ทรงชัย รัตนสุบรรณ ต้องบอกว่าเป็นยุคร่วมสมัย ที่คนสมัยนี้ยังพอรับรู้เรื่องราว หรือบ้างก็เคยดูผ่านสายตา ต้องยอมรับว่าโปรโมเตอร์สร้างนักมวยเอกขึ้นมาเป็นที่นิยมตั้งแต่รุ่นเล็กพิกัด 105 ปอนด์ ยันรุ่นใหญ่พิกัด 135-140 ปอนด์

รวมทั้งยังทำให้หนังสือมวยขายดี มีวางแผงขายร่วม 10 หัว และนิตยสารมวยสยาม ก็คือหนังสือมวยที่มียอดขายสูงสุดในเวลานั้น..

“ช่วงนั้น ผมเพิ่งเรียนจบจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตบางเขน) ใหม่ๆ แล้วตั้งเป้าจะเป็นนักข่าวกีฬามวยให้ได้ เผอิญว่าเวลานั้น หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งมี คุณพิศณุ นิลกลัด เป็น บก.ข่าวกีฬา ประกาศรับสมัครผู้สื่อข่าว 1 อัตรา มีมาสมัคร 10 คน ปรากฏว่าผมได้ที่ 2 รู้สึกผิดหวังหน่อยๆ ครับ แต่ชีวิตต้องเดินต่อไป”

“หลังจากนั้นไม่นาน คุณพิศณุเขียนข้อความในคอลัมน์สังคม ขึ้นต้นประโยคแรกจนผมจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า งานรอคน คุณพิเชษฐ์ เรือนอินทร์ ไปพบ คุณวิฑูรย์ นิรันตราย ที่ชั้น 3 หนังสือพิมพ์สยามกีฬาด่วน หลังจากไปพบพี่วิฑูรย์ ผมก็ได้เข้ามาฝึกงานที่สยามกีฬา และทำงานที่สยามสปอร์ตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วครับ”

“ต่อมาสยามสปอร์ต ออกหนังสือมวยสยาม ตั้งคุณพิศณุ เป็น บก.คนแรก แล้วดึงผมมาร่วมงานด้วย จากผู้สื่อข่าวประจำกอง บก. ผมเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็น บก.มวยสยาม เวลานั้น มวยสยาม วางแผงสัปดาห์ละ 2 ฉบับ จนเกิดสโลแกนที่หลายคนพูดกันติดปากว่าอังคารอ่านปกแดง ศุกร์ไปแผงหาปกน้ำเงิน หลังจากนั้น มวยสยามออกหนังสือพิมพ์รายวัน พอสื่อออนไลน์เข้ามาได้รับความนิยม หนังสือบนแผงก็ทยอยปิดตัวลง รวมถึงมวยสยามด้วย ผมยอมรับว่าใจหายอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้”

“ผมต้องเปลี่ยนฐานะจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อออนไลน์ รวมทั้งมีโอกาสได้พากย์มวย เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับ สคม. (สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย) เป็นคณะกรรมการบริหาร สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และเป็นพิธีกรรายการมวยไทยสแตนด์ ทางช่อง ที สปอร์ตส์ 7”

“นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตผมเลยก็ว่าได้ จากคนไม่มีความรู้เรื่องไอที ผมต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเพื่อเป็นแอดมินเพจ และได้ทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ถือว่าสนุกดีครับ อย่างน้อยการได้ทำงานในสนามมวย ยังทำให้ได้เจอพรรคพวกเพื่อนฝูง น้องๆนักข่าว และน้องๆ ในสนามมวยครับ”