ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ รายการมวย 3 ยก พลิกโฉมวงการมวยไทยได้อย่างไร ? 

 

 

 “ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์” หรือ RWS  ถือป็นการแข่งขันมวยไทยรูปแบบใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งกฏ กติกา ขนาดของเวทีที่เปลี่ยนไป จึงทำให้นักมวยไทยออกอาวุธกันอย่างเต็มที่ โดยมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะ 1 ล้านบาท ในแต่ละรุ่น 

 

สำหรับรายการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย พร้อมด้วย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย 

 

แต่ละสิ่งที่เปลี่ยนแปลง จะแก้ไข Pain Point ของกีฬามวยไทยอาชีพในบ้านเราได้หรือไม่ ? และศึกราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ จะช่วยพลิกโฉมวงการมวยไทยได้อย่างไร ? เรามีคำตอบ 

 

[ – ปรับรูปแบบเหลือ 3 ยก ]

 

เริ่มกันที่จำนวนยก ปกติแล้ว มวยไทยที่ทำการแข่งขันบนเวทีมาตรฐาน หรือการจัดมวยรอบในบ้านเรา ส่วนมากจะชกกันจำนวน 5 ยก 

 

ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคลาสสิคของมวยไทย 5 ยก ก็คือยก 1-2 นักชกต่างไม่ค่อยออกอาวุธใส่กันมากเท่าไหร่

 

เพราะมวยไทยเป็นกีฬาที่ให้คะแนน โดยดูจากการยืนระยะ ความแข็งแรง และอาการมวยว่า ออกอาวุธไปแล้วทำ Damage ใส่คู่ชกได้แค่ไหน ? ถ้าโดนอาวุธทนหรือป้องกันได้หรือเปล่า ? นักมวยไทยจึงมักเน้นเอาจริงเอาจังกันในยกที่ 3-4 เพื่อชิงความได้เปรียบก่อนยกสุดท้าย

 

ผลที่ตามมาก็คือ ยกสุดท้าย นักมวยไทยมักไม่ค่อยกล้าออกอาวุธหรือเป็นฝ่ายเดินเข้าทำก่อน เนื่องจากกลัวว่าถูกมองว่าเป็น “ตัวแพ้” จึงต้องเดินเข้าไปทำคู่ต่อสู้เพิ่ม 

 

หลายครั้งที่เราเห็น มวยไทยยก 5 นักสู้จึงยืนกันคนละมุม และเต้นรอเสียงระฆังหมดเวลา เล่นเกมจิตวิทยากับกรรมการ เพื่อแสดงถึงความมั่นใจในผลงานของตัวเอง 

 

แต่ในมวยรอบราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ได้มีการตัดลดจำนวนเหลือเพียงแค่ 3 ยก เท่านั้น เพื่อให้เกมสนุกทุกยก ซึ่งก็เป็นรูปแบบการแข่งขันมวยไทยที่ระยะหลังได้รับความนิยมจากผู้ชมมากขึ้น 

 

เพราะมวยไทย 3 ยก ดูง่าย เข้าใจง่ายกว่า มวยไทย 5 ยก แถมไม่ต้องอารมณ์เสียกับมวยที่ไม่ยอมออกอาวุธกัน เพราะดูเชิงหรือเต้นยก 5 อีกด้วย 

 

[ โชว์คะแนนทุกยก ]

 

ไม่เพียงเท่านั้น ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ยังกล้าที่เปิดโชว์คะแนนทุกยก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมวยไทยอาชีพ โดยคะแนนจะปรากฏทันทีหลังหมดยกแรก คล้ายกับมวยสากลสมัครเล่น

ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงยังเป็นการกระตุ้น ทำให้เกมทุกยกบนเวทีมีความหมาย เพราะนักสู้จะต้องแลกกัน ตั้งแต่ยกแรก เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ หากใครพลาดแพ้ 2 ยกแรก นั่นหมายความว่านักชกคนนั้นมีโอกาสสูงจะแพ้ในเกม 

 

ที่สำคัญผู้จัดยืนยันว่าจะไม่มีการให้คะแนน 10-10 แต้มเท่ากัน ในยก 1 เหมือนกับมวยไทย 5 ยกหลายคู่ ทุกยกต้องมีผู้ชนะ 

 

[ ปรับกติกาให้นักชกออกอาวุธเยอะขึ้น ]

 

ขณะเดียวกันในรอบแบ่งกลุ่ม ยังได้เพิ่มกติกาพิเศษ เพื่อให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น นอกเหนือจากผู้ชนะจะได้รับ 3 แต้มตุนในกระเป๋าแล้ว หากสามารถชนะด้วยการน็อกเอาท์คู่ชก ก็จะได้คะแนนพิเศษบวกเพิ่มไปด้วย 

 

นอกจากนี้ RWS ยังตัดปัญหาดราม่าเรื่องการนับไม่นับ ด้วยการชี้ขาดเลยว่า หากนักมวยถูกอาวุธคู่ต่อสู้หล่น นวมแตะพื้น กรรมการนับทุกกรณี ไม่ว่าจะลุกเร็วหรือช้า และในยกดังกล่าว นักมวยคนนั้นก็ต้องถูก -2 คะแนน 

 

อีกหนึ่งสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ คือการลดขนาดเวทีให้สั้นลงเหลือเพียง 6×6 เมตร เพื่อไม่ให้นักชกวิ่งหนีวนรอบเวที 

 

[ เน้นความเป็น Sport Entertainment ]

 

ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ มีจุดยืนชัดเจนคือการจัดมวยเพื่อความเป็น Sport Entertainment ดังนั้นทั้งแสง สี เสียง ทุกอย่างจึงถูกออกแบบมาให้มีความอลังการ และทันสมัย 

 

เพื่อที่จะสามารถดูดดึงผู้ชมได้ทั้งชาวไทยทั่วไปที่ไม่ใช่เซียนมวย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่อยากดูมวยไทยที่ได้มาตรฐานและตื่นตาตื่นตาใจ ไม่ต่างอะไรกับเวทีมวยระดับโลกในต่างแดน ก็สามารถแวะเวียนกันเข้ามาดูที่รายการ ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ได้อีกด้วย 

 

ต้องการเปิดเวทีให้นักมวยไทยจากทั่วโลกได้มายืนแลกอาวุธกัน เพื่อหาคนที่ดีสุดในแต่ละลุ้น รับเข็มขัดที่ออกแบบมาพิเศษ และคว้าเงินรางวัล 1 ล้านบาทกลับบ้านไป โดยทางผู้จัดมีแผนที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันออกไปยังต่างประเทศด้วย 

 

[ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจมวยไทยง่ายขึ้น ]

 

สุดท้ายท้ายสุดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ รายการราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ มีจุดประสงค์ เพื่อให้มวยไทยสามารถเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น ดูแล้วเข้าใจไม่ง่าย เพราะกติกามีความชัดเจน

 

ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออก Soft Power มวยไทย ไปสู่สายผู้ชมทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่ารายการดี ๆ เช่นกัน สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย พร้อมด้วย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ไม่พลาดที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดสืบต่อไป